สโลทเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์โบราณ ความเชื่องช้าในการเคลื่อนไหวทำให้ขน
หยาบรุงรังของสโลทเป็นที่อาศัยของผีเสื้อกลางคืน ด้วง ไร ไลเคน และราหลายชนิด
สโลท แชมป์จอมขี้เกียจ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ผมเห็นเป็นตัวแรกบนเส้นทางนี้คือ เจ้าตัวสโลทจอมอืด เราโชคดี
ได้เห็นทั้ง ๒ ชนิด คือ สโลทสามนิ้ว (Three-toed Sloth) และสโลทสองนิ้ว (Two-toed Sloth) ที่
หายากกว่า
สโลทได้ชื่อมาจากความอืดอาดเชื่องช้าในการเคลื่อนไหวของมัน มันอาศัยอยู่บนต้นไม้ กินใบไม้
เป็นอาหารหลัก เนื่องจากใบไม้เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำและย่อยช้ามาก มันจึงต้องอนุรักษ์
พลังงาน จะใช้เผาผลาญเล่นไม่ได้ ดังนั้นเรามักจะเห็นมันในท่าเกาะกิ่งนิ่งหลับเป็นเวลานาน ๆ
สโลทสามารถนอนอืดได้ถึง ๒๐ ชม. ต่อวัน เวลาตื่นมันก็เคลื่อนไหวแบบเสียไม่ได้ ใช้เล็บยาว
แข็งแรงของมันเกี่ยวกิ่งสาวมือโหนไปตามกิ่งไม้อย่างสโลโมชัน ชีวิตมันดูไม่เร่งรีบ มันช้าขนาด
ไหน นาทีหนึ่งมันเคลื่อนไปได้ไม่เกินคืบ ช้าขนาดที่ขนหยาบรกรุงรังเหมือนใยมะพร้าวของมันมี
เชื้อราและไลเคนอาศัยงอกงาม ขนสีเทาของมันกลายเป็นน้ำตาลอมเขียวขี้ม้าของคลอโรฟิลล์
มันจึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวในโลกที่มีขนปกคลุมตัวสีเขียว กลมกลืนไปกับพุ่มไม้
ใบหญ้า นับเป็นการพรางตัวจากสัตว์ผู้ล่าได้เป็นอย่างดี น่าแปลกใจที่วิวัฒนาการไม่ทำให้
กวาง เก้ง สีเขียวเหมือน ชุดลายพรางทหารกับเขาบ้าง
นอกจากราแล้ว ในชั้นขนหนาของมันยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของผีเสื้อกลางคืน ด้วง และไร อีก
มากมาย แมลงตัวเล็ก ๆ เหล่านี้กินราที่ขึ้นบนขน สโลทเป็นอาหาร ครั้งหนึ่งเคยมีนักชีววิทยา
ไม่มีอะไรทำคนหนึ่ง พบว่าในขนสโลทตัวหนึ่งมีแมลงปีกแข็งอาศัยอยู่ถึง ๙๗๘ ตัว...เรียกได้ว่า
เป็นสวนสัตว์เคลื่อนที่ดี ๆ นี่เอง
สโลทมีหุ่น และหน้าตาครึ่งหมีครึ่งชะนี แต่มันไม่ได้เป็นญาติ กับหมีหรือชะนีแต่อย่างใด มันเป็น
สัตว์สายพันธุ์โบราณ บรรพบุรุษของมันกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อราว ๖๐ ล้านปีก่อน หลังไดโนเสาร์
สูญพันธุ์ไม่นาน
สโลทดูเก้งก้างเพราะแขนของมันยาวกว่าขาถึง ๒ เท่า ตัวมันใหญ่กว่าชะนีเล็กน้อย หัวเล็กกลม
ไม่มีใบหู สมองน้อย สายตาและประสาทการได้ยินไม่ดี แววตาดูเศร้าและเซื่องซึม แถบดำเล็ก ๆ
