ฮิโรชิ ยามาซากิ หมอผู้อุทิศชีวิตเพื่อชดใช้ความผิดให้ประเทศญี่ปุ่น จนลมหายใจเฮือกสุดท้าย

สำหรับ คนทั่วไป ไม่มีใครทราบเลยว่าชายชราผู้เป็นหมอคนนี้คือทหารผ่านศึกญี่ปุ่น ที่ยังคงอยู่ในจีนนับแต่สงครามต่อต้านญี่ปุ่นยุติไปแล้ว (ช่วงปี พ.ศ. 2480 - 2488) ไม่มีใครทราบแม้แต่บุตรสาวของเขาเอง (ภาพไชน่าเดลี)

       ในช่วงสัปดาห์เดียวกับกระแส ข่าวพิธีมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพนั้น มีข่าวการร่วมไว้อาลัยอย่างเงียบๆ ของชาวเน็ตจีน กับการจากไปของหมอจีนวัยชราในเมืองจี่หนันคนหนึ่ง เขาชื่อหมอซัน ผู้จากไปในวัย 103 ปี การเสียชีวิตของเขาไม่ได้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ใดๆ จนกระทั่งข่าวแพร่ออกไปในช่วงใกล้วันครบรอบ 73 ปี เหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นบุกจีนและยึดครองนานกิงเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. พ.ศ.2480 (1937) ชาวเน็ตจึงได้ร่วมไว้อาลัยและรำลึกถึงเรื่องราวของเขา
       
       หมอยาจีนที่ชื่อ ซัน ในจี่หนันผู้นี้ เดิมอดีตเคยเป็นทหารญี่ปุ่นที่รบในปฏิบัติการ สะพานมาร์โค โปโล (Marco Polo Bridge Incident หรือ 卢沟桥事变) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2480
       
       ชีวิตของเขาเคยได้รับการเสนอเป็นสารคดีข่าวในไชน่าเดลีย์ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนเสียชีวิตหนึ่งปี ซึ่งหมอซัน ในวัย 102 ปีนั้นได้ให้สัมภาษณ์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในอดีตของเขาว่า มีชื่อจริงคือฮิโรชิ ยามาซากิ ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น ซัน ในเวลาต่อมา และใช้ชีวิตเป็นหมอรักษาผู้ป่วยอยู่ที่เมืองจี่หนันมานานกว่า 70 ปีแล้ว

 

       "ผมเคยประจำการเป็นแพทย์อยู่นาน 6 เดือนในกองทัพญี่ปุ่น เข้าปฎิบัติการรบในศึกสะพานมาร์โค โปโล ก่อนที่จะหนีทัพ และตัดสินใจใช้ชีวิตในจีนเพื่อชดใช้คืนในสิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นได้เคยก่อไว้" ยามาซากิกล่าวกับนักข่าวจีนเมื่อปีที่แล้ว
       
       ศึกสะพานมาร์โค โปโล คือการรบระหว่างกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกับกองทัพคณะปฏิวัติแห่งชาติจีน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือเอาว่า เป็นจุดแตกหักที่ทำให้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (พ.ศ. 2480-2488)
       
       โดยหลังจากการศึกที่สะพานมาร์โค โปโล กองทัพญี่ปุ่นซึ่งยามาซากิประจำอยู่ ก็เคลื่อนบุกตีเซี่ยงไฮ้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนถัดมา และเพื่อให้บรรลุภารกิจยึดจีนให้ได้ภายใน 3 เดือน กองทัพญี่ปุ่นจึงส่งกำลัง 3 เหล่าทัพ พร้อมเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าถล่มนานกิง
       
       นานกิง (หรือ หนานจิง) เมืองหลวงของจีนในเวลานั้นและยังเป็นที่ตั้งสุสานของดร.ซุนยัดเซ็น ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกขยี้จนเจียงไคเช็กต้องถอยทัพหนีไปที่ ฉงชิ่ง ทิ้งพลเมืองเกือบ 1 ล้านคน กับกำลังทหารป้องกันนานกิงเพียงไม่กี่หมื่นคน กระทั่งนานกิงแตกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1937 และแปรสภาพกลายเป็นทุ่งสังหารหมู่ของปีศาจสงคราม

 

 "ฝูงปีศาจ"
       ประวัติศาสตร์นานกิงบันทึกว่า ทหารญี่ปุ่นทำลายทุกสิ่ง และทุกชีวิตที่ขวางหน้าอย่างวิปริต ฆ่า ปล้น เผา ข่มขืน ทรมานชาวนานกิงทั้งเมือง ยิงเป้า ตัดคอ แขวนคอ ตัดแขน-ขาทั้งสี่ ตัดอวัยวะเพศ ฝังและเผาทั้งเป็น บังคับให้ลูกชายข่มขืนแม่ พ่อข่มขืนลูกสาว
       
       ยามาซากิ ซึ่งประจำการเป็นแพทย์ทหารในกองกำลังที่ถูกเรียกว่า "ฝูงปีศาจ" นี้ ไม่อาจทนดูความวิปริตที่เพื่อนทหารของตนกระทำต่อชาวเมืองผู้ไร้ทางต่อสู้ ที่สุดจึงได้หาทางหลบหนีออกจากค่ายฯ
       
       "แรกเริ่มเดิมที ผมไม่เคยคิดจะเป็นทหาร แต่ด้วยเหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายบังคับให้ทุกครอบครัวต้องส่งลูกชาย หนึ่งคนเข้าเกณฑ์ไปรบ ดังนั้น เพื่อไม่ให้พี่ชายที่เพิ่งแต่งงานมีครอบครัวต้องเสี่ยงชีวิต ผมซึ่งเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว ตอนนั้นอายุ 31 ปี ทำงานเป็นแพทย์และยังไม่มีครอบครัว จึงรับหมายเกณฑ์มาเป็นทหาร"
       
       ยามาซากิถูกส่งตัวไปประจำการอย่าง เร่งด่วน ในกองพลที่ปฏิบัติการรบบนสะพานมาร์โค โปโล ตลอดเวลา 6 เดือน หลังจากศึกครั้งนั้น เขาได้พบเห็นเพื่อนทหารญี่ปุ่นกลายสภาพเป็นปีศาจสงคราม สังหารผู้คนเพื่อความบันเทิง ครั้งหนึ่งเขาเห็นเด็กทารกชาวจีนถูกทหารญี่ปุ่นกระหน่ำแทงด้วยดาบปลายปืน อย่างสนุกสนานเหมือนแทงกระสอบซ้อมมือ ยามาซากิ พยายามเข้าไปยับยั้งความบ้าคลั่งและช่วยชีวิตทารกน้อยคนนั้น แต่สายเกินไป
       
       "เหตุการณ์นั้นทำให้ผมตัดขาดจากกองทัพ" ยามาซากิพูด และเล่าว่า ผมวางแผนหนีทัพในกลางดึกของคืนนั้น และเดินเท้ามุ่งหน้าไปทางชายฝั่งตะวันออก เพื่อหาทางกลับญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่ไม่ได้กินอาหาร เป็นเวลา 4 วัน 4 คืน ในที่สุดก็ล้มหมดสติไป"
       
       "ผมตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ก็พบว่า ตนเองอยู่ในบ้านของชาวนาจีนแก่ๆ ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งช่วยชีวิตและให้ที่พักกับอาหาร เมื่อผมสามารถลุกเดินได้ คู่สามีภรรยาวัยชรา ให้เสื้อผ้าชุดใหม่กับผม มันเป็นชุดใหม่ๆ สะอาด ชุดเดียวที่พวกเขามีอยู่ ผมมองดูเสื้อผ้านี้ด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ทำได้เพียงแค่โค้งคำนับเขา
       
       "นอกจากนั้น พวกเขายังยอมสละแป้งข้าว ที่มีสำรองเพียงน้อยนิดมาทำอาหารให้ผมเก็บไว้กินตอนเดินทาง"
       
       ยามาซากิ หวนรำลึกภาพครอบครัวนี้ครั้งใด ก็อดไม่ได้ที่จะหลั่งน้ำตา
       "พวกเขารู้ทั้งรู้ว่าผมเป็นทหารญี่ปุ่น แต่ก็ยังช่วยชีวิตผม"
       
