พึงระวัง "2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย" ทำร้ายลูกเล็ก

 

 

 

 

 

พึงระวัง "2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย" ทำร้ายลูกเล็ก

 

 

 

เตือนด้วยความเป็นห่วงกันอีกระลอก สำหรับบ้านที่มีลูกเล็กต่ำกว่า 2 ขวบ ควรระวังความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ดี ๆ โดยเฉพาะ 2 เชื้อร้ายอย่างนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ (NTHi) ที่นำไปสู่ 3 โรคอันตรายในเด็ก ได้แก่ โรคไอพีดี โรคปอดบวม และหูชั้นกลางอักเสบ หากรับมือไม่ทันท่วงทีอาจนำไปสู่ความเสี่ยงร้ายแรงตามมาได้
       
       ดังนั้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านรู้เท่าทัน และช่วยปกป้องลูกน้อยให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้น้อยที่สุด วันนี้ ทีมงาน Life & Family มีข้อมูลทางการแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีมาฝากเป็นความรู้กัน
       
       สำหรับ 2 เชื้อร้ายอย่าง นิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ (NTHi) ทั้ง 2 เชื้อเป็นแบคทีเรียที่พบได้ในโพรงจมูก และลำคอของคนเราทั่วไป แต่มักจะไม่ก่อโรค จนเมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ 2 เชื้อนี้ก็จะก่อให้เกิดโรคอันตรายโดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเชื้อเหล่านี้ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายมาก โดยผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย คล้ายไข้หวัด เช่น ในเวลาไอ หรือจาม และยังเป็นเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ
       
       อย่างไรก็ตาม เชื้อทั้งสองนี้คือสาเหตุหลักที่นำไปสู่ 3 โรคอันตรายในเด็ก ได้แก่ 
       
     โรคไอพีดี
       
       เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อโรคนี้แล้วอาจจะมีโอกาสเสียชีวิต หรือมีความพิการทางสมองได้ สำหรับลูกที่ติดเชื้อในกระแสเลือด จะมีไข้สูง อาจมีภาวะช็อก และต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การนับเม็ดเลือดขาว หรือการเพาะเชื้อในเลือดจึงจะพบเชื้อได้
       
       หากเป็นลูกโรคดังกล่าวนี้ จะมีไข้สูง ซึม หรืองอแง ชัก และอาจมีอาเจียนพุ่ง และตรวจพบว่า กระหม่อมโป่งตึง ซึ่งหากลูกมีอาการผิดปกติดังกล่าวคุณหมอจะต้องเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง ที่สำคัญคือ ต้องรีบให้การรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที เนื่องจากโรคนี้มีความรุนแรงถึงชีวิต
       
       โรคปอดบวม
       
       โรคปวดบวม หรือโรคปอดอักเสบ มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟพบว่า โรคนี้เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของโลกที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิต โดยในแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตถึง 2 ล้านคน สาหรับอาการที่พบส่วนใหญ่ ลูกจะมีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก เมื่อคุณหมอตรวจจะได้ยินเสียงปอดของลูกผิดปกติ รวมทั้งผลการเอ็กซเรย์พบปอดผิดปกติด้วย และหากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีน้ำ หรือหนองในช่องเยื้อหุ้มปอด ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง เสี่ยงอันตรายต่อลูกได้

  ขอบคุณภาพประกอบจาก safbaby.com        หูชั้นกลางอักเสบ
       
       โรคนี้มีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า 80 เปอร์เซ็นของเด็กต่ำกว่า 3 ปี มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยโรคหูชั้นกลางอักเสบมีสาเหตุหลักจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ เป็นโรคติดเชื้อที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักมองข้าม แต่กลับเป็นภัยเงียบที่อันตรายต่อลูกมาก เพราะเด็กจะติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากโรคนี้มักเป็นในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถพูด หรือบอกเราได้ ทำให้ไม่ได้ปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ลูกเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นหูน้ำหนวกได้ ก่อให้เกิดความพิการทางการได้ยิน และอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงพัฒนาการทางภาษา การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตตามมา

  ขอบคุณภาพประกอบจาก todaysparent.com

       นอกจากนี้ ยังนำไปสู่โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ เนื่องจากหูอยู่บริเวณฐานสมอง และมีช่องทางเชื่อมถึงกันได้หมดตั้งแต่สมองจนถึงปอด ดังนั้นหากลูกเป็นโรคดังกล่าวนี้ การที่เชื้อจะกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องง่าย เช่น จากหูไปสู่สมองทำให้เป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้
       
       หากหูชั้นกลางเกิดการติดเชื้อ เด็กอาจมีไข้สูง ร้องกวน งอแง บางรายอาจแสดงอาการว่าปวดในหู โดยใช้มือจับบริเวณหูข้างที่ปวด หรือดึงใบหูตัวเอง แต่บางคนอาจมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ก็ให้พาลูกมาพบหมอเลยนะครับ
       
       โดยทั้ง 3 โรคอันตรายในเด็กที่เกิดจากเชื้อร้าย 2 ตัว เป็นโรคที่รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีรักษาอื่น ๆ ครับ แต่ปัญหาคือการจะรักษาให้หายได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกมารักษาอย่างทันท่วงทีจากการเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อย ซึ่งการวินิจฉัยโรคเหล่านี้อาจจะต้องใช้วิธีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง หรือการเจาะเยื้อแก้วหูเพื่อเพาะเชื้อ นอกจากนี้ปัจจุบันพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้นด้วย
       
       แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะการใส่ใจดูแลลูกน้อยสามารถช่วยเสริมภูมิต้านทานป้องกัน 3 โรคอันตรายนี้ให้ลูกได้มาก ตามวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
       
       - เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้มากที่สุด
       
       - หมั่นใส่ใจดูแลความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ลูก และความสะอาดของผู้ที่ดูแลใกล้ชิดลูกอยู่เสมอ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนให้นม หรือก่อนสัมผัสอาหาร และตัวลูก ตลอดจนปิดปาก และจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม
       
       - หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยออกไปยังสถานที่แออัด หรือก่อโรค เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เนอร์สเซอรี่ เป็นต้น
       
       เพียงเท่านี้ 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย ก็จะห่างไกลจากลูกน้อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกเล็กต่ำกว่า 2 ขวบ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

 

 

 

Credit: http://www.manager.co.th/home/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...