ความเชื่อผิด ๆ และความจริงของ "การละเมิดทางเพศ" (มูลนิธิเพื่อนหญิง)
มีความเชื่อผิด ๆ มากมายเกี่ยวกับการทำร้ายทางเพศ ความเชื่อเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรม ศาสนา หรือการยึดถือคุณค่าทางสังคม เราจงมาช่วยกันลบล้างความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ เพื่อขจัดการทำร้ายทางเพศให้หมดไป
ความเชื่อผิด ๆ
- การทำร้ายทางเพศเป็นความผิดทางกฎหมายที่เกิดจากความรู้สึกทางเพศ
- การทำร้ายทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ไม่ใช่ฉัน!
- มีแต่เด็กสาวที่หน้าตาสวยเท่านั้น ที่จะถูกทำร้ายทางเพศ
- ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทางเพศคงจะ “แส่หาเรื่องเอง”
- ผู้ชายที่ลงมือทำร้ายทางเพศเพราะไม่สามารถควบคุมตนเองได้
- ผู้ชายที่ลงมือทำร้ายทางเพศเพราะมีปัญหาทางอารมณ์หรือจิตใจ
- การทำร้ายทางเพศมักเกิดจากคนแปลกหน้า
- ผู้หญิงมักถูกทำร้ายทางเพศตอนกลางคืนในซอยเปลี่ยวๆ ในสวนสาธารณะ
- ผู้หญิงที่ไม่มีร่องรอยของการถูกทุบตีหรือฟกช้ำไม่ได้ถูกข่มขืนจริง
- ผู้หญิงที่ไม่ได้แจ้งความทันทีเพราะไม่ได้ถูกข่มขืนจริง
- ผู้หญิงมักอ้างว่าถูกข่มขืนเพื่อเป็นการแก้แค้น หรือต้องการแบล็กเมล์เงินจากผู้ชาย
ความจริง
- การทำร้ายทางเพศ เป็นความผิดทางกฎหมายในการกระทำรุนแรง โดยใช้การร่วมเพศเป็นอาวุธ
- ถ้าเราไม่สามารถขจัดการทำร้ายทางเพศให้หมดไปจากสังคมเราได้ ก็ไม่มีผู้หญิงคนไหนมั่นใจในความปลอดภัยจากการถูกทำร้ายทางเพศได้
- ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทางเพศมีทุกวัย
- ไม่มีผู้หญิงคนไหนชอบถูกทำร้ายทางเพศ
- ผลการศึกษาผู้ชายที่ข่มขืน ผู้หญิงพบว่า การลงมือทำร้ายทางเพศส่วนใหญ่มีการวางแผนล่วงหน้า ผู้ชายสามารถควบคุมความต้องการทางเพศของตนเองได้ และเป็นหน้าที่ของผู้ชาย
- มีงานวิจัยยืนยันว่า ผู้ชายที่ลงมือทำร้ายทางเพศ คือคนปกติในสายตาของเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน
- ผู้ที่ลงมือทำร้ายทางเพศส่วนใหญ่เป็นคนที่ผู้หญิงรู้จัก เช่น เพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้อง
- การถูกข่มขืนหรือทำร้ายทางเพศเกิดได้ทั้งที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน ฯลฯ
- การไม่มีร่องรอยของการฟกช้ำหรือ บาดเจ็บไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่ได้ถูกข่มขืนจริง บ่อยครั้งที่การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงทั้งกับตัวผู้หญิงเองหรือกับญาติ พี่น้อง ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำไม่กล้าต่อสู้
- ความอับอาย ความกลัวที่จะถูกแก้แค้น ทำให้ผู้หญิงมักไม่กล้าไปแจ้งความทันทีเมื่อเกิดเหตุ
- การกล่าวอ้างว่าถูกข่มขืนเป็นกรณีที่พบการกล่าวเท็จได้เหมือนกับความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิเพื่อนหญิง