       ยังมีคนจีนอีกหลายคนที่ช่วยยามาซากิตลอดการเดินทาง ซึ่งในที่สุด ก็เดินไปจนถึงเมืองจี่หนัน เขาเปลี่ยนชื่อของตน เป็น ซัน ระหว่างที่รอข้ามทะเลกลับญี่ปุ่น เขาได้งานเป็นคนเฝ้าโกดังเก็บเสบียงของกองทัพญี่ปุ่นที่สถานีรถไฟ
       
       ที่นี่ ยามาซากิ ได้เห็นความลำบากของคนจีน เขาแอบเปิดประตูให้คนงานจีนขโมยอาหารประทังชีวิต รวมถึงเสบียงยังชีพอื่นๆ กระทั่งถูกจับได้ จึงโดนสอบสวนโบยตีอย่างทรมาน แต่เขาไม่ยอมเอ่ยปากซัดทอดหรือเป็นพยานว่ามีคนงานจีนคนไหนที่เกี่ยวข้อง
       
       การยอมรับโทษเพียงลำพังในครั้งนั้น ทำให้คนงานจีนรู้สึกถือเขาเสมือนหนึ่งเป็นพี่ชาย ถึงขนาดที่มีเพื่อนจีนคนหนึ่งได้แนะนำหญิงจีนให้เขารู้จัก เธอซึ่งต่อมาได้สมรสเป็นคู่ชีวิตเขา

 

บรรดาเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ทำงานกับเขาในคลีนิค (ภาพใชน่าเดลี)

"เส้นทางสายใหม่"
       ที่จี่หนันนี้ ยามาซากิ ได้ตัดสินใจว่าจะประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์ที่ตนมี และศึกษาเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีนอย่างคร่ำเคร่ง เพื่อเปิดคลีนิคหมอรักษาผู้ป่วยชาวจีนที่ยากจนโดยไม่คิดค่ารักษา และไม่ยอมกลับญี่ปุ่นอีกเลยแม้ว่าสงครามระหว่างจีน - ญี่ปุ่นจะยุติไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2488
       
       "หลังจากที่กองทัพคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2492 ผมได้ฟังเสียงของประธานเหมา เจ๋อตง ที่ประกาศว่าจะดำเนินนโยบายอย่างเป็นมิตรกับชาวต่างชาติทุกคนที่อาศัยอยู่ใน ประเทศจีน ในเวลานั้น ผมรู้สึกตื้นตัน"
       
       ยามาซากิได้งานในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาเก็บเงินเดือนให้กับผู้ยากจนอื่นๆ เขาไม่เคยพูดกับใครเกี่ยวกับความหลังของตนเอง แม้กระทั่งครอบครัว โดยบุตรสาวของเขาเพิ่งจะรู้ว่าพ่อของตนเคยเป็นใคร ก็เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง หลังจากที่บังเอิญไปได้ยินชายคนหนึ่งซึ่งพ่อเขาเคยช่วยรักษาเมื่ออดีต 40 ปีก่อน
       
       แต่ไม่ว่าจะนานเพียงใด ยามาซากิ ไม่เคยลืมความจริงที่เขาเก็บไว้ข้างในเงียบๆ นั่นคือความทารุณที่ทหารญี่ปุ่นได้เคยทำไว้
       
       หลังจาก 40 ปี ที่เข้ามาเหยียบแผ่นดินจีนพร้อมกับกองทัพจักรพรรดิ์ ยามาซากิ ได้กลับไปประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2519 สี่ปีหลังจากที่จีนกับญี่ปุ่นได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูต
       
       "แม้ว่า ครอบครัวของผมที่ญี่ปุ่นจะดีใจมากและต้องการให้ผมกลับมาอยู่ในญี่ปุ่น ผมก็ได้แต่บอกครอบครัวว่า ประเทศจีนคือบ้านของผมแล้ว ผมต้องกลับบ้าน"
       
