ในสงครามเวียดนาม ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านจะขุดอุโมงค์ และหลบภัยอยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งอันที่จริงแล้ว อุโมงค์ที่สร้างขึ้นนี้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่ตำบลกู๋จีเท่านั้น หลายหมู่บ้านในหลายตำบลได้สร้างอุโมงค์ใต้ดินขึ้น ในเวลาต่อมา อุโมงค์เหล่านี้ก็เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนเนื่องจากเครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้ หนาแน่น ซับซ้อนมากที่สุดที่กู๋จี จึงรู้จักกันในชื่อว่า อุโมงค์กู๋จี
อุโมงค์เหล่านี้ ไม่ได้เพิ่งจะสร้างมาเพื่อตั้งรับกับกองกำลังอเมริกัน หากแต่ค่อย ๆ สร้างขึ้น
ทีละน้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) แล้ว โดยชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ขุดอุโมงค์
เพื่อกำบังการโจมตีตั้งแต่สมัยที่ยังสู้กับฝรั่งเศส (ก่อนการรุกรานของอเมริกันเสียอีก) เมื่อสร้างอุโมงค์เล็ก ๆ ขึ้นหลายจุด ก็มีการขุดเพื่อเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน
จนในปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) เครือข่ายอุโมงค์นี้มีความยาวมากกว่า 200 กิโลเมตร
ทางทิศตะวันตกไปถึงชายแดนกัมพูชา และทางตะวันออกไปจนถึงโฮจิมินห์ซิตี้เลยทีเดียว
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว อุโมงค์จะไม่ได้มีความกว้างมากนัก เวลาเคลื่อนตัวผ่าน
จะต้องโก้งโค้ง หรือ คลานเป็นส่วนใหญ่ และอันที่จริงแล้ว
ชีวิตภายในอุโมงค์ใต้ดินนั้น ก็ไม่ได้สะดวกสบายนัก
แต่เพราะการรุกรานของข้าศึก บรรดาชาวบ้าน และ กลุ่มเวียดกง
ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรับกับสภาพที่ยากลำบากแบบนี้
เดินเข้ามาก็ไม่เห็นอะไร นอกจากหลุมหลบภัย กับพื้นที่ปกคลุมไปด้วยใบไม้
จะเห็นได้ว่า บนพื้นดินที่พวกเรายืนอยู่นั้น มีอุโมงค์อยู่ข้างใต้
โดยแผ่นประตูที่ปิดทางเข้านั้น กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ถ้ามองลงไปจะเห็นว่า มีช่องทางเข้าไปข้างในอีก ซึ่งมีขนาดเล็กมาก
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า รูปร่างอันใหญ่โตของทหารอเมริกันคงไม่สามารถลอดผ่านลงไปได้
ความลับไม่มีในโลก ดังนั้น ในที่สุดฝ่ายทหารอเมริกันก็รู้ว่า มีเครือข่ายอุโมงค์ซ่อนอยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งทางกองทัพอเมริกันก็คิดหาวิธีการต่าง ๆ ในการทำลายเครือข่ายอุโมงค์ รวมถึง ชาวบ้าน และ เวียดกงที่ซ่อนอยู่ภายในอุโมงค์เหล่านี้ เช่น การปั้มน้ำลงไป เพื่อทำลายระบบอุโมงค์ แต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยเพราะอุโมงค์มีการเชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนและกว้างขวางเกินไป ซึ่งจะต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลมากจึงจะทำให้น้ำท่วมได้หมด
มีการทิ้งระเบิด เช่น B-52 ลงในพื้นที่บริเวณนี้ แรงระเบิดทำให้เกิดเป็นหลุมเป็นบ่อเต็มไปหมด ซึ่งก็จะทำลายอุโมงค์ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และดินที่ถล่ม ยุบลงไปบริเวณรอบนั้น
ก็จะปิดทางเชื่อมติดต่อกับอุโมงค์ส่วนที่เหลือ ทำให้ทหารอเมริกันไม่สามารถไล่ตามฝ่ายเวียดกงได้ทัน (เพราะมุดหนีไปอยู่ที่บริเวณอื่นแล้ว)
นอกจากนี้ วัตถุระเบิดที่ถูกใช้ในบางครั้งก็ไม่ระเบิดอีกด้วย ซึ่งก็จะถูกฝ่ายเวียดกงยึดทำลาย แล้วดัดแปลงเอาดินปืนไปใช้ทำอาวุธ เพื่อต่อสู้กับฝ่ายอเมริกัน
อาวุธของฝ่ายอเมริกันนั้น กะจะฆ่าเวียดกงให้ตาย หายไปจากแผ่นดินเลยทีเดียว
ทีนี้มาดูกับดักที่ใช้โดยฝ่ายเวียดกงกันบ้าง
ซึ่งดู ๆ แล้ว กับดักเหล่านี้ อานุภาพไม่ร้ายแรงอันใดเลย อย่างมากสุดก็คงทำให้ทหารผู้โชคร้ายไม่สามารถเดินต่อได้เท่านั้น
ถ้าฆ่าทหารอเมริกันให้ตายไปเลย ศพทหารผู้โชคร้ายก็อาจถูกเก็บไปให้พ้น ๆ
จากการรับรู้ของทหารนายอื่น ๆ อย่างมาก ก็อาจจะได้รับการบอกกล่าวว่า
กำลังรักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาล ไม่ต้องเป็นห่วง ทหารก็จะไม่เสียขวัญ
แต่การไม่ฆ่าให้ตายนั้น เป็นกลอุบายทางจิตวิทยาของฝ่ายเวียดกง
เนื่องจากทหารอเมริกันที่มารบส่วนใหญ่ไม่ได้อยากมารบในที่ต่างแดนให้ลำบากอยู่แล้ว
ถ้าหากทำให้ทหารหนึ่งคนบาดเจ็บ เดินต่อไม่ได้ เพื่อน ๆ ทหารก็ต้องพาทหารผู้โชคร้ายคนนั้นกลับเข้าค่ายทหาร การที่ทหารคนหนึ่งติดกับดัก ร้องด้วยความเจ็บปวด ย่อมส่งผลทางจิตวิทยา บั่นทอนขวัญกำลังใจในการรบของทหารนายอื่น ๆ ทำให้ไม่อยากจะรบอีกต่อไป
ซึ่งในที่สุดแล้ว เวียดกง ก็เป็นฝ่ายชนะ
สมรภูมิรบที่ตำบลกู๋จีนี้ ทางรัฐบาลเวียดนามอนุรักษ์ไว้เพื่อสดุดีวีรกรรมการสู้รบ
ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และ ยังพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย