หลักเมือง

การสร้างหลักเมือง เป็นประเพณีของไทยมาแต่สมัยโบราณ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการสร้างเมืองต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสิ่งที่คู่กันกับเมืองที่สร้างขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อทรงสร้างกรุงเทพมหานครฯ ได้ทรงประกอบพิธีสร้างหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ฤกษ์เวลา 6.45 น. ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ได้ดวงชะตาของเมืองลงในแผ่นทองคำ ดังนี้

ลัคนาสถิตราศีเมษ กุมอาทิตย์ เกตุอังคารอยู่ราศรีพฤกษภ มฤตยูอยู่ราศีเมถุน จันทร์ราศีกรกฎ เสาร์และพฤหัสราศีธนู ราหูศุกร์ และพุธราศีมีน

        เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทร์ประทับนอก ขนาดยาว 187 นิ้ว ลงรักปิดทอง มีเม็ดยอดสวมที่ปลายหลัก ภายในกลวงเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาพระนคร มียันต์โสฬสมงคล ทำด้วยแผ่นศิลาสำหรับรองเสาหลักเมือง มียันต์พระไตรสรณาคมน์ ทำด้วยแผ่นเงิน ปิดที่ปลายเสาหลักเมือง และ ยันต์องครักษ์ ธาตุทั้งสี่ทำด้วยแผ่นเงินเช่นกัน สำหรับปิดที่ต้นเสาหลักเมือง แล้วขุดดินในพระนครจากทิศทั้งสี่ ปั้นเป็นก้อน สมมติเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำพิธีใส่ลงในหลุมสำหรับฝังเสาหลักเมือง แล้ววางแผ่นศิลาบนดินทั้งสี่ก้อน จากนั้นจึงเชิญ เสาหลักเมืองลงหลุมโดยวางบนแผ่นศิลา หลักเมืองในครั้งนั้นไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างปกคลุมเหมือนปัจจุบัน มีเพียงศาลากันแดดกันฝนเท่านั้น ไม่มีเทพารักษ์รวมอยู่ด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ ตัวศาลเป็นรูปปรางค์ยอดตามแบบเดิม ที่กรุงศรีอยุธยา แล้วจัดพระราชพิธีบรรจุ พระชาตาพระนคร โดยจารึกลงบนแผ่นสุพรรณบัฏในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเชิญบรรจุบนยอดหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมเก้าค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช 1215 ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2396 
        

        ประเพณีโบราณเกี่ยวกับการสร้างเมืองจะต้องทำพิธีอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น สิ่งนั้น คือ การยกเสาหลักเมืองขึ้นในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ ให้เป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรสำหรับยึดถือเป็นหลักชัยทางจิตใจว่า บ้านเมืองที่สร้างขึ้นนั้น มีรากฐานฝังไว้อย่างแน่นอนแล้ว รวมทั้งเป็นที่อาศัยแห่งขวัญและจิตใจของประชาชน เพราะประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมือง เพื่อประชาชนมีจิตใจมั่นคง มีความเชื่อในหลักเมืองที่ได้สร้างขึ้นแล้ว ก็จะผดุงกำลังใจให้มั่นคงแน่วแน่ในการดำรงชีพ และอยู่เย็นเป็นสุขรุ่งเรืองสถาพรตลอดไป บ้านเมืองใดจะสงบราบรื่น ชาวประชาจะผาสุกสะดวกสบาย โบราณเชื่อว่าขึ้นอยู่กับดวงชะตาของเมือง มีการผูกดวงชะตาของเมืองไว้ กรุงรัตนโกสินทร์ของเราก็เช่นเดียวกัน การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองมากตามพระตำรา ที่เรียกว่า พระราชพิธีพระนครสถานโดยเฉพาะ กล่าวโดยย่อคือ ท่านให้เอาไม้ชัยพฤกษ์มาทำเป็นเสาหลักเมือง เอาไม้แก่นประดับนอก กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดินแล้ว 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดสวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง หลักเมืองในสมัยต้นๆ ไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างปกคลุมเหมือนอย่างทุกวันนี้ คงเป็นเพียงศาลาปลูกไว้กันแดดกันฝนเท่านั้น และมีแต่เสาหลักเมืองอย่างเดียว ไม่มีเทวดาต่างๆ เข้าร่วมอยู่เหมือนปัจจุบัน ปรากฏมาชำรุดมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่ แล้วบรรจุดวงชะตาเมืองให้เรียบร้อย ลงด้วยแผ่นทองคำหนัก 1 บาท ประกอบพิธีที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการบรรจุดวงชะตาเมืองครั้งนี้โปรดให้ก่อสร้างศาลาขึ้นใหม่ ให้เป็นยอดปรางค์ตามแบบอย่างศาลาที่พระนครศรีอยุธยา คือแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในศาลาเจ้าพ่อหลักเมืองทุกวันนี้ นอกจากหลักเมืองแล้ว รอบๆ หลักเมืองมีเทพารักษ์อยู่ 5 องค์ เทพารักษ์เหล่านี้ 4 องค์เป็นเทพารักษ์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ และปิดทองหมด ส่วนอีกองค์หนึ่งแกะสลักรูปเทพารักษ์ด้วยไม้แล้วปิดทอง ทั้ง 5 องค์นี้เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ

1. เทพารักษ์หรือเจ้าพ่อหอกลอง

2. เทพารักษ์พระเสื้อเมือง คุ้มครองป้องกันทางบก ทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากรครอบคลุมเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข

3. เทพารักษ์พระทรงเมือง มีหน้าที่ป้องกันไพร่ฟ้าประชาชนทั่วประเทศ มีปู่เจ้าเขาเขียว ปู่เจ้าสมิงพราย เป็นบริวาร

4. เทพารักษ์พระกาฬ มีหน้าที่ป้องกันมิให้ผู้คนทำความชั่ว ป้องกันความเจ็บไข้ มีธุระสอดส่อง บุคคลอันธพาลทั้งหลายในยามค่ำคืน ด้วยการขี่นกแสกออกตรวจตราบุคคลใด

5. ถึงฆาตก็นำตัวไปให้พระยมชำระ ถ้ามีความดีก็ส่งขึ้นไปสวรรค์ถ้าทำความชั่วก็ส่งลงนรก

6. เทพารักเจ้าพ่อเจตคุปก์ เทพารักษ์องค์นี้แกะด้วยไม้แต่ปิดทองทั้งองค์ สูง 1.33 เมตร

        ความเคารพนับถือของประชาชนพลเมือง ที่มีต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ก็กล่าวได้ว่าเป็นอเนกอนันต์ ที่หน้าศาลรอบๆ บริเวณและภายในศาลมีผู้คนเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาและถวายดอกไม้ตลอดจนเครื่องบวงสรวงสังเวย ไม่ขาดวัน มีละครชาตรี ลิเกเล่นถวาย ตั้งแต่เช้าจรดเย็นค่ำ กลิ่นดอกไม้ธูปเทียนหอมฟุ้ง ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเคารพ ถ้านั่งรถผ่านหรือเดินผ่านก็จะยกมือไหว้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าท่านมีหน้าที่คุ้มครองพระราชกำหนดกฎหมาย ให้ขุนศาลตุลาการดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรม เป็นหลักค้ำจุนบ้านเมืองมิให้ซวนเซ เพราะบ้านเมืองถ้าขาดหลักเมืองเสียแล้ว ก็หาความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรได้ไม่ หลักเมืองจึงเป็นหนึ่งในความสำคัญของการสร้างเมือง.

 

 การสร้างหลักเมือง

        โบราณถือว่าพิธีสร้างพระนครหรือสร้างบ้าน สร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง ต้องฝังเสาหลักเมือง การฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาทต้องเอาคนที่มีชีวิตทั้งเป็น ลงฝังในหลุม เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูมิให้มีโรคภัย ไข้เจ็บเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองนครบ้านเมือง ในการทำพิธีกรรมดังกล่าว ต้องเอาคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มา ฝังลงหลุม จึงจะศักดิ์สิทธิ์ และขณะที่นายนครวัฒ เที่ยว เรียกชื่อ อิน จัน มั่ง คง ไปนั้น ใครขานรับขึ้นมาก็จะถูกนำตัวไปฝังในหลุม หลุมเสาหลักเมืองนั้นจะผูกเสาคานใหญ่ชักขึ้นเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วย เส้นเชือกสองเส้นหัวท้ายให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามทางนอนเหมือนอย่างลูกหีบครั้นถึงวันกำหนดจะกระทำการ ก็เลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว แห่แหนนำไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้บุคคลทั้งหมดนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ และให้เร่งแจ้งข่าวให้รู้กันทั่ว เมื่อคนมาชุมนุมกัน เขาก็ตัดเชือกปล่อยให้เสาหรือซุงหล่นลงมาทับให้อยู่ในหลุม คนไทยเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกว่า ผีราษฎร คนสามัญบางคน ก็กระทำวิธีนี้แก่ทาสของตน ในทำนองเดียวกันนี้เพื่อใช้ให้ เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อนไว้ ตัวอย่าง การสร้างราชธานีใหม่ของพม่า เมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจึงมีกำแพงกันสี่ด้าน แต่ละด้านมีประตูเมือง 3 ประตู รวมเป็น 12 ประตูด้วยกัน การฝังอาถรรพ์ก็เป็นคนเป็นล้วนๆ ถึง 52 คน ฝังตามประตูเมืองประตูละ 3 คน 12 ประตู รวมเป็นทั้งหมด 36 คน และเฉพาะใต้พระที่นั่งในท้องพระโรงต้องฝังถึง 4 คน คนที่ถูกฝังทั้งเป็นเพื่อเป็นผีคอยรักษาเมืองและพระราชวังนั้นต้องเลือกให้ได้ลักษณะตามที่โหรพราหมณ์กำหนด ไม่ใช้นักโทษที่ต้องโทษประหาร แต่จะเป็นคนที่อยู่ในวัยต่างๆ กันมีตั้งแต่คนมีอายุ จนถึงเด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทุกคนต้องมีฐานะดีเป็นที่ยกย่องในกลุ่มชน และต้องเกิดตามที่โหรกำหนด ถ้าเป็นชายต้องไม่มีรอยสัก ผู้หญิงต้องไม่เจาะหู เมื่อสั่งเสียล่ำลาญาติพี่น้องแล้วก็จะถูกนำตัวไปลงหลุม ญาติพี่น้องก็จะได้รับพระราชทานรางวัล

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 บ้านฝันดอทคอม
Credit: http://www.panyathai.or.th/
5 มิ.ย. 54 เวลา 02:29 1,477 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...