ข้างตายิ่งทำให้เหมือนมีรอยเปื้อนของน้ำตา
ที่บริเวณหน้าอกของสโลทสามนิ้ว ผมเห็นลูกของมันเกาะหลับสนิทอยู่ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของ
แม่ เหมือนเป็นตุ๊กตาหมี ลูกสโลท จะเกาะอกแม่มันอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๖ เดือน
ระหว่างนี้ แม่สโลทจะสอนให้ลูกหัด กินใบไม้ โดยตัวแม่จะเคี้ยวใบให้ละเอียด แล้วป้อนให้ลูก
เหมือนการป้อนข้าว ตามวิถีเลี้ยงลูกไทยโบราณ โดยวิธีนี้ แบคทีเรียที่จำเป็นในการช่วยย่อย
เซลลูโลส จะถูกถ่ายเทจากทางเดินอาหารของแม่ไปสู่ลูก จนในที่สุด ลูกสโลทก็สามารถกิน
ใบไม้ได้เอง
นอกจากการเคลื่อนตัวอย่างเชื่องช้าแล้ว สโลท ยังมีแนวทางอนุรักษ์พลังงานอีกวิธี โดยช่วง
กลางคืนมันจะลดอุณหภูมิในร่างกายลงถึง ๑๒ องศาเซลเซียส เหลือเพียง ๒๔ องศาเซลเซียส
และช่วงเช้าหลังตื่นนอน มันต้องปีนขึ้นไปยอดไม้ เพื่ออาบแดดเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย ไม่ต่า
งอะไรกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ต้องเผาหัวเทียนก่อนสตาร์ต เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแท้ ๆ แต่
ทำตัวเยี่ยงสัตว์เลื้อยคลาน ช่วงนอนอาบแดดบนยอดไม้นี้ถือเป็นช่วงอันตราย เพราะนกอินทรี
ขนาดใหญ่ เช่นอินทรีฮาร์ปี (Harpy Eagle) จะฉวยโอกาสนี้โฉบจับมันไปกินได้
พฤติกรรมน่าประหลาดอีกอย่างของสโลทคือ มันจะอุตสาหะป่ายปีนลงจากยอดไม้มาอึและฉี่ที่
โคนต้นไม้สัปดาห์ละครั้ง นั่นหมายความว่า มันจะต้องกลั้นอึกลั้นฉี่ไว้นานถึง ๑ สัปดาห์เต็ม ...
แม้ไม่ได้ค้นคว้าให้แน่ชัด แต่ผมว่ามันน่าจะเป็นแชมเปี้ยนสัตว์ท้องผูก
เก็บของเสียสะสมไว้นานขนาดนี้ อึ-ฉี่แต่ละครั้ง น้ำหนักตัวมันหายไป ๑ ใน ๓ เลยทีเดียว
ข้อน่าสงสัยคือ ทำไมมันจึงไม่อึ-ฉี่จากยอดไม้ จะมาทำมารยาทดี ลงมาขุดหลุมอึที่พื้นให้เสี่ยงต่อ
การเป็นเหยื่อของเสือจากัวร์ไปทำไม
เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามหาคำตอบ บ้างก็ว่ามันทำเช่นนั้นเพราะ ต้องการให้ปุ๋ยบำรุง
ต้นไม้ที่มันอาศัย เพราะโดยปรกติ สโลทใช้เวลาส่วนใหญ่ชั่วชีวิตอยู่บน ต้นไม้โปรดต้นเดียว
ของมัน ต้นไม้นี้เป็นมรดกตกทอดของตระกูล การใส่ปุ๋ยรีไซเคิลสารอาหารกลับคืนสู่ต้นไม้
โปรดประจำตระกูลจึงเป็นสิ่งตอบแทนอันน้อยนิดที่ สโลทผู้กตัญญูยินดีจะทำให้ได้
...ทฤษฎีเขาว่าอย่างนั้น จะเชื่อเขาดีไหมเนี่ย...
ขอขอบคุณข้อมูลดีดี จากhttp://www2.sarakadee.com