ฉลองวัดโพธิ์มรดกโลก จัดงานใหญ่ย้อนยุค พ.ย.นี้ (ไทยโพสต์)
เผย "จารึกรัชกาลที่ 1" แห่งวัดพระเชตุพนฯ อายุกว่า 200 ปีเก่าแก่ที่สุดในจารึกวัดโพธิ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก เตรียมจัดงานสมโภชฉลองยิ่งใหญ่ช่วงเดือน พ.ย.54 จำลองบรรยากาศย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 1-3
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก แถลงข่าวการประกาศรับรองจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียน นานาชาติแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร
คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกฯ ประเทศไทย กล่าวว่า จารึกวัดโพธิ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมีจำนวน 1,440 ชิ้น แบ่งเป็นความเรียงและบทกลอน มีเนื้อหาสาระแยกออกเป็นหมวดหมู่ที่รวบรวมสรรพวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนทุกชนชั้นได้ศึกษา เช่น ภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยการนวด ซึ่งเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ตกทอดมาถึงคนรุ่นหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมความรู้ที่มีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานำมาจารึกไว้ เพราะเกรงว่าจะสูญหาย
"จารึก วัดโพธิ์มีคุณค่าในด้านความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจทดแทนได้ หากสูญหายหรือเสื่อมสภาพนับเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ หาเอกสารอื่นใดมาเปรียบเทียบไม่ได้ ด้านความเป็นของแท้ ไม่ใช่สำเนาลอกเลียนหรือของปลอม และ ด้านความเป็นสากลคือ เป็นเอกสารที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาสำคัญในอดีต และมีความสำคัญต่อเนื่องยั่งยืนตลอดไป ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องฤาษีดัดตนเป็นความรู้ที่สากลมาก" คุณหญิงแม้นมาสกล่าว
เนื้อหาจารึกวัดโพธิ์แบ่งเป็นหมวดประวัติศาสตร์ มีจารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯ จารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องพระธาตุนครน่าน รายการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ถอดจากโคลงดั้น และรายการแบ่งด้านปฏิสังขรณ์ถอดจากโคลง
หมวดพระพุทธศาสนา มีจารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ จารึกเรื่องอศุภ 10 และญาณ 10 จารึกเรื่องฎีกาพาหุง จารึกเรื่องพระพุทธบาท จารึกเรื่องธุดงค์ 13 จารึกเรื่องชาดก ตอนนิทานกถา จารึกเรื่องมหาวงศ์ จารึกเรื่องนิรกถา และจารึกเรื่องเปรตกถา
หมวดวรรณคดี จารึกเรื่องนารายณ์ 10 ปาง และเรื่องเบื้องต้นรามเกียรติ์ จารึกเรื่องสิบสองเหลี่ยม หมวดทำเนียบ เรื่องสมณศักดิ์ และหัวเมืองขึ้นกรุงสยาม หมวดประเพณี เรื่องเมืองมอญกวนข้าวทิพย์ เรื่องมหาสงกรานต์และริ้วกระบวนแห่กฐินพยุหยาตราสถลมารค จำพวกบทกลอน อาทิ โคลงดั้นเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์ จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ จารึกตำราเพลงยาวกลบท จารึกตำราโคลงกลบท และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง และจารึกฉันท์พาลีสอนน้อง
พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ กล่าวว่า จารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯ มีอายุกว่า 200 ปี มีความเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของจารึกวัดโพธิ์ทั้งหมด 1,440 ชิ้น มีเนื้อหาการสร้างวัดเริ่มเมื่อปี 2331 อธิบายกระบวนการสร้างวัดอย่างเป็นแบบแผนประเพณี มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากกรุงศรีอยุธยาและสุโขทัยมาประดิษฐานที่วัด โดยใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงบนแผ่นหินชนวนติดไว้ที่พระวิหารทิศตะวันออก ซึ่งประดิษฐานพระพุทธโลกนาถศาสดาจารย์ พระพุทธรูปยืนสูง 10 เมตร หล่อด้วยสำริด อัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงเก่า หลังจากนั้นมีพิธีสมโภชฉลองวัดปี 2344 พระราชทานนามว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ
"มีข้อความที่น่าสนใจมากในจารึกรัชกาลที่ 1 คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งพระราชปณิธานว่า จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ หรือเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เผย
พระราชเวทีกล่าวอีกว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นานถึง 16 ปี 7 เดือน ในครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็นสถานศึกษาให้ความรู้ แก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ และระดมนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระสงฆ์ ช่วยกันรวบรวมสรรพวิชาต่างๆ พร้อมจารึกไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่า การพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้นั้นจะต้องพัฒนาคนให้มีการศึกษาเป็น รากฐานสำคัญ
ดังนั้น เมื่อจารึกวัดโพธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกแล้ว ทางวัดจะมีการจัดงานสมโภชฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว คาดว่าจะเป็นช่วงวันที่ 19-27 พฤศจิกายน 2554 เพื่อประกาศให้คนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาจารึกวัดโพธิ์ให้มากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบการจัดงานจะเน้นจำลองบรรยากาศโบราณในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เคยจัดเมื่อ 200 ปีก่อน ในหลักฐานเอกสารระบุรายละเอียดว่า มีการจัดมหรสพ การละเล่นต่าง ๆ รวมทั้งการเทศนาธรรมด้วย
ส่วนแผนการอนุรักษ์จารึกวัดโพธิ์ คณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้ร่วมมือกรมศิลปากรดำเนินการดูแลและปกป้องสมบัติอันล้ำค่าของชาติให้คงทน ปลอดภัย และไม่ถูกภัยธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และฝีมือมนุษย์ทำลายจนเสียหายได้ จากนี้ไปจะเผยแพร่จารึกวัดโพธิ์ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด