ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส. และวิชาการดอทคอม
www.thaihealth.or.th
ความน่ารักและความฉลาดของสัตว์เลี้ยงแสนรู้อย่างสุนัข มักทำให้หลายคนไม่ทันระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น...
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงซึ่งปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาหาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก จากสถิติทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าประมาณ 55,000 รายต่อปี สำหรับประเทศไทย ในปี 2553 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวน 14 ราย และในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการป้องกันโรคในคนและสัตว์กว่า 1,000 ล้านบาท
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง สุนัข แมว หรือหนู กัดหรือข่วน และเกิดการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักคงสภาพอยู่ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ และเสียชีวิตเนื่องจากกล้ามเนื้อและระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาต ในปี 2552 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จึงประกาศให้โรคนี้เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตเป็นอันดับ 1
จากข้อมูลอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ปี 2546-2553 พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีสัดส่วนไม่มาก แต่ทว่าถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยแสดงอาการของโรคแล้วเสียชีวิตทุกราย
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2552-2553 พบข้อมูลที่น่ายินดีว่า มีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงเกือบเท่าตัว โดยปี 2552 มีจำนวน 24 ราย ลดเหลือ 12 รายในปี 2553
หากพิจารณาสัดส่วนผู้ป่วยในแต่ละภาค พบว่า ภาคที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดคือ ภาคกลาง มีจำนวน 11 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ จำนวน 1 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ มีจำนวน 6 ราย รองลงมาคือ สระบุรี สมุทรปราการ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี และตาก จังหวัดละ 1 ราย
องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอนามัยโรค (WHO) ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากโลกภายในปี 2563
แม้ที่ผ่านมา การเสียชีวิตด้วยโรคนี้ในประเทศไทยมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่นับเป็นโรคอันตรายที่ป้องกันได้ อย่างน้อยที่สุดการดูแลสัตว์เลี้ยงภายในบ้านมิให้ป่วยจนกลายเป็นพาหะนำโรค ก็ช่วยลดโอกาสเสี่ยงตายของพลโลกไปได้ไม่มากก็น้อย.