ตุ๊กกาย ตุ๊กแก จิ้งจก ค้นพบที่ไทยใหม่สุดในโลก

ประเทศไทยค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลกรวม 10 ชนิดทั้ง ตุ๊กกาย ตุ๊กแกและจิ้งจก ระบุทั้งหมดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นพบได้ในไทยเท่านั้น พื้นที่แพร่กระจายพันธุ์อยู่ในวงแคบ แถมยังถูกมนุษย์คุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะตุ๊กแกถ้ำหินปูน จ.สระบุรี มีโอกาสสูญพันธุ์มากสุด จี้รัฐเร่งพิจารณาให้เป็นสัตว์คุ้มครอง

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือสยามเอ็นซิส (siamensis.org) เปิดเผยว่า จากความร่วมมือของนักอนุกรมวิธานหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ และกลุ่มสยามเอ็นซิส เพื่อสำรวจศึกษาสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำสะเทินบกของประเทศไทยในรอบปี 2553 ได้มีการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ในกลุ่ม Gekkonidae ประกอบด้วย ตุ๊กแก 1 ชนิด ตุ๊กกาย 2 ชนิด และจิ้งจก 7 ชนิด ซึ่งได้ผ่านการจำแนกรูปร่างลักษณะและเปรียบเทียบกับชนิดที่มีอยู่ พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกรวม 10 ชนิด

สำหรับรายชื่อ ตุ๊กกาย-ตุ๊กแก-จิ้งจก ที่ค้นพบใหม่ทั้ง 10 ชนิด ได้แก่


1.ตุ๊กกายถ้ำเหนือ หรือ ตุ๊กกายดำนุ้ย (Cyrtodactylus dumnuii) มีลายสีน้ำตาลเข้มไม่เป็นระเบียบคาดขวางลำตัว พบในถ้ำทางภาคเหนือของประเทศไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นาย โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับตุ๊กกาย คือชื่อสามัญของสัตว์เลื้อยคลานที่มีรูปร่างคล้ายตุ๊กแก แต่มีขนาดเล็กกว่า อยู่ในวงศ์ Gekkonidae เช่นเดียวกับตุ๊กแกและจิ้งจก แต่อยู่ในสกุล Cyrtodactylus มีนิ้วเท้าและเล็บที่แหลมยาว ไม่มีปุ่มดูด จึงไม่สามารถดูดติดเกาะผนังได้เหมือนตุ๊กแกและจิ้งจก ใช้ได้เพียงแค่ปีนป่ายเหมือนกิ้งก่าเท่านั้น


2.ตุ๊กกายถ้ำปล้องทอง (Cyrtodactylus auribalteatus) จัดเป็นตุ๊กกายที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่งมีลายคล้ายใส่เข็มขัด พบในถ้ำในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก


3.ตุ๊กแกถ้ำหินปูน หรือ ตุ๊กแกถ้ำอาจารย์วีรยุทธ (Gekko lauhachindai) พบในถ้ำในเขตจังหวัดสระบุรี ลักษณะเด่นคือ ที่หลังมีลายคล้ายอักษร " T " ชื่อวิทยาศาสตร์ ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.วีรยุทธ เลาหะจินดา วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


4.จิ้งจกนิ้วยาวอาจารย์ธัญญา (Cnemaspis chanardi) พบในเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล ชื่อวิทยาศาสตร์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นาย ธัญญา จั่นอาจ นักวิจัยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งในอดีตจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้เคยถูกจำแนกเป็นจิ้งจกนิ้วยาวสยาม (Cnemaspis siamensis)


5.จิ้งจกนิ้วยาวคลองนาคา (Cnemaspis vandeventeri) พบในเขตจังหวัด ระนอง พังงา และ ภูเก็ต


6.จิ้งจกนิ้วยาวหมอสุเมธ (Cnemaspis kamolnorranathi) ปัจจุบันพบเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ น.สพ.สุเมธ กมลนรนาถ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์


7.จิ้งจกนิ้วยาวหัวสีส้ม (Cnemaspis huaseesom) พบในเขตจังหวัดกาญจบุรี เป็นชนิดที่มีหัวและหางสีส้มสวยงามมากในตัวผู้


8.จิ้งจกนิ้วยาวคอจุด (Cnemaspis punctatonuchalis) ลักษณะเด่นคือ บริเวณด้านข้างของคอมีจุดสีดำขนาดใหญ่และมีจุดสีขาวที่กลางจุดดำ ในปัจจุบันพบเฉพาะเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


9.จิ้งจกนิ้วยาวนราธิวาส (Cnemaspis narathiwatensis) ลักษณะเด่น มีเส้นสีอ่อนพาดกลางหลัง เกล็ดที่เป็นตุ่มนูนบนหลังเรียงแถวเป็นระเบียบ พบเฉพาะในเขตจังหวัดนราธิวาส และยะลา สุดท้าย


10.จิ้งจกนิ้วยาวนิยมวรรณ (Cnemaspis niyomwanae) หน้ามีขีดสีเหลืองตามยาว 1 คู่ มีสีสันสวยงามมาก พบเฉพาะในเขตจังหวัดตรัง และสตูล โดยสิ่งมีชีวิตทั้ง 10 ชนิดนี้ล้วนเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้ในประเทศไทยเท่านั้น

นายนณณ์กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตทั้ง 10 ชนิดนี้ล้วนเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้ในประเทศไทยเท่านั้น หลายชนิดมีการแพร่กระจายพันธุ์ในพื้นที่วงแคบๆ ไม่ขยายอาณาเขต ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต เนื่องจากในทุกวันนี้สัตว์ในกลุ่มจิ้งจกและตุ๊กแกกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น การระเบิดภูเขาหินปูน ซึ่งเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์กลุ่มนี้หลายชนิด รวมทั้งการถูกสัตว์ต่างถิ่น อย่างเช่น แมวบ้าน ล่าจับจิ้งจกและตุ๊กแกของไทยมาเป็นอาหาร อีกทั้งสัตว์กลุ่มนี้ยังเป็นที่ต้องการของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกทั้งในและ ต่างประเทศ ทำให้มีการลักลอบค้าขายอยู่จำนวนมากด้วย

"ชนิดสัตว์กลุ่มนี้ที่น่าห่วงว่าอาจจะสูญพันธุ์ก็คือ ตุ๊กแกถ้ำหินปูน ซึ่งอยู่ในเขตสระบุรี มีอุตสาหกรรมทำปูนซีเมนต์และระเบิดภูเขา อีกทั้งยังถูกคนเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพในถ้ำ มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้าไปใช้พื้นที่โดยไม่มีจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่เฉพาะถิ่นและยังไม่มีชื่ออยู่ในกลุ่มสัตว์คุ้มครอง จึงกลายเป็นช่องว่างให้พ่อค้าลักลอบจับสัตว์กลุ่มนี้ออกมาป้อนตลาดได้ง่าย จึงอยากเสนอภาครัฐให้เร่งพิจารณาเพิ่มเติมรายชื่อสัตว์กลุ่มนี้อยู่ในบัญชี สัตว์คุ้มครองอย่างรวดเร็ว เพื่อลดโอกาสที่สัตว์จะสูญพันธุ์ได้มากยิ่งขึ้น" นายนณณ์กล่าว

การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในกลุ่มจิ้งจกและ ตุ๊กแกในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีมากถึง 60 ชนิดแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่การสำรวจศึกษา รวมทั้งขั้นตอนสำคัญ คือ การจำแนกสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่จะต้องบรรยายรูปร่างลักษณะของสิ่งมีชีวิต นั้นๆ ว่าแตกต่างจากชนิดที่เคยค้นพบแล้วอย่างไร

ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวของวงการศึกษาสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำ สะเทินบกในไทย อย่างไร ก็ตามทุกวันนี้สัตว์ในกลุ่มจิ้งจกและตุ๊กแกประสบปัญหาการถูกรุกรานอย่างมาก ทั้งถูกบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยและยังเป็นที่ต้องการของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีการลักลอบค้าขายอยู่จำนวนมาก สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ สัตว์ที่ถูกค้นพบใหม่จะยังไม่มีชื่ออยู่ในกลุ่มสัตว์คุ้มครองทันที จึงกลายเป็นช่องว่างให้พ่อค้าลักลอบจับสัตว์กลุ่มนี้ออกมาป้อนตลาดอย่างรวด เร็ว ดังนั้นจึงอยากเสนอภาครัฐให้ปรับกฎหมายคุ้มครองให้สามารถเพิ่มเติมรายชื่อ สิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นพบใหม่เข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อลดโอกาสที่สัตว์เหล่านี้จะสูญพันธุ์ได้มากยิ่งขึ้น

จิ้งจก ตุ๊กกายและตุ๊กแกที่ค้นพบใหม่ทั้ง 10 ชนิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการผ่านการตีพิมพ์ในวารสาร ZOOTAXA วารสารระดับนานาชาติที่ตีพิมพ์รายงานการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกเรียบ ร้อยแล้ว

 

_________________________________________________________________________________________________

 

 

ที่มา http://www.zoothailand.org

11 พ.ค. 54 เวลา 09:47 10,511 28 170
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...