โหดตัดโหด หนังศาสนาของ จอห์น วู

เอเชียรามา: "โหดตัดโหด" หนังศาสนาของ "จอห์น วู"

โดย ฟ้าธานี 2 กรกฎาคม 2554 18:15 น.  
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น




ฉากคลาสสิคที่ทุกคนจำได้
La Samurai และ Mean Streets คือแรงบันดาลใจสำคัญของงานชิ้นนี้
“ยิงปืนสองมือ”, “นกพิราบ”, “โจวเหวินฟะ”, “น้ำมิตรลูกผู้ชาย” ฯลฯ คือองค์ประกอบต่าง ๆ ในความเป็น “หนังของ จอห์น วู” ที่ปรากฏอย่างครบครันในผลงานเรื่อง “โหดตัดโหด” หรือ The Killer จนเรียกว่ากลายเป็นงานที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของเขาไปโดยปริยาย … ในอีกด้านผลงานชิ้นนี้ยังได้ชื่อว่า เปี่ยมไปด้วยแง่มุมทางศาสนามากที่สุดในหนังทุกเรื่องของเขาอีกด้วย
       
       ในปี 1986 หลังจากความสำเร็จของ “โหดเลวดี” สถานะในวงการของ “จอห์น วู” ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นผู้กำกับใหญ่ที่สามารถเลือกงานได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังช่วยทำ “โหดเลวดี 2” ตามความต้องการของนายทุนแล้ว ผู้กำกับคนดังจึงตัดสินใจเลือกที่จะหยิบเอา La Samurai ผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฌอง ปิแอร์ เมลวิลล์ มาสร้างใหม่ภายใต้ชื่อ The Killer (และถูกตั้งชื่อว่า “โหดตัดโหด” ในการเข้ามาฉายในเมืองไทย) จนกลายเป็นหนังที่ดังที่สุดเรื่องหนึ่งของเขามาจนถึงปัจจุบัน
       
       หนังเล่าเรื่องของ มือปืนหนุ่ม (โจวเหวินฟะ) ที่ต้องการถอนตัวจากวงการ กับภารกิจครั้งสุดท้าย ที่ต้องการเงินก้อนโต เพื่อการรักษาดวงตาของหญิงสาว (เยี่ยเชี่ยนเหวิน) ที่ต้องเคราะห์ร้ายสูญเสียการมองเห็นโดยมีสาเหตุจากเขา ในเวลาเดียวกันก็ต้องหลบหนีการตามล่าจากนายตำรวจเลือดเดือด (หลี่ซิ่วเสียน) และพวกแก็งมาเฟียที่ต้องการฆ่าปิดปากเขาด้วย
       
       แม้จะโด่งด้วยเนื้อหาแนวมิตรภาพลูกผู้ชาย และคิวบู๊ฉากการยิงปืนที่ต้องเรียกว่า ทำออกมาได้ตื่นตาตื่นใจ กับการหยิบฉวยลีลาพะบู๊ในแบบหนังกำลังภายในมาปรับใช้ได้อย่างลงตัว แต่เนื้อหาที่เจือเรื่องราวความเชื่อาทงศาสนาเอาไว้ ก็เป็นอีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามในหนังเรื่องนี้
       
       “โหดตัดโหด” หนังศาสนาของ “จอห์น วู”
       
       มิตรภาพของลูกผู้ชาย เป็นความเชื่อเรื่อง “พี่น้องต่างสายเลือด” ของวัฒนธรรมจีน เป็นสิ่งที่ จอห์น วู รับมาจาก “จางเชอะ” ผู้กำกับครูโดยตรงของเขา ส่วนเรื่องความเชื่อทางศาสนาคริสต์ก็เป็นสิ่งที่อยู่กับ จอห์น วู เองมาตั้งแต่เด็ก
       
       จอห์น วู หรือ อู๋อี่ว์เซิน เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ปี 1946 ในกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ช่วงที่เขาลืมตาดูโลก เป็นเวลาที่ประเทศจีนวุ่นวายอย่างหนักจากภัยของสงครามกลางเมือง และความขัดแย้งภายใน จนครอบครัวของเขาได้ตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ฮ่องกง ในขณะที่ วู มีอายุแค่ 5 ขวบเท่านั้น และเริ่มปักหลักสร้างครอบครัวกันที่สลัมในย่าน Shek Kip Mei
       
