เหรียญสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ เหรียญชนิดนี้จะมอบให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ทั้งที่เป็นทหาร หรือข้าราชการของกองทัพเยอรมัน และหน่วยเอส เอส ต่อมาในปี 1943 เมื่อสงครามขยายเข้ามาถึงประเทศเยอรมัน ทั้งจากการทิ้งระเบิด และการรุกเข้ามาทางพื้นดิน ก็ได้มีการมอบเหรียญชนิดนี้ให้กับพลเรือน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศด้วย หลักเกณฑ์ เหรียญนี้มี 3 ระดับ คือ 1. รมดำ สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 1 - 2 ครั้ง 2. เหรียญเงิน สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 3 - 4 ครั้ง หรือ สูญเสียแขนขาจากการสู้รบ ได้รับบาดเจ็บที่ตา ระบบการได้ยิน สมอง หรือบาดเจ็บที่ใบหน้าจนเสียโฉม 3. เหรียญทอง สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 5 ครั้ง หรือพิการตาบอด สมองได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หรือเสียชีวิตในการรบ พิธีมอบครั้งแรก พิธีมอบครั้งแรกใน 1 กันยายน ปี 1939 จำนวนผู้ที่ได้รับมอบ กว่า 5,000,000 คน วิธีประดับเหรียญ ประดับที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย โดยติดต่ำกว่าเหรียญใดๆ
ตัวอย่างของการประดับเหรียญผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ จะติดอยู่ที่กระเป๋าเสื้อซ้ายของผู้ที่ได้รับมอบ ในภาพนี้จะติดเฉียงค่อนไปทางสีข้าง ส่วนอีกเหรียญที่อยู่ระดับเดียวกัน ใกล้กับกระดุมเสื้อ เป็นเหรียญทำการรบด้วยรถถัง สำหรับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กที่อยู่เหนือขึ้นไป เป็นกางเขนเหล็กชั้นที่สอง หากเป็นกางเขนเหล็กชั้นที่หนึ่ง จะต้องมีแพรริบบิ้นสอดที่กระดุมเม็ดที่สอง และหากเป็นเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ก็จะประดับที่คอเสื้อ แทนการประดับที่กระเป๋าเสื้อ นายทหารคนนี้เป็นนายทหารเอส เอส ยศพันตรี หรือ เอส เอส สตรุมบานฟือเรอห์ (SS. Sturmbannfuhrer) ที่แขนเสื้อด้านซ้ายมีสัญญลักษณ์ นกอินทรีเกาะเครื่องหมายสวัสดิกะติดอยู่ ปักด้วยไหมสีเงิน เป็นสัญญลักษณ์ที่ทหาร เอส เอส ทุกคนจะต้องติดไว้ที่แขนเสื้อ ส่วนที่ปลายแขนเสื้อมีป้ายบอกนามหน่วยว่า แดร์ ฟือเรอห์ (Der Fuhrer) แสดงว่าเป็นกำลังพลของกรมทหารราบยานเกราะ เอส เอส ที่ 4 แดร์ ฟือเรอห์ (SS. Panzer Granadier 4 "Der Fuhrer") ซึ่งกรมนี้สังกัดอยู่กับ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich)
เหรียญตราสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถัง (Tank Battle Badge) เหรียญตราสำหรับผู้ที่ทำการรบด้วยรถถัง (Tank Battle Badge) หรือ Panzerkampfwagenabzeichen นี้ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 1939 จะมอบให้กับผู้ที่ทำการรบด้วยรถถัง สำหรับเหรียญที่เห็นในภาพ เป็นเหรียญชั้นแรก ตอนล่างมีขีดสามขีด หมายถึงผู้ที่ได้รับเหรียญ ได้เข้าทำการรบด้วยรถถัง 3 ครั้ง ในวันที่ต่างกัน (three tank engagement on three different days) ต่อมาในปี 1940 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Panzerkampfabzeichen เนื่องจากแรกเริ่มนั้น มุ่งที่มอบเหรียญตรานี้ให้กับพลประจำรถถังเท่านั้น แต่ต่อมาก็ได้มีการขยายสิทธิผู้ที่ได้รับเหรีญญไปถึง พลมอเตอร์ไซค์ ของกองพลยานเกราะ รวมไปถึงชุดกู้ (recovery team) ซึ่งมักจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้า ไม่แตกต่างไปจากพลประจำรถถัง ขั้นตอนการพิจารณาว่าสมควรจะได้รับเหรียญหรือไม่ ก็ใช้หลักเดียวกับพลประจำรถถัง สำหรับเหรียญชั้นต่อไป จะเปลี่ยนขีด 3 ขีดเป็นตัวเลขของการรบด้วยรถถัง