ตำนานรักยม "รัตตะกุมาร" กับ "ยมกะกุมาร"

ตำนานรักยม "รัตตะกุมาร" กับ "ยมกะกุมาร"

มีตำนานเล่ากันมาว่า ในกาลครั้งหนึ่งในราวป่าหิมวันต์อันเป็นที่เงียบสงบวิเวก เป็นที่พำนักของเหล่าฤๅษีชีไพร และในบรรดาฤๅษีเหล่านั้นมีพหลปิติฤๅษีอยู่องค์หนึ่งผู้เป็นใหญ่กว่าฤๅษีทั้งปวง วันหนึ่งพหลปิติฤๅษีได้ออกจากอาศรม ขณะเดินผ่านสระน้ำแห่งหนึ่งที่มีดอกบัวชูช่อดารดาษ ได้เหลือบเห็นกุมารน้อยคู่หนึ่งนอนอยู่ในรัตนอุบล จึงได้นำเอามาเลี้ยงไว้ยังอาศรม และให้ชื่อว่า"รัตตะกุมาร" กับ "ยมกะกุมาร"

ครั้นกุมารทั้งสองเจริญเติบโต พหลปิติฤๅษีได้ถ่ายทอดสรรพวิทยาคมให้จนหมดสิ้น สำหรับรัตตะกุมารนั้นกล่าวกันว่าเป็นมานพน้อยมีรูปโฉมงดงามเป็นยิ่งนัก ส่วนยมกะกุมารเล่าแม้จะด้อยในรูปสมบัติไปบ้างแต่ก็มีความเชี่ยวชาญในเชิง กระบวนยุทธ์ และเวทมนตร์คาถายิ่งนัก อยู่มาวันหนึ่งกุมารทั้งสองก็ขอลาพระอาจารย์เข้าไปในบ้านในเมือง ด้วยความปรีชาสามารถของกุมารทั้งสองจึงได้รับราชการอยู่กับพระราชา ด้วยเหตุที่รัตตะกุมารเป็นมานพน้อยรูปงาม จึงเป็นที่เสน่หาแก่ราชธิดาเป็นอย่างยิ่ง แต่ความรักของรัตตะกุมารกับพระราชธิดาต้องมีอุปสรรค ด้วยชาติตระกูลไม่คู่ควร พระราชาจึงขัดขวางความรักของทั้งสองคน ฝ่ายรัตตะกุมารพอทราบเรื่องเข้าก็เกิดความโกรธแค้น จึงก็ละเมิดคำสอนของพหลปิติฤๅษีลอบปลงพระชนม์พระราชาจนสิ้นพระชนม์ เมื่อล้างแค้นได้สำเร็จ จึงได้สำนึกผิดกลับมาสารภาพกับพระอาจารย์ พหลปิติฤๅษีจึงให้รัตตะกุมารสละเพศฆราวาสออกบวชบำเพ็ญเพียรจนสิ้นอายุขัย รัตตะกุมารก็บำเพ็ญเพียรตลอดมา ครั้นกาลก่อนจะสิ้นอายุขัยของพหลปิติฤๅษี ท่านได้ถามรัตตะฤๅษีว่า "ปรารถนาพรอันใด" รัตตะฤๅษีจึงขอพรว่า "แม้นไปเกิดในชาติปางใดก็ดีขอให้มีเสน่ห์เป็นที่รักแก่คนทั้งปวง ขออย่าให้มีศัตรูด้วยประการใดๆ เลย" พหลปิติฤๅษีจึงว่า "ท่านเป็นผู้ฆ่าผู้เบียดเบียนอยู่ จักยังไม่ไปเกิดในมนุษย์โลกได้ทันทีหรอก แต่ด้วย บุญบารมีที่ท่านได้สร้างสมไว้แต่ปัจจุบันชาติในบั้นปลายแห่งชีวิต กรรมจะมีปัจจัยให้ท่านเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งมีชีวิตแต่หามีจิตใจไม่ วัตถุสิ่งนั้นจงมีคุณดังคำขอนั้นเถิด"

กาลต่อมาเมื่อรัตตะฤๅษีสิ้น อายุขัย มีหลุมฝังศพรัตตะฤๅษีนั้นต่อมาได้บังเกิดพืชชนิดหนึ่งมีดอกซ้อน มีสรรพคุณเป็นที่รักที่ชอบแก่คนทั้งหลาย สมดังพรของพหลปิติฤๅษี คนทั้งหลายพากันเรียกว่า "ต้นรักซ้อน" ส่วนยมกะกุมาร ต่อมาก็มาออกบวชจำศีลภาวนาอยู่ที่อาศรมของรัตตะฤๅษีผู้เป็นสหายจวบจนสิ้น อายุขัย และ ณ ตรงที่ฝังศพยมกะฤๅษีก็เกิดพันธุ์ไม้ชูช่อส่งผลอยู่เคียงคู่กันกับต้นรักซ้อน คนทั้งหลายพากันเรียกว่า "ต้นยมมะ" แล้วต่อมาภายหลังได้เพี้ยนเป็น "ต้นมะยม" ด้วยมูลเหตุเหล่านี้จึงมีการคิดประดิษฐ์แกะรูปเด็กจากต้นรักซ้อนและต้นมะยม คนหนึ่งขาว คนหนึ่งดำ อันหมายถึงรัตตะกุมารและยมกะกุมาร แล้วลงอักขระเลขยันต์ตามตำราวิชาไสยศาสตร์แล้วให้ชื่อว่า  "รักยม"  ด้วยประการฉะนี้แล

Credit: http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539204065&Ntype=49
5 มิ.ย. 54 เวลา 02:06 8,646 17 270
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...