จริงอยู่ที่ครอบครัวทุกครอบครัว สร้างขึ้นบนพื้นฐานของความรัก แต่ก็จริงอีกนั่นแหละที่ว่าความรักเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เราสัมผัสมันได้ด้วยความรู้สึก ซึ่งบางครั้ง เราก็รู้สึกว่ามันน้อยลงทุกทีๆ
หลายคนอาจจะสังเกตุว่าคนสมัยนี้มีสถิติการหย่าร้างมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าการเลิกรากันในสังคมสมัยนี้เป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน ทั้งข่าวคราวที่เราได้ยินมาจากดาราเตียงหัก หรือแม้แต่เรื่องราวของคนใกล้ตัว ทำพาลทำให้เรารู้สึกแบบนั้น หรือว่าสภาพสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบและชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น จะทำให้ความอดทนของคนเราน้อยลง
แต่จะโทษสภาพสังคมอย่างเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะจิตใจคนเรานั้นก็ยากแท้หยั่งถึง บางครั้งก็ยากเกินคาดเดา ถึงแม้จะเป็นคนที่เรียกได้ว่าเป็น “คนๆ เดียวกัน” กันแล้วก็ตาม หลายครั้งที่ “คนรัก” ก็กลายเป็น “คนเคยรัก” ได้ง่ายๆ
108 ปัจจัย ทำไม “รักเรา” ถึงน้อยลง
• งาน + เงิน = หมางเมินกันไป
บางครั้งเงิน + งานก็ทำให้เรารักกันน้อยลงได้ ลองเปรียบเทียบดูว่าตอนนี้เราใช้เวลาหมดไปกับครอบครัวหรืองานมากกว่า คุณใช้เวลาที่ทำงานหรือที่บ้านมากกว่ากัน (ไม่นับเวลานอน) หรือคุณคุยกับคนในครอบครัวหรือคนในที่ทำงานมากกว่ากัน จริงอยู่ที่ทั้งเงินและงาน ทั้งขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ต่อไปได้ แต่บางครั้งมันก็กัดกินตัวตนของคนๆ หนึ่งไปได้มากมายเหมือนกัน
คนที่รวยเป็นร้อยล้านแต่ไม่มีใครบนโลกที่รักจริงแม้แต่คนเดียว กับคนที่ตกงานและไม่มีเงิน ถึงจะลำบากยากเย็น แต่ก็ยังเห็นความรักของครอบครัวอยู่ตรงหน้าเสมอ คิดว่าทั้ง 2 คนนี้ ใครจะมีความสุขมากกว่ากันคะ?
• ความ “เปลี่ยนไป” ของอะไรหลายๆ อย่าง
ทุกอย่างบนโลกนี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทั้งคุณและคนในครอบครัวก็เช่นกัน บางครั้งความ “น่ารัก” ที่หายไป ทำให้ “ความรัก” หายตาม ทำให้คนที่รัก กลายเป็นเพียงคนที่เคยรักที่ต้องทนอยู่ด้วยไปวันๆ ก่อนที่คุณจะรู้สึกอย่างนั้น หรือรู้สึกแบบนั้นไปแล้วก็ตาม อยากให้คุณได้ย้อนกลับมามองตัวเองสักนิด แล้วคุณเองล่ะ มีอะไรเปลี่ยนไปหรือเปล่า “ความน่ารัก” ของคุณมันหล่นหายไปตรงไหน มันละลายไปตามกาลเวลาและอายุที่เพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือมันหายไปเพราะความผูกพันที่น้อยลงไปทุกๆที
ถ้าย้อนมองเองแล้วไม่เห็น ลองเปิดใจกันดูสิคะ มองคู่ชีวิตให้เหมือนกระจก เราจะพบว่าเราก็มีหลายๆอย่างที่ “ไม่ใช่” แฝงอยู่เหมือนกัน แล้วคุณจะรู้ว่าไม่มีใครที่ไม่ “เปลี่ยนไป” หรอกค่ะ
• สั่งสมจนขีดสุด
ข้อเสียของคนเก็บความรู้สึก (จนเกินพอดี) ก็คือการไม่รู้จักพูด ไม่รู้จักระบาย เก็บสะสมความไม่พอใจไว้จนมากมาย แล้วเวลาระเบิดออกมามันก็เหมือนคลื่นระลอกใหญ่ ที่แรงเกินกว่าอีกฝ่ายจะรับไหว สร้างความเสียหายที่ยากจะเยียวยา
ต่างจากคนที่ปรับความเข้าใจกันบ่อยๆ บางครั้งอาจจะดูเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่มีแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา แต่แผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง มันก็ไม่ได้สร้างความเสียหายไปมากกว่าโครงสร้างภายนอก ตึกอาจจะร้าวบ้าง บางครั้งอาจมีโอนเอน แต่ก็ซ่อมแซมได้ไม่ยาก ถ้าเทียบกับการเสี่ยงต่อการโดนสึนามิถล่มครั้งเดียวล่ะก็ เสียหายน้อยกว่ากันเห็นๆ
• ปัจจัยที่ 3
โครงสร้างสังคมไทยเริ่มจะเปลี่ยนไปมากเรื่องมือที่ 3 ทั้งในทางที่ดี และไม่ดี ส่วนหนึ่งมองเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถมีได้ แถมเดี๋ยวนี้หญิงและชายกลับเท่าเทียมกันแล้วซะอีก แต่ในอีกแง่สังคมก็ประณามหยามเหยีดคนที่เป็นมือที่ 3 ให้ไม่มีพื้นที่ในสังคม
ถึงแม้ว่าความรักจะไม่ได้มีได้ครั้งเดียว แต่สิ่งที่ควรจะมีต่อกันในการใช้ชีวิตคู่คือ “ความซื่อสัตย์” ค่ะ และการไม่นอกใจก็เป็นหนึ่งในความซื่อสัตย์ที่ทุกคนควรจะมีให้กัน เพราะถ้าคุณหาคนที่ใช่ไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดที่จะหยุด มันก็ไม่จบหรอกค่ะ คนนี้ก็จะเป็นคนที่ใช่ อีกไม่นานก็จะมีคนที่ใช่กว่าไปเรื่อยๆ เพราะคนที่ใช่ที่สุดนั้นไม่มีจริงค่ะ ตามหลักสัจธรรมสากลโลกที่ว่า Nobody‘s Perfect นั่นแหละค่ะ
ความรักของคนเรา มันอาจมีวันที่จะน้อยลง หรือแม้แต่หมดลง แต่ความผูกพันนั้นไม่เคยหมดหรอกค่ะ ความรู้สึกดีๆ ที่มีให้แก่กันก็เหมือนกัน ยิ่งคนที่เป็นครอบครัวเดียวกันด้วยแล้ว การที่จะทำให้ความรักเพิ่มพูนจนกลับมาสู่จุดเดิมได้นั้น คุณต่างก็รู้วิธีดีค่ะ จริงไหมคะ?