เช่น ตัวเลข 25 ซึ่งหมายถึงทำการรบด้วยรถถัง 25 ครั้ง หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้าต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 เดือน เหรียญนี้ยังอาจจะมอบให้กับผู้ที่ได้บาดเจ็บสาหัสจากการสู้รบก็ได้ โดยเหรียญทำการรบ 25 ครั้งนี้ เริ่มมีใช้เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 1943 เหรียญนี้มี 3 แบบ คือ รมดำ ชุบเงิน และชุบทอง ตัวเหรียญออกแบบโดย Ernest Peekhaus เป็นรูปรถถัง ล้อมรอบด้วยใบโอ็ครูปทรงรี ตอนบนสุดของเหรียญ เป็นรูปนกอินทรี กางปีกเพียงครึ่งเดียว เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ อันเป็นสัญญลักษณ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ตัวรถถังกำลังแล่นผ่านใบโอ็ค จากทางซ้ายไปขวา เหรียญที่เห็นอยู่ด้านบนเป็นเงินทั้งเหรียญ เหรียญที่มอบให้ผู้ทำการรบ 25 ครั้ง จะแตกต่างกับเหรียญทำการรบ 3 ครั้งคือ ตัวรถถังของเหรียญทำการรบ 25 ครั้งจะเป็นสีเทาดำ ตัวเลข 25 ที่ปรากฎแทนขีด 3 ขีดทางตอนล่าง จะเป็นสีทอง ส่วนนกอินทรีและใบโอ็คยังคงเป็นสีเงินเช่นเดียวกับเหรียญทำการรบ 3ครั้ง
ภาพบน คือตัวอย่างการติดเหรียญสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถัง ตัวเหรียญจะติดที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้ายของผู้ที่ได้รับเหรียญ โดยติดให้ต่ำกว่าเหรียญกางเขนเหล็ก และเสมอกับเหรียญอื่นๆ ในภาพจะอยู่เสมอกับเหรียญสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบ ที่อยู่ค่อนไปข้างหลัง เหรียญสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถังในภาพนี้ เป็นเหรียญสีทอง ผู้ได้รับเหรียญเป็นนายทหารยศ พันตรีของหน่วยเอสเอส จากกองพล ดาส ไรซ์ สิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นหน่วยเอส เอส คือ 1. ที่ปกเสื้อด้านขวาของเครื่องแบบ มีเครื่องหมายอักษร เอส เอส 2. ที่หน้าหมวกแก็ป ใต้สัญญลักษณ์นกอินทรีกางปีกเต็ม เท้าเกาะเครื่องหมายสวัสดิกะ จะเป็นเครื่องหมาย หัวกระโหลกไขว้ (Death head) ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ ของหน่วย เอส เอส 3. ที่แขนเสื้อด้านซ้ายของเครื่องแบบ ตอนบน มีตรานกอินทรีเหยียดปีกตรงเกาะบนเครื่องหมายสวัสดิกะติดอยู่ ในภาพจะเห็นเพียงปลายปีกเหยียดตรงโผล่ออกมาเท่านั้น 4. เครื่องหมายยศของ เอส เอส ที่ติดอยู่ที่ปกเสื้อ จะแตกต่างจากเครื่องหมายของกองทัพบกเยอรมัน ดุมเงิน 4 เม็ดหมายถึงพันตรี ส่วนแถบที่แขนเสื้อซ้าย ด้านล่าง เป็นแถบบอกนามหน่วย จะเห็นดัวอักษร Das Reich ติดอยู่
(บน) Hans Ulrich Rudel นักบินของกองทัพอากาศเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (Luftwaffe) ซึ่งเป็นเพียงผู้เดียว ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก ชั้นอัศวิน ประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และเพชร จากความกล้าหาญของเขา ในการทำลายรถถังรัสเซียได้เป็นจำนวนถึง 530 คัน (ภาพบน) เครื่องบิน เจ ยู 87 สตูก้า ที่ดัดแปลงเป็นเครื่องบินทำลายรถถัง โดยการติดปืนใหญ่ขนาด 37 มม. ไว้ใต้ปีก จำนวน 2 กระบอก เป็นเครื่องบินแบบเดียวกับที่ Rudel ใช้ในการรบในแนวรบด้านรัสเซีย
เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็ค (Knight's Cross of the Iron Cross with Oak Leaves) เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คนี้มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Ritterkreuz des Eisernes Kreuzes mit Eichenlaub) จะประดับให้กับทหารที่ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือหน่วยเอส เอส หรือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในการรบนั้น หลักเกณฑ์ - ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน มาแล้ว - ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญต่อเนื่องกัน หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ - ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินมาแล้ว - คะแนนสะสมของการยิงเครื่องบินข้าศึกตก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ในระดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ็ค พิธีมอบครั้งแรก วันที่ 19 มิ.ย. 1940 มอบให้กับ Eduard Dietl จำนวนที่มอบ 882 เหรียญมอบให้คนเยอรมัน 8 เหรียญมอบให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งหมด 890 เหรียญ วิธีการประดับเหรียญ วิธีการประดับเหมือนกับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน คือประดับที่คอเสื้อ โดยใช้ริบบิ้นพันรอบคอ และห้อยตัวเหรียญออกมาด้านหน้าของคอเสื้อ โดยตัวเหรียญจะมีใบโอ็คอยู่ด้านบนของเหรียญ ข้อสังเกตุ เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คนี้ เป็นเหรียญกล้าหาญที่สูงกว่า เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน และมีเกียรติยศสูงกว่า ต้องใช้ความสามารถอย่างสูง ต้องมีความกล้าหาญที่เห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ที่ได้รับมอบเหรียญมีจำนวนลดน้อยลงเหลือเพียง 890 คนเท่านั้น เหรียญนี้ยังสามารถมอบให้กับผู้บัญชาการของหน่วยที่ปฏิบัติการรบด้วยความ กล้าหาญ ทหารเยอรมัน 882 คนที่ได้รับเหรียญ 96 คน ยังมีชีวิตอยู่ (ข้อมูลเมื่อปี 1999) และ 237 คน มีข้อมูลชัดเจนว่า เสียชีวิตในสนามรบ (killed in action - KIA)
เหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight Cross of the Iron Cross) เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินนี้ มชื่อในภาษาเยอรมันว่า Ritterkreuz des Eisernes Kreuzes เป็นเหรียญที่มอบให้กับทหารชายทุกเหล่า ในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบ ด้วยความกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือ หน่วยเอส เอส หรือ หน่วยงานองค์กรที่ร่วมในการรบนั้นๆ หลักเกณฑ์ทั่วไป - เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1(1st Class Iron Cross) มาแล้ว - ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญอย่างต่อเนื่อง หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ (Luftwaffe) - เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 มาแล้ว - มีคะแนนสะสม 20 คะแนน โดย 1 คะแนนสำหรับการยิงเครื่องบิน เครื่องยนต์เดียวตก 1 ลำ 2 คะแนน สำหรับการยิงเครื่องยนต์ 2 เครื่องยนต์ตก 1 ลำ 3 คะแนน สำหรับการยิงเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ ตก 1 ลำ คะแนนดังกล่าวจะเพิ่มเป็นสองเท่า หากปฏิบัติการรบทางอากาศในเวลากลางคืน หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพเรือ (Kriegsmarine) - เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 มาแล้ว - สามารถจมเรือของข้าศึกได้รวมแล้ว 100,000 ตัน อย่างไรก็ตามกฏเกณฑ์ดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในระหว่างสงคราม พิธีมอบครั้งแรก 30 ก.