ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554
หมา สัตว์ผู้ล่า, ปกป้อง คนยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิท
ธิ์
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554
หมา สัตว์ผู้ล่า, ปกป้อง คนยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิท
ธิ์
หมาดินเผา สำหรับใส่ในหลุมฝังศพ สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ของจีน อายุราว 2,200 ปีมาแล้ว จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว (Tokyo National Museum)
หมา ในยุคดึกดำบรรพ์อาจถือเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตคนอย่างหนึ่งคือเป็นผู้ปกป้องและช่วยในการล่าสัตว์
นักโบราณคดีญี่ปุ่นพบหลักฐานเป็นโครงกระดูกสุนัข ในวัฒนธรรมโจมอน (Jomon) อายุราว 12,000-2,300 ปีมาแล้ว มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับหมาพันธุ์พื้นเมืองในปัจจุบัน นักวิชาการเชื่อว่าหมาในยุคโบราณพวกนี้มนุษย์ใช้ฝึกเพื่อให้เป็นผู้ป้องกันอันตรายและเป็นนักล่า ดังพบภาพหมาร่วมอยู่ในภาพการล่าสัตว์บนลายระฆังสัมฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นหลักฐานเมื่อราว 2,300 ปีมาแล้ว
ปัจจุบันหมาสายพันธุ์ญี่ปุ่น เช่น ชิบะ (Shiba) ก็เป็นหมานักล่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบภูเขาผสมหมาป่า ลักษณะเดียวกับหมาพันธุ์บางแก้วของไทย ที่เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่เกิดจากการผสมกับหมาป่า หมาเหล่านี้จึงยังคงมีสัญชาตญาณนักล่าตามที่เราได้ยินได้ฟังกันนั่นเอง
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมาก็น่าจะมีบทบาทหน้าที่ลักษณะเดียวกันนี้ ดังจะพบโครงกระดูกหมาในแหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทยหลายแหล่ง หรือรูปหมาที่ตกแต่งอยู่บนเครื่องมือเครื่องใช้
และที่อาจเห็นได้ชัดเจนขึ้น คงเป็นภาพเขียนสีหลายแห่งที่ปรากฏภาพหมา อยู่ในกลุ่มภาพเกี่ยวกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หรือพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ เช่น ที่เขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี, ภาพเขียนสีที่เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อราว 3,000 – 2,500 ปีมาแล้ว
จากความใกล้ชิดที่ช่วยในการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตรายและออกล่าสัตว์ล่าเหยื่อ คนจึงยกย่องหมาเป็นสัตว์ให้คุณ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัตว์ที่เกี่ยวเนื่องกับความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นของมนุษย์ ที่ต่อมาคงได้ผูกเรื่องเล่าเพื่ออธิบายขยายคุณที่เกี่ยวเนื่องออกไปอีก เช่น เรื่องหมาเก้าหางที่ขโมยพันธุ์ข้าวมาให้คนปลูกกิน เล่ากันในหมู่ชนชาวจ้วง ทางตอนใต้ของจีน เป็นเรื่องที่เชื่อถือกันในหมู่ชาวจ้วงหลายกลุ่ม เพราะมีพิธีกินข้าวใหม่ ที่เอาข้าวใหม่ส่งให้หมากินก่อน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มีเรื่องในลักษณะเดียวกันนี้เล่าอยู่ที่คงถ่ายทอดถึงกัน เช่น ในญี่ปุ่นก็มีสุนัข(จิ้งจอก)ที่เป็นผู้ส่งสารของเทพอินาริ เทพเจ้าแห่งข้าว มีหน้าที่รักษารวงข้าวหรือไร่ข้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ชาวจ้วงแถบอำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสี ยังตั้งรูป “หมาหิน” ตามถนนเข้าหมู่บ้าน และกราบไหว้เพื่อให้ช่วยขจัดสิ่งเลวร้าย ดูแลให้หมู่บ้านร่มเย็นเป็นสุข จนกระทั่งมีชนบางกลุ่มกินหมาเพราะถือว่าให้พลัง เป็นของดีที่ไม่ได้มีกินกันทั่วไป ก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่แต่เดิมนั่นเอง
เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับถือยกย่องหมาว่ามีคุณมาแต่ดึกดำบรรพ์ จึงมีหมาร่วมอยู่ในพิธีกรรมความเป็นอยู่ ทั้งหมาจริงหรือหมาจำลอง อย่างหมาดินเผา เลยเป็นเครื่องสังเวยให้แก่ผู้ตายให้ดูแลคุ้มครองหรือเอาไปใช้งานอีกโลกหนึ่ง เช่นเดียวกับเราที่มีรูปหมาอยู่บนข้าวของเนื่องในพิธีกรรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
ภาพเขียนสีที่เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปหมาในภาพที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (ภาพจาก ศิลปะถ้ำในอีสานของ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2532)