ไอได้ไม่เลือกหน้า แต่ไอเรื้อรังเป็นนานๆ เสี่ยงอันตราย ไอแล้วตายเกิดได้ถ้าปล่อยไว้นาน
อาการ ‘ไอ’ ความเจ็บป่วยพื้นฐานที่เป็นกันได้ถ้วนหน้า เมื่อใดมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไประคายเคืองหลอดลม เช่น เสมหะ หรือมีบางสิ่งกดทับหลอดลมหรือเนื้อปอด อาทิ ก้อนเนื้องอก ก้อนมะเร็ง ร่างกายจะแสดงอาการไอ ซึ่งถือเป็นกลไกป้องกันตนเองเพื่อขับสิ่งไม่ประสงค์ออกจากร่างกาย
ลักษณะอาการไอมีด้วยกัน 2 ชนิด อย่างแรกเรียกว่า ‘ไอมีเสมหะ’ ไม่ว่าจะมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว ก็เป็นการบ่งบอกว่าเกิดการติดเชื้อไวรัส อีกชนิดเรียก ‘ไอแบบแห้ง’ สาเหตุมาจากแพ้อากาศ หรือเกิดการระคายคอ หลอดลม รวมถึงความเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งปอด
ทว่า อาการไอ จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งในช่วงที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ คออักเสบ หอบหืด กระทั่งอาการป่วยทุเลาและหาย อาการไอก็จะหมดไปด้วย
แต่ถ้าไอแบบเรื้อรัง หรือไอนานเกิน 3 สัปดาห์ แล้วน้ำหนักตัวลดลง รู้สึกเบื่ออาหาร มีไข้เกิดขึ้นเกือบตลอด และไอมีเลือดปน ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย และอันตรายมากยิ่งกว่าหากเกิดขึ้นกับผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด โดยผู้ที่มีอาการดังกล่าว อาจกำลังถูกคุกคามด้วยโรคร้ายอย่าง มะเร็งปอด วัณโรค ถุงลมโป่งพอง จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด
อันตรายจากการเพิกเฉยต่ออาการไอเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดอาจติดเชื้อไวรัสจนอักเสบ อาการไอก็ไม่หายขาด ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
สำหรับการเยียวยาอาการไอด้วยตนเอง อาจใช้ยาอมแก้ไอ ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ยาแก้ไอฤทธิ์กดอาการไอ จะมีผลข้างเคียงคือ ง่วงซึม ขณะที่ชนิดระงับอาการไอ มักมียาฆ่าเชื้อผสมอยู่ ช่วยลดการระคายเคือง ไม่ทำให้รู้สึกง่วง แต่ไม่ว่าจะชนิดใด ไม่ควรซื้อจากร้านขายยามารับประทานเองแบบต่อเนื่อง เพราะอาจแก้ไขไม่ถูกจุด ดังนั้น หากอมยาอมแก้ไอแล้วไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์เป็นวิธีที่ดีที่สุด.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com