ย. 1939 จำนวนที่มอบ 7,318 เหรียญ มอบให้กับทหารเยอรมัน 43 เหรียญมอบให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งหมด 7,361 เหรียญ ในจำนวนผู้รับเหรียญทั้งหมดนี้ ประมาณ 1,000 คนยังมีชีวิตอยู่ (ข้อมูลปี 1999) และจำนวนนับพันที่หายสาปสูญจากการรบ (Missing in Action - MIA) การแบ่งเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก - เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ซึ่งมีอยู่ 2 ชั้น คืแอ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 - เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight Cross of the Iron Cross) ซึ่งมี 5 ชั้น คือ 1.ชั้นธรรมดา 2. ชั้นประดับใบโอ็ค 3. ชั้นประดับใบโอ็คและดาบ 4. ชั้นประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชร 5. ชั้นประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และ เพชร วิธีการประดับเหรียญ ประดับไว้ที่คอ โดยมีสายริบบินสีดำ ขาว และแดง เป็นตัวผูกเหรียญกางเขนเหล็กเอาไว้ ให้ตัวเหรียญห้อยออกมาจากคอเสื้อด้านหน้า หากได้รับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ที่มีชั้นสูงขึ้นไป เหรียญชั้นต่ำจะต้องถอดออกไป ข้อสังเกต เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ของกองทัพเยอรมันนี้ เทียบเท่ากับเหรียญกล้าหาญ Medal of honor ของกองทัพสหรัฐอเมริกา บันทึก นายทหารประทวน (ชั้นนายสิบ) คนแรกที่ได้รับการประดับเหรียญนี้ คือ Hubert Brinkforth ได้รับการประดับเหรียญ เมื่อ 7 มี.ค. 1941 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในกองร้อยต่อสู้รถถังที่ 14 (14. Panzerjager Kompanie) ของกรมทหารราบที่ 25 ทหารที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเหรียญนี้มี 3 คน คือ Gefreiter, Christian และ Lohrey (ไม่มีข้อมูลอายุขณะนั้น) ได้รับการประดับเหรียญเมื่อ 11 มี.ค. 1945 ก่อนการสิ้นสุดสงครามไม่นานนัก
เหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 (The Iron Cross 1st Class) เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที 1 มีัชื่อในภาษาเยอรมันว่า Eisernes Kreuz 1 Klasse เป็นเหรียญที่มอบให้กับทหารชาย หญิง ทุกเหล่า ในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบ ด้วยความกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือ หน่วยเอส เอส หรือ หน่วยงานองค์กรที่ร่วมในการรบนั้นๆ นอกจากนั้นยังสามารถมอบให้กับผู้ที่มิใช่ชาวเยอรมัน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้กับกองทัพเยอรมันโดยตรง หรือร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมัน ในฐานะหน่วยทหารของประเทศอักษะ หรือในดินแดนที่เยอรมันครอบครอง หลักเกณฑ์ทั่วไป - เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 มาแล้ว - ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ในหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ จำนวน 3-5 ครั้ง หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ (Luftwaffe) - สามารถทำคะแนนได้ 5 คะแนน เมื่อ 1 คะแนน สำหรับการยิงเครื่องบิน 1 เครื่องยนต์ตก 2 คะแนนสำหรับการยิงเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ตก 3 คะแนนสำหรับการยิงเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ตก คะแนนนี้จะเพิ่มเป็นสองเท่า เมื่อปฏิบัติการรบทางอากาศในเวลากลางคืน พิธีมอบครั้งแรก ไม่ทราบวันที่แน่นอน จำนวนที่มอบ มากกว่า 450,000 เหรียญ การแบ่งเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก - เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ซึ่งมีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 โดยชั้นที่ 1 จะสูงกว่าชั้นที่ 2 - เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight Cross of the Iron Cross) ซึ่งมี 5 ชั้น คือ 1.ชั้นธรรมดา 2. ชั้นประดับใบโอ็ค 3. ชั้นประดับใบโอ็คและดาบ 4. ชั้นประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชร 5. ชั้นประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และ เพชร ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด วิธีการประดับเหรียญ เหมือนการประดับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 คือ ในพิธีประดับเหรียญ ผู้ที่ได้รับเหรียญจะติดสายริบบิ้นไว้ที่รังดุมที่ 2 แล้วปล่อยตัวเหรียญให้ออกมานอกเสื้อ ส่วนในชีวิตประจำวัน จะติดริบบิ้นไว้ที่รังดุมที่ 2 โผล่สายริบบิ้นออกมาก่อนที่ม้วนกลับเข้าไปในตัวเสื้อ ส่วนตัวกางเขนเหล็ก ติดไว้ที่ กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย บริเวณตรงกึ่งกลางของกระเป๋า ส่วนผู้ที่ได้รับเหรียญชนิดนี้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สามารถติดเหรียญได้ทั้งสองเหรียญ ข้อสังเกตุ มีสุภาพสตรีเยอรมัน 2 คน ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 ในสงครามโลกครั้งที่ 2
เหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 (The Iron Cross 2nd Class) เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Eisernes Kreuz 2 Klasse เป็นเหรียญที่มอบให้กับทหารชาย หญิง ทุกเหล่า ในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบ ด้วยความกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือ หน่วยเอส เอส หรือ หน่วยงานองค์กรที่ร่วมในการรบนั้นๆ นอกจากนั้นยังสามารถมอบให้กับผู้ที่มิใช่ชาวเยอรมัน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้กับกองทัพเยอรมันโดยตรง หรือร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมัน ในฐานะหน่วยทหารของประเทศอักษะ มีสตรี 39 คน ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 นี้ หลักเกณฑ์ทั่วไป - ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ในหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ จำนวน 1 ครั้ง พิธีมอบครั้งแรก ไม่ทราบวันที่แน่นอน ระบุได้แต่เพียงว่า เป็นการมอบให้กับผู้ที่เข้ารบในประเทศโปแลนด์ ใน ก.ย. 1939 จำนวนที่มอบ มากกว่า 3,000,000 เหรียญ การแบ่งเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก - เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ซึ่งมีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ชั้นที่ 1 จะสูงกว่าชั้นที่ 2 - เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight Cross of the Iron Cross) ซึ่งมี 5 ชั้น คือ 1.ชั้นธรรมดา 2. ชั้นประดับใบโอ็ค 3. ชั้นประดับใบโอ็คและดาบ 4. ชั้นประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชร 5. ชั้นประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และ เพชร วิธีการประดับเหรียญ ในพิธีประดับเหรียญ ผู้ที่ได้รับเหรียญจะติดสายริบบิ้นไว้ที่รังดุมที่ 2 แล้วปล่อยตัวเหรียญให้ออกมานอกเสื้อ ส่วนในชีวิตประจำวัน จะติดริบบิ้นไว้ที่รังดุมที่ 2 โผล่สายริบบิ้นออกมาก่อนที่ม้วนกลับเข้าไปในตัวเสื้อ ส่วนตัวกางเขนเหล็ก ติดไว้ที่ กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย บริเวณตรงกึ่งกลางของกระเป๋า ส่วนผู้ที่ได้รับเหรียญชนิดนี้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สามารถติดเหรียญได้ทั้งสองเหรียญ ข้อสังเกต ผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 มีอายุ 12 ปี ชื่อ Alfred Zeck จาก Goldenau เมื่อเดือน มี.ค. 1945 ที่แนวหน้าในเมือง Oder เขาได้รับเหรียญเนื่องจาก ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญในการช่วยเหลือทหารเยอรมัน 12 คนที่ได้รับบาดเจ็บ ท่ามกลางห่ากระสุนปืนใหญ่ ของฝ่ายข้าศึก และสามารถช่วยชีวิตไว้ได้หมดทั้ง 12 คน นอกจากนี้ทหารเรือประจำเรือ Admiral Scheer ก็ได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นนี้ทุกคน รวม 1,300 คน เมื่อ 1 เม.ย. 1941
ยอดขุนศึกเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง The Great German warriors in World War II เออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) เกิดเมื่อ 15 พ.ย. 1891 ที่เมือง Heidenheim ในเยอรมัน แรกๆเขาต้องการจะเรียนวิศวกรรม แต่พ่อของเขาไม่ยอม และในปี 1910 เขาก็เข้าสู่กองทัพบกเยอรมัน จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉากขึ้น รอมเมลก็อยู่ในชั้นยศ และออกสู่สมรภูมิด้านตะวันตก จนได้รับเหรียญกางเขนเหล็กในเดือน ม.ค. 1915 ในปี 1917 รอมเมลเข้าสู่สมรภูมิกับอิตาลี (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมันเป็นศัตรูกับอิตาลี) โดยการนำทหารของเขาโจมตี Monte Matajur จนกระทั่งได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอก หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็แสดงความกล้าหาญ โดยการนำทหารข้ามแม่น้ำ Piave เพื่อเข้ายึด ป้อมของทหารอิตาลี ที่ Lognaroni สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงในปี 1918 รอมเมลยังคงอยู่ในกองทัพเยอรมัน จนกระทั่ง ปี 1929 เขาได้รับ การแต่งตั้ง ให้เป็นครูสอนวิชาทหารราบที่ Dresden และในเดือน ต.ค. 1935 เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพันโท สอนวิชาทหารราบที่สถาบันสงคราม Potsdam ด้วยความเป็นอาจารย์ที่ยอดเยี่ยม คำสอนและแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ ยุทธวิธีทหารราบ ได้รับการตีพิมพ์ ในปี 1937 หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจของ อดอฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ฮิตเลอร์อ่านหนังสือดังกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากมีความประทับใจ ในแนวความคิดของ รอมเมลมาก จนในที่สุด ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งเขาให้เป็นฝ่ายเสนาธิการประจำกองบัญชาการ ของฮิตเลอร์ในออสเตรีย เชคโกสโลวะเกีย และโปแลนด์ในปีต่อมา ในปี 1940 รอมเมลได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้บัญชาการ กองพลแพนเซอร์ที่ 7 (the 7th Panzer Division) ยศ พลตรี (Major General) รุกเข้าไปในฝรั่งเศส รอมเมลได้แสดงให้เห็นถึง ความสามารถอันโดดเด่น ด้วยการนำ กองพลยานเกราะของเขาเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว เจาะทะลวงแนวตั้งรับของฝรั่งเศสเร็วกว่าและไกลกว่า หน่วยใดๆในประวัติศาสตร์ สงครามเลยทีเดียว โดยเฉพาะใน 21 พ.ค. 1940 ทหารของรอมเมลรุกไปถึงเมือง Arras และต้องพบกับการตอบโต้ของทหารยานเกราะอังกฤษ ที่มีรถถังมาทิลด้า 16 คัน ทหารเยอรมันใช้ปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ต่อสู้กับทหารอังกฤษ เป็นการต่อสู้อย่างดุเดือดครั้งแรกๆ ระหว่างทหารเยอรมันกับอังกฤษ แต่ทหารของรอมเมลก็สามารถเอาชนะได้ ท่ามกลางความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย รอมเมลรุกต่อไปจนถึงชายแดนสเปน สงครามครั้งนี้ สร้างชื่อให้รอมเมลเป็นอย่างมาก
นายพล ไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) บิดาแห่ง Panzer นายพลไฮน์ กูเดเรียน เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1888 ที่เมืองคลุม (Culm) ซึ่งตอนนั้นอยู่ในปรัสเซียตะวันตกของเยอรมัน ปัจจุบันชื่อเมือง Chelmno อยู่ในประเทศโปแลนด์ จบการการศึกษาทางทหาร จากโรงเรียนนายร้อยในเบอร์ลิน ในปี 1908 ได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรี ต่อมา ในปี 1913 สมรสกับภรรยาชื่อ Margarete Goerne มีบุตรชายสองคน ซึ่งทั้งตัวเขาและลูกชายทั้งสองคน ต่างก็ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายคนโต ซึ่งต่อมาได้เป็นพลตรีของกองทัพเยอรมันในช่วงหลังสงคราม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กูเดเรียน เป็นครูฝึกในโรงเรียนนายร้อยในเบอร์ลิน เขาเริ่มแสดงแนวความคิดใหม่ๆในการใช้ยานยนต์ในการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะเมื่อเขาเป็นพันตรี ในปี 1927 เยอรมันถูกจำกัดด้วยสนธิสัญญาแวร์ซาย หน่วยของเขามีแต่มอเตอร์ไซค์และรถบรรทุก เพราะเยอรมันไม่ได้รับอนุญาติให้พัฒนาอาวุธสงคราม เขาพยายามพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการเคลื่อนพลอย่างรวดเร็ว เขาเดินทางไปดูการพัฒนารถถังของนาซีอย่างลับๆในรัสเซีย แล้วกลับมาติดตั้งรถบรรทุกของเขาด้วยป้อมปืนไม้ แล้วใช้รถบรรทุกเหล่านี้แบบรถถัง เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิด แนวความคิดของการใช้รถถังในการรุก และเป็นผู้ให้กำเนิด หน่วย Panzer หรือ หน่วยยานเกราะของเยอรมัน โดยกูเดเรียนได้อ่าน แนวคิดการใช้ยานเกราะของอังกฤษ ซึ่งเขียนโดย J.F.C Fuller ในปี 1929 และนำมาปรับใช้อย่างจริงจังครั้งแรกในกองทัพนาซีเยอรมัน เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์ได้เดินทางไปชมการฝึกซ้อมของหน่วยยานเกราะเล็กๆ ของกูเดเรียน ซึ่งมีความคล่องตัว แตกต่างไปจากรถถังในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รถถังจำลองของกูเดเรียนวิ่งไปรอบสนามฝึก สร้างความประทับใจให้กับฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการใช้รถถังเป็นกำลังหลักในการรุกนั้น กูเดเรียนต้องประสบกับการต่อต้าน แนวความคิดนี้ จนในปี 1937 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง 3 ปี กูเดเรียนได้เขียนหนังสือชื่อ Achtung Panzer (อาคตุง แพนเซอร์ - ระวัง ยานเกราะ) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอแนวคิด ในการใช้รถถังเป็นกำลังหลักในการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ หรือที่เรียกว่า Blitzkrieg ต่อมาฮิตเลอร์ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย เริ่มสะสมอาวุธ และสร้างกองทัพอย่างขนานใหญ่ กองพลยานเกราะ (Panzer Division) 3 กองพลถูกตั้งขึ้นอย่างเปิดเผย กูเดเรียนซึ่งขณะนั้นมีความโดดเด่นจากแนวคิดการใช้ยานเกราะนี้ ทำให้เขาใกล้ชิดกับฮิตเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Division) พร้อมๆกับครองยศ พลตรี (Major General) และอีกไม่ถึงปีครึ่ง เขาก็ได้เป็นพลโท พร้อมกับตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ 16 (XVI Army-Corps) อีกเพียงสิบเดือนต่อมา เขาก็ดำรงพลเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (Chief of fast troops) ซึ่งรับผิดชอบการจัดตั้ง การฝึก และการใช้ยุทธวิธีในการรุกด้วยยานเกราะ ซึ่งตำแหน่งนี้ ส่งผลให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การรบสมัยใหม่ ด้วยยานเกราะ มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งส่งผลให้ หน่วย Panzer กลายเป็นหน่วยรบที่น่ากลัวที่สุดในโลกขณะนั้น
