ในช่วงฝนฟ้าคะนองของทุกปี มักพบข่าวการเสียชีวิตของประชาชนจากการถูกฟ้าผ่า และบ่อยครั้งมักเป็น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านหรือประชาชนซึ่งอยู่ใน ที่โล่งแจ้งขณะที่ฝนตก ดังเช่นกรณีล่าสุดมีข่าว
นายสุชาติ เอมศรี อายุ 51 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) เกยไชย จ.นครสวรรค์ ถูกฟ้าผ่า
ขณะที่เดินทาง ออกจากบ้านไปขุดร่องน้ำในที่นาของตนเพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาข้าว ซึ่งในเบื้องต้นมีการ
สันนิษฐานว่านาฬิกาข้อมือของนายสุชาติอาจเป็นสาเหตุ
ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศว กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
ความจริงแล้วโลหะนั้นแทบจะไม่มีผลใดๆ ในการล่อฟ้าเลย ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้นคาดว่าน่าจะเสียชีวิต
จากฟ้าผ่า เนื่องจากมีกระแสวิ่งตามพื้นเป็นจำนวนมาก
"สิ่งสำคัญที่ประชาชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฟ้า ผ่า คือ มนุษย์ไม่เพียงได้รับอันตรายจากการถูก
ฟ้าผ่าโดยตรง แต่ยังมีฟ้าผ่าประเภทอื่นๆ ที่ทำอันตรายได้ กรณีที่พบได้มากคือ กระแสวิ่งตามพื้น คือ จุดที่ถูก
ฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้ายังวิ่งออกไปยังบริเวณโดยรอบ เช่น ฟ้าผ่าต้นไม้ กระแสไฟฟ้าวิ่งจากลำต้นลงมาที่โคน
ต้นไม้และกระจายออกไปตามพื้นดินที่มีน้ำ เจิ่งนอง ถ้าเป็นคนยืนอยู่ใกล้ต้นไม้ ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่ต้นไม้
กระแสไฟฟ้าวิ่งลงดิน ผ่านขา ผ่านหัวใจ ผ่านไขสัน หลัง ผ่านสมอง ทำให้หายใจไม่ออก หัวใจอาจจะเริ่ม
หยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด" ดร.คมสันกล่าว
"นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากฟ้าผ่าอีกสองประเภท คือ ไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า
เช่น หากหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า เสาอากาศ และมีบางส่วนของร่างกายแตะกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า กระแส
ไฟฟ้าก็จะไหลเข้าสู่ลำตัวได้โดยตรง และไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง คือ หากคุณอยู่ใกล้ต้นไม้ หรือโครงไม้ของ
เพิงที่เปิดด้านใดด้านหนึ่ง กระแสไฟฟ้าอาจ "กระโดด" เข้าสู่ตัวคุณทางด้านข้างได้ โดยแม้ว่าคุณจะไม่ได้
แตะจุดที่ฟ้าผ่าเลยก็ตาม"
"ทุกบริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียง
แต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ จุดที่สูง เช่น ต้นไม้ อาคารสูง ในบริเวณที่โล่งแจ้ง เช่น
สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ ฯลฯ
สำหรับสถานที่หลบภัยจากฟ้าผ่า คือ หลบภายในตัวอาคาร หรือรถยนต์ที่ปิดกระจก โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่
สัมผัสกับวัสดุที่เชื่อมต่อกับอาคารหรือตัวรถด้านนอก ซึ่งอาจถูกฟ้าผ่าได้ งดการใช้โทรศัพท์แบบมีสาย
ถอดปลั๊กโทรทัศน์ และไม่ควรเล่นอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์ ขณะที่คนซึ่งอยู่กลางแจ้งเมื่อเกิด
ฟ้าผ่าให้นั่งยองๆ ก้มศีรษะเพื่อลดตัวให้ต่ำที่สุด เท้าชิดกันและเขย่งเล็กน้อยเพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟ
ไหลมาตามพื้น" ดร.คมสันกล่าวทิ้งท้าย