ทำไม Vote No ดีกว่าเลือกทุกพรรค

ถาม -การรณรงค์ให้ประชาชนออกมา “Vote No” หรือกาช่อง “ไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด"ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
       
       ตอบ-ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่า
       
       มาตรา 67 การลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมายไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งในบัตรเลือกตั้ง
       
       และการที่กฎหมายประกอบการเลือกตั้งบัญญัติสิทธิของประชาชนเอาไว้ตามมาตรา 67 ดังนั้น จึงชี้ช่องให้เห็นว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้อง “จำนน” ต่อนักการเมือง แต่ยังมีช่องทาง Vote No หรือการกาช่องไม่เลือกใคร เป็น “สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตย
       
       ถาม-ทำไมพันธมิตรฯ ต้องรณรงค์โหวต โน ทำไมพันธมิตรฯ ไม่เล่นตาม “กติกา” ทั้งที่มีฉันทามติให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อลงไปสู่การเมืองในระบบอยู่แล้ว
       
       ตอบ-คำถามนี้ตอบง่าย เพราะการ Vote No ก็เป็นกติกาตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนที่พรรคการเมืองใหม่ไม่ควรลงเลือกตั้งก็เพราะพรรคการเมืองอุดมคติแบบพรรคการเมืองใหม่ไม่มีทางได้รับเลือกเข้าสภา ถ้าไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เพราะ กกต.ท่านหนึ่งออกมายืนยันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างมโหฬาร ดังนั้น ถ้าเราเรียกระบบการเมืองที่เป็นอยู่ว่า การเมืองน้ำเน่า การปล่อยปลาดีลงไปว่ายในน้ำเน่าจึงไม่มีประโยชน์อะไร
       
       ถาม-การ “Vote No” คือ การไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใด มีผลดีผลเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับการ No Vote หรือการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
       
       ตอบ-การ Vote No หรือการไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร เป็นการสะท้อนความไม่พอใจต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครพรรคใด แต่การ No Vote หรือการไม่ไปลงคะแนนคือ การนอนหลับทับสิทธิ และเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ใช้เงินและมีเงินทุนพรรคซื้อเสียงเข้ามาในสภา และเข้ามาทุจริตเพื่อถอนทุนภายหลัง
       
       นอกจากนั้นมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่ไปใช้สิทธิได้ย่อมได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
       
       ถาม-กลุ่มคนที่นิยมทักษิณหรือกลุ่มคนเสื้อแดงก็จะเลือกพรรคของทักษิณอยู่แล้ว ทำให้คนบางคนกลัวว่า ถ้ายิ่งเลือก ปชป.น้อยลงเท่าไหร่ก็จะเปิดโอกาสให้ระบอบทักษิณและพรรคของทักษิณกลับมาบริหารประเทศจริงหรือไม่
       
       ตอบ-การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีการใช้อำนาจรัฐและมีการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจคือ พรรคเพื่อแผ่นดินเพื่อดึงนักการเมืองจากพรรคของทักษิณ แต่ผลการเลือกตั้งยังปรากฏว่า พรรคของทักษิณยังชนะการเลือกตั้ง และเวลานั้นแม้พันธมิตรฯ ส่วนใหญ่จะเลือก ปชป.ก็ยังแพ้พรรคของทักษิณ ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินที่แยกตัวออกมาจากทักษิณได้รับการเลือกตั้งเข้ามาน้อยมาก ทำให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเที่ยวที่แล้วนั้น ล้วนมาจากภาคอีสานซึ่งเป็นฐานของทักษิณ ดังนั้นเลือกตั้งเที่ยวหน้า ส.ส.พรรคภูมิใจมีโอกาสสูงที่จะสอบตกกันระนาวเช่นเดียวกับพรรคอื่นที่แยกตัวออกมาในครั้งที่แล้ว
       
       ส่วน ปชป.เมื่อพันธมิตรฯ รณรงค์ Vote No (หรือถ้า กมม.ลงเลือกตั้ง) ก็เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า คะแนนพรรคจะลดน้อยลงไป แต่คะแนนของพรรคทักษิณจะมีความมั่นคงกว่า แม้ว่าเที่ยวที่แล้วคะแนนของ ปชป.จะเป็นรองพรรคของทักษิณไม่มากนัก แต่เมื่อเกิดปัจจัยนี้ชัดเจนว่าคะแนนของ ปชป.จะแพ้อย่างราบคาบ
       
       ถาม-แม้ว่า พรรคของทักษิณชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันอาจรวมตัวกันแล้วได้เสียงมากกว่าและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในกรณีที่พรรคของทักษิณหรือพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนไม่เกินครึ่งของจำนวน ส.ส.
       
       ตอบ-โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะยังผนึกกำลังกันแน่นมีความเป็นไปได้ แต่ดูจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่องพรรคของทักษินชนะเลือกตั้งและมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน แม้ว่าขณะนั้นจะอยู่ภายใต้อำนาจของ คมช.แต่กระทั่งพรรคที่ทหารตั้งมาอย่างพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคของนายบรรหารที่รับปากประชาชนว่าจะจับมือกับขั้ว ปชป.ยังหันไปจับมือกับพรรคของทักษิณ ดังนั้นครั้งนี้จึงไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่พรรคร่วมจะรักษาคำมั่นสัญญา เพราะเคยทำลายคำมั่นสัญญามาแล้ว
       
       ถาม-ถ้าอย่างนี้ยิ่งมีคนไป Vote No มาก ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคของทักษิณและการ Vote No จะเป็นคะแนนที่เสียเปล่าเหมือนเอาคะแนนไปเททิ้งน้ำหรือปิ้งปลาประชดแม้ว
       
       ตอบ-คำถามนี้ไม่ต้องตอบเลยถ้ามั่นใจว่า ปชป.จะชนะพรรคทักษิณได้แม้ว่าพันธมิตรฯ จะ Vote No และพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็ยังจับมือกันไม่ยอมเปลี่ยนขั้ว แต่คำตอบก็คือ สิ่งเหล่านี้ไม่มีหลักประกันอะไรเลย ดังนั้นระหว่างคะแนนที่จะเลือก ปชป.กับคะแนนโหวต โน คะแนนที่จะเททิ้งน้ำและทำให้ระบอบทักษิณกลับมาอย่างชอบธรรมคือ คะแนนเลือก ปชป.เพราะครั้งที่แล้วพันธมิตรฯ เทคะแนนให้ ปชป.จนได้ ส.ส.ภาคตะวันออกทั้งภาคจากที่เคยได้เลือกแค่ 2-3 คน ก็ยังแพ้พรรคของทักษิณ ดังนั้นเลือกตั้งครั้งนี้ยังไง ปชป.ก็แพ้ คะแนนลงให้ ปชป.ต่างหากที่เสียเปล่าเมื่อเทียบกับการVote No
       
       เพราะเมื่อพรรคทักษิณชนะการเลือกตั้งก็จะอ้างว่า เขามีความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
       
       ถาม-ทำไมถ้าได้คะแนน Vote No มากจึงทำลายความชอบธรรมของพรรคทักษิณได้ และถ้าได้ Vote No มากหรือน้อยจะเกิดอะไรขึ้น
       
       ตอบ-ถ้าประชาชน Vote No มาก ขอเพียงสัก 5-10 ล้านคน ก็จะทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่ (ทั้งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามีแต่นักการเมืองโกงชาติ) และเมื่อนั้นจะเกิดการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็มีการทุจริตไม่แพ้กัน แม้ว่าไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่านายอภิสิทธิ์จะทุจริต (แต่ที่เห็นชัดคือ เขาปล่อยให้เขมรมายึดครองแผ่นดิน) อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของหอการค้าไทยยืนยันว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้น มีการทุจริตยิ่งกว่ายุคของทักษิณ
       
       ส่วนถ้าได้ Vote No น้อยก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีทางที่ ปชป.จะชนะเลย นอกจากพันธมิตรฯ หนีหายแล้ว คนส่วนหนึ่งเริ่มเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ไม่มีวุฒิภาวะผู้นำจนโพลสำรวจทุกครั้งจึงยืนยันว่า ได้คนที่ทำงานเป็นแต่ทุจริต ดีกว่าคนที่ทำงานไม่เป็น
       
       ดังนั้น หนทางเดียวที่หยุดการเมืองน้ำเน่า ก่อนปล่อยปลาดีลงสู่การเมืองไทยหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชัน และหยุดยั้งระบอบทักษิณก็คือ ประชาชนต้องออกมา Vote No หรือไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครให้มากที่สุด

ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049135

12 พ.ค. 54 เวลา 16:58 1,349 5 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...