ร้อยเอก ไมเคิล วิทท์มาน SS. Hauptsturmfuhrer Michael Wittmann วิทมาน เป็นเสือรถถังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนาซีเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีสถิติในการทำลายรถถังของข้าศึกได้สูงถึง 138 คัน รถติดปืนใหญ่และปืนใหญ่อีก 132 กระบอก เป็นสถิติที่สูงที่สุดที่ไม่มีีใครจะลบลงได้ ตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะเสียชีวิตในการรบกับทหารแคนาดาใกล้เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังจากการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรในวันดี เดย์ ที่นอร์มังดี เขาเกิดเมื่อปี 1914 ก่อนที่จะเข้าร่วมกับกองทัพเยอรมันในฐานะทหารราบในปี 1934 และพอถึงปี 1937 เขาก็ย้ายมาอยู่หน่วยองครักษ์ที่ทำหน้าที่อารักขาฮิตเลอร์ (Hitler Bodyguard) ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ หน่วย Leistandarte Adolf Hitler - LAH ซึ่งต่อมาก็ได้รับการยกระดับให้เป็นกองพล เอส เอส แพนเซอร์ที่ 1 ลีปสตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte - Adolf Hitler) หรือกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 (Panzer ในภาษาเยอรมันแปลว่า Armour หรือยานเกราะ) ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไมเคิล วิทมาน เข้าร่วมรบในแนวหน้าในการรุกเข้าสู่โปแลนด์ และฝรั่งเศส ในฐานะผู้บังคับรถยานเกราะ และรถติดปืนใหญ่ ต่อมาเมื่อมีการรบขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน ในกรีซและยูโกสลาเวีย ในปี 1941 เขาได้เป็นผู้บังคับรถถังเป็นครั้งแรก ชื่อเสียงของเขามาโดดเด่นเอาจริงๆจัง เมื่อเยอรมันบุกเข้่ารัสเซียตามยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) เขาสามารถทำลายรถถังของรัสเซียได้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) พอมาถึงปี 1944 ก็ได้รับรถถังรุ่นใหม่อันทรงประสิทธิภาพ นั่นคือ Panzer VI - Tiger พร้อมๆกับยอดการทำลายรถถังข้าศึก และปืนใหญ่ของข้าศึกก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็ค (Knight Cross of the Iron Cross with Oakleaves) ในเดือนเม.ย. 1944 ไมเคิล วิทมาน ได้ย้ายไปอยู่กองพันรถถังหนัก เอส เอส ที่ 101 (Waffen SS. 101st Heavy Tank Battalion) ในนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความสามารถของเขา บวกกับประสิทธิภาพของรถถังไทเกอร์ ทำให้เขาสามารถทำลายรถถังของฝ่ายอังกฤษที่รุกเข้ามาใน Villers - Bocage ได้เป็นจำนวนมาก ในการยุทธที่นอร์มังดี ทั้งที่วิทมานมีรถถังในการบังคับบัญชาเพียง 5 คัน แต่ก็สร้างความสับสนให้กับฝ่ายอังกฤษ จนการรุกต้องชะงักลง จากผลการรบครั้งนี้ วิิทมานได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คและดาบ พร้อมกับได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอก และในวันที่ 8 ส.ค. 1944 วิทมานก็ตกอยู่ในวงล้อมของรถถังแคนาดาทางตอนใต้ของเมืองคานส์ เขาต่อสู้อย่างสุดกำลังความสามารถ แต่ด้วยกำลังที่น้อยกว่า รถถังไทเกอร์อันทรงอานุภาพของเขาถูกยิงจากทุกทิศทุกทาง จนป้อมปืนฉีกออกจากตัวถังรถ ทำให้ไมเคิล วิทมานพร้อมพลประจำรถทั้งหมดเสียชีวิตทันที ร้อยเอก ไมเคิล วิทมาน เป็นเสือรถถังที่ยิ่งใหญ่ การรบของเขาถูกนำไปเป็นบทเรียนในโรงเรียนยานเกราะของประเทศต่างๆ ความกล้าหาญและเสียสละของเขา ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบัน กล่าวถึงเสมอๆ หลุมศพของเขา พร้อมทั้งพลประจำรถ ยังคงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีโดยฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเป็นศัตรูของเขา ในบริเวณที่เกิดการปะทะ ทางตอนใต้ของเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส สถิติการทำลายรถถังของเขา จะเป็นสถิติที่ถือว่าเป็นที่สุดในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ด้วยรถถัง และยากที่จะมีใครทำลายลงได้