พุทธศาสนากับศิลปะแบบตันตระ
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ ได้จัดนิทรรศการทางศิลปะขึ้นมา ในงานนี้มีการนำพระพุทธรูปแบบ “ตันตระ” (Tantra) ของทิเบตซึ่งมี “ทาระ” (Tara) หรือ “คู่ครอง” สวมกอดอยู่ด้านหน้ามาแสดงหลายองค์ด้วยกัน บังเอิญชาวพุทธแบบ “เถรวาท” ของไทยไปพบเห็นเข้า ได้นำรูปถ่ายของพระพุทธรูปนี้ร้องเรียนไปยังหนังสือพิมพ์รายวันของไทยฉบับหนึ่ง หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นได้พาดหัวข่าวในหน้าแรกว่า พิพิธภัณฑ์ในเกาหลีใต้แห่งนั้นกำลังกระทำการที่เป็นการลบหลู่พระพุทธศาสนา ทำให้ชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความไม่พอใจ จนถึงกับมีข่าวว่าจะมีการเดินขบวนประท้วงไปยังสถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงเทพฯ
อันที่จริงแล้วพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปแบบ “วัชรยาน” (Vajrayana) อันเป็นศิลปะแบบ “ตันตระ” ของทิเบต ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาในหมู่ประชาชนชาวทิเบตมานานหลายชั่วอายุคน ถ้าหากจะประท้วงเราก็กำลังประท้วงขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชนชาติอื่นที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปี นับว่ายังโชคดีที่ข่าวการเดินขบวนประท้วงดังกล่าวได้เงียบหายไปเสียก่อน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวพุทธไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาฝ่ายอื่นที่นอกเหนือจากฝ่าย “เถรวาท” ที่ตนเคารพนับถืออยู่อีกมาก
พระพุทธศาสนาฝ่าย “วัชรยาน” หรือ “ตันตระ” เกิดขึ้นในอินเดียในยุคสมัยที่ลัทธิตันตระ (Tantricism) กำลังเฟื่องฟู ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้นลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อทั้งปรัชญาและศาสนาในอินเดียอย่างใหญ่หลวง จนทำให้เกิดศาสนาฮินดูแบบตันตระ ศาสนาเชนแบบตันตระ และพระพุทธศาสนาแบบตันตระขึ้น โดยที่ลัทธิตันตระได้ยกย่องและเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงขึ้นมา “เทพเจ้า” ทุกพระองค์ในคติความเชื่อแบบตันตระ (ซึ่งรวมทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย) จึงมี “ทาระ” (คู่ครอง) สวมกอดอยู่ ดังที่แสดงออกในศิลปะแบบตันตระ
ปฏิมากรรมหรือจิตรกรรมแบบตันตระ ซึ่งมีเทพเจ้าเพศหญิงและเพศชายสวมกอดกันอยู่นั้น ชาวทิเบตเรียกว่า “ยับ-ยุม” (yab-yum) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าอย่างอื่น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอธิบายว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยที่เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของ “ปัญญา” ขณะที่เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของ “กรุณา” (ซึ่งตรงข้ามกับสามัญสำนึกของคนในยุคปัจจุบัน) ตามทรรศนะแบบตันตระ ปัญญาเปรียบเหมือนดวงตา กรุณาเปรียบเหมือนแขนขา หากขาดดวงตาแล้วแขนขาก็กระทำการอย่างมืดบอด หากขาดแขนขาแล้วดวงตาก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ดวงตาและแขนขาจึงต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ ปัญญาและกรุณาต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวจึงจะเป็นการตรัสรู้ที่สมบูรณ์
พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ ซึ่งเป็นผลรวมของพระพุทธศาสนาและลัทธิตันตระนั้น มีทรรศนะในเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ตามคำสอนของพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนซึ่งรักษาศีลห้า สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองได้โดยมิได้ละเมิดคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด สำหรับฆราวาสแล้วศีลข้อที่สามห้ามเพียงมิให้มีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสเท่านั้น พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระถือว่า เรื่องเพศเป็น “วิถีทาง” หรือ “อุบาย” อย่างหนึ่งในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้ แทนที่จะไม่เอ่ยถึงและปล่อยให้ฆราวาสเกี่ยวข้องกับกามคุณอย่างไร้ทิศทาง พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระกลับสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วย “สติ” เพื่อที่จะเรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน และเพื่อว่าจะเอาชนะมันได้ในที่สุด พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระอุปมาว่า เพื่อที่จะเอาน้ำออกจากหู เราต้องกรอกน้ำเข้าไปในหูอีก หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง ดังนั้นในการเอาชนะกามคุณ เราต้องรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมัน ถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมันแล้ว ก็ย่อมไม่อาจอยู่เหนือมันได้
สำหรับบรรพชิตผู้ครองเพศพรหมจรรย์จะต้องใช้วิธีการอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากกิเลสทั้งหลายรวมทั้งกามคุณด้วยนั้นเกิดขึ้นจาก “ความคิด” พระพุทธศาสนาจึงสอนให้สานุศิษย์เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของความคิด เพื่อที่จะ “เห็น” ความคิดและตัดกระแสของความคิดได้นั้น “ความรู้สึกตัว” (สติ) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น “การเจริญสติ” จึงเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามในพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ การเพ่งภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ในระหว่างการทำสมาธิภาวนา เพื่อการอยู่เหนือกามคุณทั้งปวง
การยกย่องเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับเทพเจ้าเพศชายในพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระนั้น ได้ให้พื้นฐานที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคในด้านศาสนา พระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน หรือตันตระ ได้เผยแผ่และตั้งมั่นอยู่บนที่ราบสูงทิเบตเป็นหลักใหญ่ ชาวทิเบตแต่ดั้งเดิมนั้นเป็นชนเผ่าเร่ร่อนและเชี่ยวชาญการรบพุ่ง อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวัฒนธรรมทิเบตมายาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี และได้เปลี่ยนชนเผ่าเร่ร่อนที่ดุร้ายนี้ให้กลายเป็นชาวทิเบตผู้รักสันติในปัจจุบัน
การยึดครองทิเบตของจีน และการที่ทะไลลามะและพระทิเบตจำนวนมากลี้ภัยการเมืองออกจากทิเบตไปอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองธรรมศาลาอันเป็นที่ประทับของทะไลลามะนั้น ในทางหนึ่งนับเป็นการนำพระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานไปเปิดเผยต่อโลกภายนอกเป็นครั้งแรก การเดินทางของทะไลลามะพร้อมด้วยพระทิเบตไปในโลกตะวันตก เพื่อรณรงค์ทางการเมืองระหว่างประเทศให้ทิเบตเป็นอิสระจากจีนนั้น ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการนำพระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานเข้าไปเผยแผ่ในโลกตะวันตก ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานหรือตันตระได้รับความนิยมจากชาวตะวันตกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจวบกระทั่งปัจจุบัน
การลี้ภัยของทะไลลามะ และพระทิเบตไปสู่ประเทศอินเดียนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา อาจเป็นไปได้ว่าทะไลลามะและพระทิเบตเหล่านั้นอาจประสบความสำเร็จ ในการนำพระพุทธศาสนากลับคืนไปสู่ทางเหนือของอินเดีย ดินแดนอันเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๔๑๗. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
จาก
http://www.duangden.com/Buddhism/Tantra.html