แม้มรดกทางดนตรีของของนักร้องนักดนตรีระดับตำนาน ‘บ๊อบ มาร์ลีย์’ อาจจะถูกนำมา
ขับขานน้อยลงในกลุ่มเยาวชนจาเมการุ่นใหม่ที่ตอนนี้ต่างหันหน้าเข้าสู่โลกของ
dancehall แนวเพลงใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม... ทว่าภาพชายผิวดำกับทรงผมเดรดล็อคที่
แฝงด้วยความอหังการ ผู้เดินหน้าเรียกร้องเสรีภาพและอิสรภาพเพื่อกลุ่มคนผิวสี หรือ
พลเมืองชั้นสองในสังคมผ่านบทเพลงและท่วงทำนองผู้นี้ ได้ถูกจารึกไว้ในหน้า
ประวัติศาสตร์แม้เขาจะลาโลกไปแล้วถึง 30 ปี
ตราบจนทุกวันนี้ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ภาพถ่ายของราชาเพลงเร็กเก้ที่มีฉากหลังเป็น
สีแดง เหลือง เขียว ซึ่งเป็นสีประจำเป็นลัทธิรัสตาฟารี ก็ยังคงปรากฏหราบนสินค้าต่างๆ ทั้งเสื้อยืด
รองเท้า ไปจนถึงอุปกรณ์สำหรับเล่นสกี ในขณะที่เพื่อนๆของมาร์ลีย์กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า คง
เป็นเรื่องน่าเศร้าถ้าสารที่มารลีย์ตั้งใจจะสื่อเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกลุ่มคนที่ถูกกดขี่
กลับสูญหายไป แต่กำลังรับใช้ความโลภเห็นแก่ได้ของบริษัทที่นำภาพของเขาไปใช้ในสินค้าของตน
Herbie Miller เพื่อนของมาร์ลีย์เผยว่า เขาไม่เคยนิยมในแนวคิดเรื่องการค้าขาย เพราะ “เงิน
ไม่ใช่แรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมาร์ลีย์”
ในขณะเดียวกันแฟนเพลงพันธุ์แท้ของเขาต่างเห็นว่าในวาระครบรอบ 3 ทศวรรษหลังจากที่มะเร็ง
ได้คร่าชีวิตมาร์ลีย์ไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 นับเป็นหมุดหมายสำคัญจะร่วมกันเฉลิมฉลอง
ความยิ่งใหญ่ของนักดนตรีจากประเทศโลกที่สามคนแรกที่แจ้งเกิดบนเวทีดนตรีโลกอย่างสง่างาม แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจ
แฟนเพลงจากออสเตรียวัย 24 ปี Bernadette Hellwanter ที่มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ราชาเพลง
เร็กเก้ Bob Marley Museum ในกรุงคิงสตัน ประเทศจาเมกา เล่าว่าดนตรีของมาร์ลีย์เต็มไปด้วย
เรื่องราวของชีวิต เพราะฉะนั้นคงจะไม่เหมาะถ้าจะมามัวเศร้าสลดถึงนักดนตรีผู้ล่วงลับ ด้านสาวก
ฝั่งอเมริกาอย่าง Nickia Palmer ชาวจาเมกาในวัย 33 หวนระลึกการแสดงดนตรีครั้งแรกของตั
วเองขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายในรัฐเวอร์จิเนียว่า เขาเลือกเพลง No Woman No cry
ของมาร์ลีย์มาร้อง
แม้จะยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลง แต่กระนั้นความนิยมและความโด่งดังของตัว
พ่อแห่งวงการเร็กเก้ก็ดูเหมือนจะค่อยๆจางหายลงไปตามกาลเวลา ล่าสุดมูลนิธิของบ๊อบ มาร์ลีย์
Marley Foundation ซึ่งบริหารจัดการมรดกของนักดนตรีผู้นี้ ก็ประกาศว่าไม่มีแผนที่จะจัด
กิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการจากไปของนักร้องผู้ใช้บทเพลงในการเคลื่อนไหวและ
สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม
ดนตรีจากการสร้างสรรค์ของขบถแห่งโลกเสรีผู้กรุยทางพาให้ดนตรีเร็กเก้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ยังคง
ถูกเปิดตามสถานีวิทยุท้องถิ่นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขาก็จริง แต่เด็กจาเมการุ่นใหม่ก็ไม่เข้าใจถึง
นัยยะที่แฝงในบทเพลง ซึ่งวัยรุ่นจาเมกาจะชื่นชอบเพลงสร้างความรู้สึกจรรโลงใจของมาร์ลีย์เช่น
Three Little Birds และ One Love มากกว่าเพลงที่มีความหมายหนักๆอย่าง Exodus หรือ
The Heathen
ไม่ว่าจะได้รับความนิยมน้อยลงอย่างไร แต่เชื่อว่าผลงานของราชาเพลงเร็กเก้ ผู้เติบโตในย่าน
เสื่อมโทรมของเมืองเทร็นช์ทาวน์ จะก้องกังวานพร้อมกันทั่วโลก ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ อย่าง
แน่นอนเพื่อระลึกถึงบทเพลงและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของ บ๊อบ มาร์ลีย์
ที่มา สำนักข่าว AFP
แปลและเรียบเรียงโดย วิภาวี วิบูลย์ศิริชัย