ต่อมาชาวอียิปต์ก็เริ่มใช้ โลงบรรจุศพ ก่อน ฝัง เพื่อป้องกันมิให้สัตว์ป่าแทะกินศพ แต่ก็กลับพบว่า ซากศพที่ฝังในโลง ได้เปื่อยเน่าไป ไม่แห้งและอยู่คงทนเหมือนแต่ก่อน เพราะโลงศพทำหน้าที่เก็บกักความชื้นจากร่างกาย เพียงพอที่จะอำนวยให้แบคทีเรียเจริญเติบโต และทำการย่อยสลายให้ศพเน่าเปื่อยสูญไปได้ ต่อมาอีกหลายร้อยปี ชาวอียิปต์ก็ได้ศึกษาทดลองวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะรักษาสภาพศพให้คงทนอยู่ได้ กรรมวิธีในการรักษาศพให้คงทน ประกอบด้วยการแช่อาบศพด้วยสิ่งที่ชะงักการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แล้วพันด้วยแถบผ้าลินิน ปัจจุบันเราเรียกกรรมวิธีนี้ว่า การทำมัมมี่ ขั้นตอนการทำมัมมี่ มีอยู่ 13 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศพถูกนำไปยังเต๊นท์พิเศษ ที่เรียกว่า อีบู ซึ่งมีความหมายว่า สถานที่ชำระศพให้บริสุทธิ์ ผู้ทำมัมมี่จะอาบศพด้วยเหล้าที่ทำจากน้ำตาลสด และชำระล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำไนล์
ขั้นตอนที่ 2 ช่างก็จะผ่าช่องท้องด้านซ้ายเพื่อเอาอวัยวะภายในออก เนื่องด้วยอวัยวะภายใน ซึ่งมีความชื้นสูง จะเป็นสิ่งแรกที่เน่าสลายอย่างรวดเร็ว จึงต้องเอาออก เหลือไว้แต่หัวใจที่จะทิ้งไว้ภายในศพ เพราะพวกเขาเชื่อว่า หัวใจคือศูนย์รวมแห่งปัญญาและความรับรู้ทั้งปวง ที่ผู้ตายยังต้องการใช้ในโลกแห่งวิญญาณ
ขั้นตอนที่ 3 ส่วน ตับ ปอด กระเพาะ และลำไส้ จะถูกนำมาชำระล้างจนสะอาด แล้วนำไปกลบไว้ด้วยเกลือเม็ดที่เรียกว่า Natron ซึ่งเป็นเกลือโซเดียมคาร์บอร์เนต แล้วเขาจะสอดตะขอผ่านเข้าทางช่องจมูก เพื่อเกี่ยวเอาเนื้อสมองออกมา เพราะสมองก็เหมือนอวัยวะภายในที่มีความชื้นสูง ถ้าทิ้งไว้จะทำให้แห้งยาก และก่อให้เกิดการย่อยสลายได้ง่าย
ขั้นตอนที่ 4 จากนั้นก็เอาศพไปวางกลบด้วยเกลือเม็ดให้แห้ง ของเหลวจากร่างกาย และผ้าที่ใช้ในการเตรียมศพทุกชิ้น ก็จะเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อนำไปฝังพร้อมกับศพ
ขั้นตอนที่ 5 ช่องว่างภายในก็ใส่เกลือเม็ดไว้ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย อันจะทำให้ร่างเปื่อยเน่าสูญสลายไปได้
ขั้นตอนที่ 6 ศพจะถูกแช่เกลือไว้สี่สิบวันจนแห้งดี แล้วจะถูกนำมาชำระล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำไนล์อีก แล้วจะเคลือบผิวหนังด้วยน้ำมันเพื่อให้ผิวหนังคงสภาพอ่อนนุ่มไม่แห้งกระด้างไปตามกาล
ขั้นตอนที่ 7 อวัยวะภายในที่แห้งแล้วจากการแช่เกลือ ก็จะถูกนำกลับมาบรรจุในช่องท้องและช่องอกตามเดิม
ขั้นตอนที่ 8 แล้วจะเติมด้วยของแห้งอย่างอื่นให้เต็ม เช่นขี้เลื่อยหรือใบไม้และผ้าลินิน เพื่อให้ดูเหมือนยามมีชีวิตอยู่ ไม่ยุบตัวลงไปตามกาลเวลาในภายหลัง
ขั้นตอนที่ 9 จากนั้นก็จะชำระศพด้วยน้ำมันหอมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปพันผ้าลินินในขั้นต่อไป การพันห่อมัมมี่ ขั้นแรก ศีรษะและลำคอจะถูกพันก่อน ด้วยแถบผ้าลินินอย่างดี แล้วก็จะพันนิ้วมือและนิ้วเท้าแยกกันทีละนิ้ว แล้วก็พันห่อแขนและขา แต่ละทบก็จะใส่เครื่องราง เพื่อปกปักรักษาผู้ตายในระหว่างการเดินทางไปสู่ภพใหม่
ขั้นตอนที่ 11 แล้วแขนขามัมมี่ก็จะถูกพันเข้ากับส่วนร่าง ตำรา “มนตราสำหรับผู้ตาย” ก็จะรวมห่อไปด้วยให้ถือไว้ในมือของมัมมี่
ขั้นตอนที่ 12 จากนั้นก็จะพันผ้าเพิ่มรวมให้ร่างถูกพันรวมกันหมด แต่ละชั้นของผ้าลินิน ผู้ทำมัมมี่ก็จะทาไว้ด้วยเรซิน เพื่อให้ผ้าลินินยึดติดกันไม่หลุดรุ่ยออกได้ง่าย แล้วห่อด้วยผ้าผืนใหญ่อีกทีหนึ่ง จากนั้นก็จะวาดรูปเทพ โอซีรีส บนผ้าที่ห่อมัมมี่นั้น
ขั้นตอนที่ 13 จากนั้นก็เอาผ้าผืนใหญ่ห่ออีกชั้นหนึ่ง แล้วมัดตราสังข์ด้วยแถบผ้าลินินตลอดร่างอย่างแน่นหนาอีกเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็ปิดด้านบนของมัมมี่ด้วยแผ่นกระดานก่อนที่จะเอาไปใส่ในโลงศพสองโลงซ้อนกัน ในพิธีศพ ญาติพี่น้องของผู้ตายมาไว้อาลัยและทำพิธี “เปิดปากศพ” เพื่อเป็นการเลี้ยงอาหารให้ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ขั้นสุดท้าย ก็จะเอาโลงไปใส่ในโลงหินแกะสลัก ที่ตั้งอยู่ในสถานเก็บศพ พร้อมด้วยเครื่องเรือน เสื้อผ้า ของมีค่า อาหารและเครื่องดื่ม จะถูกจัดวางไว้อย่างพร้อมเพรียง เป็นเสบียงกรังให้ผู้ตายได้เดินทางสู่ปรภพโดยสะดวก แล้วร่างของผู้ตาย ก็พร้อมที่จะออกเดินทางสู่ดินแดนใต้โลก ที่ที่หัวใจของเขาจะถูกตัดสินตามความดีที่ได้ทำไว้ยามมีชีวิตอยู่ หากมีหัวใจบริสุทธิ์จริง ผู้ตายก็จะถูกส่งไปดินแดนอันสวยงามเพื่อชีวิตอันเป็นอมตะ ในดินแดนที่เรียกว่า ทุ่งต้นกก ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า ก่อนผู้ตายจะไปยังปรภพได้ ก็ต้องผ่านดินแดนใต้โลก อันเป็นที่ที่เต็มไปด้วยมารร้าย สัตว์ที่ดุร้ายต่าง ๆ ซึ่งผู้ตายจะต้องอาศัยมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องให้เดินทางได้โดยปราศจากภัยร้ายมาแผ้วพาน มนตราเหล่านี้จารึกอยู่ในสมุดบันทึกที่เรียกว่า “มนตราสำหรับผู้ตาย” ซึ่งเป็นตำราเขียนลงบนม้วนกระดาษปาปีรุส และจะถูกฝังไปด้วยกันกับผู้ตายในปิรามิด และก็เป็นการเสร็จสิ้นวิธีการทำมัมมี่…