กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ทุกสถานประกอบการที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการล้างส้วมสะอาด ปลอดภัย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะ 3 จุดเสี่ยงที่พบเชื้อโรคมากที่สุด
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าว ถึงการรณรงค์สถานประกอบการล้างส้วมในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนส่วนใหญ่ได้วางแผนการท่องเที่ยว เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกัน ซึ่งนอกจากต้องระมัดระวังในเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ประชาชนต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อสุขอนามัยที่ดีในการเดิน ทางตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นตามร้านอาหาร มินิมาร์ท และตามแผงลอยที่มีการจำหน่ายอาหารมากมายหลายชนิด ต้องคำนึงถึงคุณค่าด้านโภชนาการและความสะอาดของอาหารและภาชนะเป็นพิเศษ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการใช้บริการห้องส้วมตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานีขนส่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ศาสนสถาน โรงพยาบาล และตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในสถานที่ต่างๆ ร่วมกันล้างส้วมสาธารณะให้สะอาดปลอดภัยเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง เทศกาลปีใหม่
ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า จากการทำอนามัยโพลพบว่า ปัจจัยที่ประชาชนใช้ตัดสินเลือกใช้บริการส้วมสาธารณะคือ ความสะอาด ร้อยละ 86.30 กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการเน้น การทำความสะอาดจุดที่พบเชื้อโรคมากและ เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค 3 จุด คือ ที่จับสายฉีดน้ำชำระ พื้นห้องส้วมและที่รองนั่งส้วมแบบนั่งราบ ในปี 2552 ที่ผ่านมามีส้วมสาธารณะทั่วประเทศผ่านเกณฑ์ร้อยละ 40.37 ประกอบด้วย ศาสนสถาน ร้อยละ 11.75 สวนสาธารณะ ร้อยละ 60.06 สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 44.07 ตลาดสด ร้อยละ 48.6 สถานีขนส่ง ร้อยละ 41.4 สถานที่ราชการ ร้อยละ 47.28 โรงพยาบาล ร้อยละ 83.11 โรงเรียน ร้อยละ 44.45 แหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ 62.91 ร้านจำหน่ายอาหาร ร้อยละ 36.15 ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 88.52 และส้วมริมทางในพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 67.02
"นอกจากนี้กรมอนามัยยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,000 คน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกี่ยวกับส้วมสาธารณะที่มีให้บริการในสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง แหล่งท่องเที่ยว สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ ตลาดสด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น พบว่า ประชาชนต้องการให้ปรับปรุงส้วมในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด ร้อยละ 26 รองลงมาคือ ตลาดสด ร้อยละ 21.4 และแหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ 17 ซึ่งปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขมากที่สุดคือเรื่องกลิ่นเหม็น ร้อยละ 76.5 รองลงมาคือความสะอาด ร้อยละ 66.7 และพื้นแห้ง ไม่ลื่น ร้อยละ 30.7” ดร.นพ.สมยศกล่าว
"ทั้งนี้ปัญหาส้วมสาธารณะจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังควบคู่กับ การสร้างพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ที่ส้วมสาธารณะสกปรกและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่มีผลต่อ สุขภาพ ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้ส้วมยังใช้ส้วมไม่ถูกวิธี ซึ่งประชาชนผู้ใช้บริการควรให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่าง ถูกต้อง โดยไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลัง การใช้ส้วมและล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อช่วยกันดูแลและรักษาความสะอาดแก่สถานบริการและลดจุดเสี่ยงของการเกิด โรคในช่วงเทศกาลท่องเทียวปีใหม่นี้ด้วย” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมอนามัย