'คณิต' เผยกลัวคุกล้น ผุ้ต้องขังมากติดอันดับ 8 ของโลก 2 แสนกว่าคนใน 137 แห่งทั้งที่รับได้แค่ 1 แสนเศษ สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา ด้าน“จรัญ”เตือนกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา ต้องแก้ปัญหาแพะรับบาปที่ถือเป็นความชั่วร้ายของระบบงานยุติธรรม
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย จัดให้มีการสัมมนาหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม กระบวนการที่ต้องปฏิรูปด่วน!!!” โดยมีนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมารยาท สภาทนายความ เข้าร่วมสัมมนา โดยนายคณิต กล่าวว่าสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติ ธรรมของประเทศถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปชัดเจนที่สุดคือ ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ที่มีสถิติว่าในเรือนจำประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากกว่า 2.24 แสนคน ในเรือนจำ 137 แห่ง ทั้งที่จริงเรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 1แสน 5พันคน เนื่องจากตามหลักสากลสัดส่วนพื้นที่ผู้ต้องขัง 1 คนคือ 2.25 ตร.ม. แต่เรือนจำประเทศไทยเหลือพื้นที่ให้ผู้ต้องขังเพียง 1.1 ตร.ม.ต่อคน จึงถือว่าเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 8 ของโลก
โดยในจำนวนผู้ต้องขัง 2.24 แสนคน มี 37 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 8 หมื่นคน ที่เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีซึ่งยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น ตนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมควรมีการปฏิรูปเร่งด่วน 3 ส่วนสำคัญคือ ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการเรียนการสอนที่ยังผิดเพี้ยนจากทฤษฎี นอกจากนี้ยังต้องปรับการบริหารงานด้านกระบวนการยุติธรรมให้สามารถลดปริมาณ คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล
ด้านนายจรัญ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการยุติธรรมที่มี ปัญหา ไม่สามารถเป็นหลักให้สังคม ถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐ เงิน ระบอบการเมือง และอำนาจเถื่อน ที่นำฝูงชนที่จัดตั้งมาปลุกระดมและกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ผู้คนฝ่ายตรงข้าม และเจ้าหน้าที่กลัว หากปล่อยให้ประเทศตกอยู่ใต้เหล่านี้ต่อไปก็จะกลายเป็นเชื้อร้ายที่ลามไปสู่ จุดที่มองเห็นว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด ดังนั้นตนอยากเสนอให้กระบวนการยุติธรรมใหม่ควรปรับไปเพื่อเน้นประโยชน์ของ ประชาชนและประเทศเป็นหลัก ต้องแก้ปัญหาแพะรับบาปที่ถือเป็นความชั่วร้ายของระบบงานยุติธรรมในการเอาผู้ บริสุทธิ์มารับโทษ ซึ่งการจะปฏิรูปให้สำเร็จได้สิ่งสำคัญคือต้องมีผู้ที่เป็นหลักในการผลักดัน อย่างจริงจัง พร้อมกันนี้ตนขอเสนอให้มีการเพิ่มเติมหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐ ธรรมนูญเพื่อให้การปฏิรูปมีแนวทางที่ชัดเจน
ขณะที่นายสิทธิโชค กล่าวว่า ความยุติธรรมที่สำคัญสำหรับประชาชนคือกระบวนการเข้าถึงซึ่งตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดย ง่าย สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง แต่ข้อเท็จจริงในสังคมไทยปรากฏว่าทุกข้อที่ระบุไว้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งอุปสรรคทั้งหมดไม่ได้เกิดจากกฎหมายเท่านั้นแต่ยังมาจากปัญหาของบุคลากร ที่อยู่ในกระบวนการยุติ ธรรม ดังนั้นหากจะปฏิรูประบบกระบวนการยุติ ธรรมก็จำเป็นต้องปฏิรูปคนไปพร้อมกันด้วย.