       ในปีนั้น ยามาซากิทราบข่าวว่า เมืองทากิโมโต บ้านเกิดของเขา ในญี่ปุ่น ต้องการที่จะสานมิตรภาพระหว่างเมืองกับเมืองจี่หนัน เขาจึงอาสาทำงานในโครงการนี้
       
       ยามาซากิ เขียนจดหมายไปถึงนายนากาโซเน่ ยาสุฮิโร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้น ถึงแผนงานของเขา และได้รับจดหมายตอบกลับมาจากนายกฯ
       
       ซึ่งในที่สุดด้วยการร่วมปฏิบัติงานของเขา ทำให้การกระชับความสัมพันธ์ของสองเมืองนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี พ.ศ. 2526 และเขาได้รับจดหมายแสดงความขอบคุณจากทางการทั้งสองเมือง
       
       "ยามาซากิ บอกว่า นี่คือสิ่งดีๆ สิ่งเดียวในชีวิตที่ผมรู้สึกว่าทำสำเร็จ"

 

       ฮิโรชิ ยามาซากิ วัย 101 ปี กับครอบครัวเด็กจีน ในคลีนิคของเขาที่จี้หนัน มณฑลซานตง

ในความจริง ยามาซากิผู้เงียบขรึม ได้ทำมากกว่าที่เขาพูด ทุกๆ ปี ยามาซากิจะอุทิศเงินสวัสดิการที่ตนได้รับจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้กับชาวจีน เขายังได้สอนภาษาญี่ปุ่นให้กับนักเรียนจีนที่สนใจ โดยไม่คิดเงินทอง และออกเดินทำงานกวาดถนนหนทางสาธารณะรอบๆ ที่พักของตน ทุกวัน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้ อีกทั้งอุทิศหนังสือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นจำนวนมากแก่ห้อง สมุดและโรงพยาบาลที่ยากไร้ในเมืองจี่หนัน
       
       เขาเชื่อว่า หนทางที่ดีที่สุดที่จะขอโทษ และชดใช้กับความรู้สึกผิดที่ตนและทหารญี่ปุ่นในครั้งนั้นได้เคยทำไว้ มีแต่เพียงการชดใช้ด้วยการทำความดีต่อคนจีนให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น
       
       เมื่อล่วงสู่วัยชรา บรรดาผู้คนที่เคยรู้จักอดีตของเขาเริ่มสูญหายตายจากไปเกือบหมด จนแทบไม่มีใครรู้จักยามาซากิ ทหารญี่ปุ่นคนนี้อีกต่อไป

 

เส้นทางที่ยามาซากิตั้งใจเมื่อแรกหนีทัพกลับญี่ปุ่นนั้น ได้เปลี่ยนเป็นทางสายใหม่ ซึ่งนำไปสู่การอุทิศตนเพื่อชดใช้และสร้างสันติภาพ
       
       ยามาซากิ วัย 103 ปี เสียชีวิตอย่างสงบด้วยชราภาพ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมานี้ โดยเมื่อครั้งที่เขายื่นคำร้องขอทำบัตรประจำตัวจากทางการจีนนั้น ยามาซากิได้ระบุแนบท้ายไว้ว่า "เมื่อผมตาย ผมขออุทิศร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์แก่ชาวจีน โปรดได้รับร่างกายนี้ไว้ด้วย"


"ตราบใดที่ดวงจันทร์ยังทอแสง ขอให้มนุษย์มีเมตตาต่อกัน" ลายมือของยามาซากิ




หัวใจและความเมตตาปราณีของเขา
มันสูงส่งกว่ารางวัลโนเบล

เกียรติยศของเขาคือความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์
เลอค่าและสถิตย์อยู่ในใจปวงชนนิรันดร์

ศักดิ์ศรีของโนเบล จะหาญเทียบวิญญานที่สูงส่งกระนั้นหรือ

 

 

ขอขอบพระคุณที่มาของบทความและภาพเป็นอย่างสูง

http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175338

http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20101214002954AADnHy3
http://lonesomebabe.wordpress.com/2009/09/13/the-rape-of-nanjing

http://en.wikipedia.org/wiki/Marco_Polo_Bridge_Incident

Credit: http://atcloud.com/stories/97102
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...