       แม้จะมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ฮ่องกง แต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้กำกับชื่อดัง และครอบครัวในเวลานั้น ก็ไม่ได้ดีขึ้นมาซักเท่าไหร่นัก เนื่องจากบิดาผู้มีอาชีพเป็นครูของเขามีอาการป่วยเป็นวัณโรค จนมารดาต้องออกไปทำงานประเภทใช้แรงงานตามไซต์งานก่อสร้าง เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
       
       สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ในช่วงหนึ่งเมื่อครอบครัวของเขา ถึงขั้นกลายเป็นคนไร้บ้าน หลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเขตสลัมที่พักอาศัยอยู่ จนกระทั่งครอบครัวของเขาได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศล ของชาวคริสต์ นอกจากช่วยหาบ้านแหล่งที่อยู่อาศัยให้ใหม่แล้ว ยังช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับ จอห์น วู ด้วย
       
       ในการให้สัมภาษณ์หลาย ๆ ครั้ง เขาจึงไม่ลังเลเลยที่จะยกเครดิตส่วนหนึ่งของความสำเร็จในวันนี้ให้กับชีวิต ด้านศาสนาของตัวเอง ... ซึ่งตัวของเขาเองก็ยอมรับว่า แม้จะเติบโตมาในแหล่งเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยเรื่องราวผิดกฎหมาย และอาชญากรรมอยู่รอบตัว แต่เขาก็เอาตัวรอด และมีชีวิตที่ดีได้ก็เพราะเรื่องศาสนานั่นเอง
       
       ตลอด 40 ปีของการเป็นคนทำหนัง จอห์น วู มีเครื่องหมายการค้าเป็น “ผู้กำกับหนังแอ็กชั่น” ผู้โด่งดังด้วย “คิวบู๊สุดหวือหวา” แต่เนื้อหาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยละเลยมาตลอด โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนา และในกรณีของ The Killer หรือ โหดตัดโหด ก็คือหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของการ “ไถ่บาป” นั่นเอง
       
       ผู้กำกับชาวต่างชาติที่ จอห์น วู ชื่นชอบนั้น นอกจากรุ่นลายครามอย่าง “แซม พากินพาร์” หรือ “แซมมวล ฟุลเลอร์” แล้วก็มีคนทำหนังที่ถือว่าอยู่ในรุ่นเดียวกับเขาอย่าง “มาร์ติน สกอร์เซซี” อยู่ด้วย ใน The Killer วู ได้อ้างอิงเรื่องการไถ่บาป มาจากประโยคคลาสสิคหนึ่งของตัวละครเอกใน“Means Streets” ของ สกอร์เซซี ที่ว่า “คุณล้างบาปที่โบสถ์ไม่ได้หรอก มันต้องทำที่ท้องถนน หรือไม่ก็ทำที่บ้าน ที่เหลือมันไม่ใช่ คุณเองก็รู้”
       
       และวิบากกรรมการต่อสู้ฆ่าแกงละเลงเลือด ที่มีคนตายนับสิบนับร้อย จากตัวละครของ โจวเหวินฟะ ใน The Killer ก็คือส่วนหนึ่งของการล้างบาปนั่นเอง ซึ่งเรื่องราวของตัวละครมือปืนมือเปื้อนเลือดในหนังเรื่องนี้ก็ยัง อ้างอิงไปถึงความเชื่อที่ว่า “พระเจ้าทรงรักทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำดีหรือคนที่ไม่ดี” ของชาวคริสต์ด้วย
       
       เรื่องราวของ The Killer ถูกเริ่มต้นด้วยฉากในโบสถ์ และจบลงในโบสถ์ จอห์น วู เลือกใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นฉากสำคัญ เพื่อสื่อไปถึงความศรัทธาของเขา กับโลกแห่งความวุ่นวาย อันเต็มไปด้วยการฆ่าแกง จนกฎหมายกลายเป็นสิ่งไร้ค่า ศาสนาของจอห์น วู ก็คือการใช้ชีวิตด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้า สัญลักษณ์อย่าง “นกพิราบ” ก็ถูกใช้เป็นครั้งแรกในหนังเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะกับการสื่อไปถึงจิตวิญญาณอันแรงกล้าของคนเรา ซึ่งเขาเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
       
       “ผมเริ่มใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ใน The Killer เพื่อพยายามพูดถึงประเด็นที่ว่า การต่อสู้ และฆ่าฟันกัน สามารถเปลี่ยนแปลงสวรรค์ให้กลายเป็นนรกได้ ความสงบของโบสถ์ คือตัวแทนของความเข้าใจในโชคชะตาและการไถ่บาป โบสถ์เป็นที่สำหรับทุกคนไม่ว่าคุณจะเลวหรือดี คุณก็สามารถแสวงหาสิ่งเหล่านั้นได้ที่นั่น และพิราบสำหรับผมก็คือตัวแทนของจิตวิญญาณ ที่บริสุทธิ์และแรงกล้า ซึ่งไม่ว่าตัวเอกของผมจะถูกยิง จนสาหัสแค่ไหน เขาก็ยังจะเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ” วู กล่าว
       
       จุดเริ่มต้นของความโด่งดังในต่างแดน, จุดจบมิตรภาพกับ “ฉีเคอะ”
       
       ถ้า A Better Tomorrow นำชื่อเสียงในฮ่องกง และเอเชียมาให้กับ จอห์น วู The Killer ก็เป็นงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในฝั่งตะวันตก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในฮ่องกงเองหนังกลับไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จนัก ทำรายได้ไปเพียง 18 ล้านเหรียญฮ่องกงเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับรายได้ 34 ล้านเหรียญฯ ของโหดเลวดี
       
       และที่ร้ายแรงกว่านั้น การทำงานภายใต้ความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างการถ่ายทำ โหดตัดโหด ได้ทำลายมิตรภาพในฐานะเพื่อนร่วมงานระหว่าง จอห์น วู และ ฉีเคอะ ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างให้ย่อยยับลงไปด้วย
       
       สองคนทำหนังระดับตำนานสร้างชื่อขึ้นมาด้วยกันในงานอย่าง “โหดเลวดี” แต่แล้วกลับเริ่มมีความร้าวฉาน หลังมีความเห็นไม่ลงรอยหลายเรื่องระหว่างการสร้าง โหดเลวดี 2 และยิ่งแย่ถึงขีดสุด เมื่อ จอห์น วู ผลาญเงินไปร่วม 2 ล้านเหรียญสหรัฐกับการถ่ายทำ 92 วัน ในโหดตัดโหด ซึ่งถือว่าสิ้นเปลืองมาก ๆ สำหรับวงการหนังฮ่องกงในยุคนั้น
       
       ในเวลาเดียวกันคนที่พิสูจน์ความเป็นเพื่อนแท้ตัวจริงของ จอห์น วู กลับกลายเป็น พระเอกคู่บุญอย่าง โจวเหวินฟะ ที่ยินยอมมารับงานนี้แม้บริษัทต้นสังกัดจะไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าหนังไม่มีอะไรแตกต่างจากงานแนวเดียวกันมากมายที่ถูกสร้างออกมาใน ช่วงนั้น นอกจากนั้น โจวเหวินฟะ ช่วยสนับสนุนด้านการเงิน ให้กับส่วนที่งบประมาณไม่เพียงพอด้วย
       
       ซึ่งเมื่อตัวหนังเสร็จสิ้นออกมาผ่านกระบวนการตัดต่อจนพร้อมฉาย ปัญหาก็ยังมีอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน ฉีเคอะ ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างกลับไม่พอใจในตัวหนังอย่างแรง เขาต้องการให้หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครตำรวจ (สวมบทบาทโดย หลี่ซิ่วเสียน) มากกว่าจะเป็นตัวละครมือปืนของโจวเหวินฟะ และยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันหลาย ๆ เรื่องรวมถึงประเด็นยิบย่อยอย่างเรื่องดนตรีประกอบ ถึงขั้นพยายามดิ้นรนให้มีการเอาหนังมาตัดต่อใหม่กันเลยทีเดียว
       
       แต่สุดท้ายเป็นโชคดีที่กำหนดเส้นตายที่หนังจะต้องเข้าโรงนั้นกระชั้น ชิดเกินไป ฉีเคอะ จึงต้องปล่อยให้ “โหดตัดโหด” ออกฉายโดยแก้ไขอะไรไม่ได้ และตำนานของจอห์น วู กับวงการหนังระดับโลกก็เริ่มต้นขึ้น ณ วันนั้นนั่นเอง
       
       
Credit: ผุ้จัดการออนไลน์
#ภาพยนต์เก่า
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
3 ก.ค. 54 เวลา 06:20 3,024 2 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...