คุณเจ้าของทั้งหลายคงเคยพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพช่องปาก แต่เคยสังเกตมั้ยครับ ว่าเจ้าตูบของคุณมีฟันกี่ซี่ แล้วจะมีฟันแท้หรือฟันน้ำนมเหมือนกับคนรึเปล่า เอ แล้วจะรู้ได้ไงว่าฟันน้องหมาขึ้นเมื่อไหร่ แล้วถ้าฟันน้องหมาเริ่มมีปัญหาล่ะ จะสังเกตได้อย่างไร
น้องหมาจะมีฟัน 2 ชุดคือ ฟันน้ำนมและฟันแท้เหมือนกับคนนั่นแหละคร๊าบ…
ลูกสุนัข (Puppies) จะมีฟันน้ำนม 28 ซี่ โดยแบ่งออกเป็นฟันบน 14 ซี่ และ ฟันล่าง 14 ซี่ และฟันน้ำนมของลูกสุนัขจะเริ่มขึ้นเมื่อสุนัขอายุประมาณ 3 – 4 สัปดาห์
ฟันแท้ของน้องหมาจะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน โดยสุนัขจะมีฟันแท้ ทั้งหมด 42 ซี่ เป็น ฟันบน 20 ซี่และฟันล่าง 22 ซี่
ฟันของน้องหมาจะแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
- ฟันตัด (Incisor) เป็นฟันที่วางตัวอยู่หน้าสุด ทำหน้าที่ในการตัดอาหารเหมือนกับชื่อครับ
ซึ่งฟันตัดมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “ nippers” ครับ
- ฟันเขี้ยว (Canine) วางตัวถัดจากฟันตัดมีหน้าที่ในการฉีกหรือแยกอาหารออกจากกัน
บางครั้งเราก็เรียกว่า “fangs, eye teeth, tusks”
- ฟันกรามน้อย (Premolar) วางตัวถัดจากฟันเขี้ยว รูปร่างและขนาดของฟันเหมาะสำหรับ
การบดอาหาร
- ฟันกรามใหญ่ (Molar) วางตัวถัดจากฟันกรามน้อยทำหน้าที่คล้ายฟันกรามน้อย
- ฟันน้ำนมของลูกสุนัขควรจะหลุดก่อนที่ฟันแท้จะขึ้น ในกรณีที่ฟันน้ำนมยังคงอยู่ในขณะที่ฟันแท้
เราจะเรียกลักษณะนี้ว่า ฟันซ้อน ซึ่งถ้าพบลักษณะนี้ควรรีบพาน้องหมาไปให้คุณหมอ (สัตวแพทย์)
ตรวจดูหน่อยนะครับ
จากการศึกษาพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของน้องหมาที่มีอายุ 3 ขวบ มักจะพบปัญหาโรคเหงือก โดยที่คุณเจ้าของสามารถเห็นอาการเบื้องต้นของโรคเหงือกอันได้แก่ ฟันของน้องหมาจะเริ่มมีการสะสมหินปูนซึ่งจะเห็นเป็นสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลบริเวณขอบเหงือก และจะพบว่าเหงือกสีชมพูสวยใสของน้องหมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เนื่องจากมีการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่าน้องหมาสุดที่รักของคุณยังมีกลิ่นปาก หรือที่เรียกกันว่า ปากเหม็น ร่วมด้วยครับ
ถ้าเมื่อไหร่ที่เจ้าของสังเกตเห็นว่าบริเวณใบหน้าน้องหมาของคุณ ในส่วนที่ต่ำกว่าลูกตามีอาการบวม ให้คุณเจ้าของตั้งข้อสงสัยไว้ได้เลยครับ ว่าน่าจะเกิดจากการติดเชื้อที่ฟันกรามน้อยซี่ที่ 4 และถ้าน้องหมาของคุณมีอาการจามหรือมีน้ำมูก อาจจะเกิดจากการติดเชื้อที่ฟันเขี้ยวบริเวณกรามบนของน้องหมา แต่จะให้ดีและถูกต้องที่สุดควรพาน้องหมาของคุณไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ใจนะครับ
ในสุนัขพันธุ์เล็กมักจะพบปัญหาของโรคปริทนต์ (Periodontal disease) มากกว่าในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เนื่องจากฟันของน้องหมาพันธุ์เล็กจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของช่องปาก
ที่ เล่ามาทั้งหมดหวังว่าคุณพ่อคุณแม่ของน้องหมาทั้งหลายคงเข้าใจเรื่องฟันของเจ้าตูบมากขึ้นแล้วนะครับ แล้วโอกาสหน้า จะมาบอกเล่าเก้าสิบสาระน่ารู้ เกี่ยวกับ ฟ.ฟัน
ของเจ้าตูบให้ทราบนะครับ