โดราเอม่อนนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการ์ตูนยอดฮิตตลอดกาลในบ้านเราเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่10 ปี โดราเอม่อนก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ก็ด้วยความที่โดราเอม่อนนั้นเป็นการ์ตูนที่ส่งเสริมจินตนาการในแง่ของวิทยา ศาสตร์ หรือจะส่งเสริมในด้านของมิตรภาพ ระหว่างเพื่อนและครอบครัว ผ่านทางตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่มาจากศตวรรษที่22 นามโดราเอม่อน และผองเพื่อนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น โนบิตะ ชิซูกะ ซูเนโอะ และ ไจแอนท์ และโดราเอม่อนก็มีไอเท็มของวิเศษที่มาจากอนาคต ที่ทำให้พวกเรานั้นได้สนุกหรรษากัน แต่ส่วนหนึ่ง ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ถ้าไม่ได้เขา เราๆท่านๆคงไม่มีวันรู้จักกับโดราเอม่อนได้อย่างแน่นอน
หลังจาก ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ จากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 1996 (พ.ศ.2539) ในขณะที่สื่ออย่างอินเตอร์เน็ตก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกระแสอย่างหนึ่งของโดราเอม่อน นั่นก็คือ ตอนจบของโดราเอม่อน นั่นเอง ซึ่งมีทั้งหมดอยู่ 2 แบบ และ ต่างก็อ้างว่า ตอนจบทั้ง2แบบนั้น ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ เป็นคนแต่งขึ้นมาเอง ทำเอาแฟนๆโดราเอม่อนทั้งในญี่ปุ่นและในบ้านเรา นั้นต่างก็รู้สึกสับสนว่าตอนจบที่แท้จริงเป็นแบบไหนกันแน่ ถึงลูกศิษย์ของอ.ฟูจิโกะจะออกมาแก้ข่าวว่าไม่เป็นความจริงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นหัวข้อที่กลุ่มสาวกคนรักโดราเอม่อนยังถกเถียงกันไม่รู้จักจบ จนอาจกลายเป็นมลภาวะทางสายตาของคนที่เข้าอ่านกระทู้ในเว็บบอร์ดบางแห่งเสีย ด้วย
บางคนอาจสงสัยว่า ตอนจบทั้ง2แบบนั้นเป็นแบบไหนกันบ้าง ซึ่งถ้าจะพูดกันจริงๆ น่าจะเรียกว่า เป็น 2 เวอร์ชั่นมากกว่า เพราะมีทั้งจบแบบแฮปปี้ และจบแบบเศร้าหักมุมสุด ซึ่งผมจะขอเล่าคร่าวๆก็แล้วกัน อ่านแล้วก็ขอให้ใช้วิจารณญาณกันดีๆนะครับ
จบแบบแรก(เศร้า) โนบิตะที่นอนป่วยอยู่ ตื่นขึ้นมาก็พบว่า เรื่องราวเกี่ยวกับโดราเอม่อนนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่โนบิตะฝันไปเอง และโดราเอม่อนก็ไม่มีอยู่จริง สุดท้ายอาการป่วยของโนบิตะก็ทรุดลงหนักจนสิ้นใจตาย
จบแบบที่สอง(แฮปปี้) วันหนึ่งโนบิตะกำลังจะชวนโดราเอม่อนออกไปข้างนอก แต่โดราเอม่อนกลับนอนนิ่ง โนบิตะปลุกขึ้นมาเท่าไหร่โดราเอม่อนก็ไม่ยอมตื่น ร้อนไปถึงโดรามีต้องมายังในโลกยุคปัจจุบัน และโนบิตะก็ได้รับรู้ข่าวร้ายว่า แบตเตอรี่ของโดราเอม่อนหมด ถ้าจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ก็ไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นโดราเอม่อนก็จะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับโนบิตะไม่ได้เลย (ประโยคนี้อย่าคิดลึก!) โนบิตะเสียใจมาก จึงกลับตัวกลับใจเป็นเด็กที่ขยัน และในที่สุด เขาก็กลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ และทำการทดลองเกี่ยวกับโดราเอม่อน จนกระทั่งวันหนึ่ง โนบิตะ ก็ได้เรียก ชิซูกะซึ่งภายหลังได้กลายเป็นภรรยาของโนบิตะ ให้เข้ามาที่ห้องทดลอง เพื่อดูผลงานที่ตัวเองทำขึ้น หลังจากที่โนบิตะจัดการเสียบปลั๊กโดราเอม่อน โดราเอม่อนก็ฟื้นขึ้นมาแล้วพูดว่า โนบิตะ นายทำการบ้านเสร็จหรือยัง
นี่คือตอนจบทั้ง2แบบที่ได้กล่าวไว้ ครั้งแรกที่ผมได้อ่านตอนจบ2แบบนั้นจริงๆ ผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่พอมาอ่านซ้ำๆกันหลายรอบ ก็พบว่ามีจุดพิรุธอยู่พอสมควร และคาดว่าน่าจะเป็นแฟนๆการ์ตูนบางกลุ่มเป็นคนแต่งขึ้นมาโดยเฉพาะ ตอนจบในแบบที่2 อ่านไปก็คล้ายๆกับว่า โนบิตะ เป็นคนสร้างโดราเอม่อน ยังไงยังงั้น ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว โดราเอม่อนนั้น เป็นหุ่นยนต์ที่เกิดมาจากโรงงานประกอบหุ่นยนต์ในศตวรรษที่22 ไม่ได้เกิดมาจากนักวิทยาศาสตร์ ถ้าใครได้อ่านโดราเอมอนตอนที่เกี่ยวกับโนบิตะในโลกอนาคต จะพบว่า โนบิตะกับชิซูกะแต่งงานกันจริงๆ แต่โนบิตะนั้นเป็นพนักงานบริษัทธรรมดาเท่านั้นเอง และ โดราเอม่อนจะทำงานได้นั้น จะต้องกดสวิตช์ที่หาง ไม่ใช่เสียบปลั๊ก
พูดถึงตอนจบแบบที่2แล้ว ก็ขอพูดถึงตอนจบแบบแรกที่เศร้าๆแบบหักมุมสุดๆหน่อย บอกตรงๆว่า ไม่เชื่อเป็นอันขาด เพราะ ผมเชื่อว่า อ.ฟูจิโกะ ผู้แต่ง เขาคงไม่ทำร้ายจิตใจคนอ่านถึงขนาดนั้น ถึงแม้ว่ามันเป็นตอนจบสไตล์ดราม่าที่อาจถูกใจสำหรับบางคน แต่มันเศร้าเกินธรรมชาติ เกินกว่าที่เด็กๆหรือผู้อ่านบางคนจะยอมรับได้
ใครก็ตามที่ได้อ่านตอนจบทั้ง2แบบนั้นแล้ว ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตามแต่ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับตอนจบของโดราเอม่อน ซึ่งอ.ฟูจิโกะเป็นคนแต่งเองจริงๆ ซึ่งไม่ใช่2แบบข้างต้น โดยทีแรกอาจารย์ตั้งใจจะเขียนตอนนี้ให้เป็นตอนจบจริงๆ นั่นก็คือตอนที่ชื่อว่า ลาก่อน โดราเอม่อน(หา อ่านได้ในเล่มที่6 ตอนสุดท้าย) แต่ก็มีกระแสจากคนอ่านให้อาจารย์กลับมาเขียนโดราเอม่อนต่อ และอาจารย์ก็ตอบรับกระแสจากแฟนๆ ด้วยการเขียนตอนที่ชื่อว่า น้ำยาโกหก ซึ่งเป็นตอนที่โดราเอม่อนกลับมาหาโนบิตะอีกครั้ง (ตอนแรกของเล่ม 7) และจากนั้นเป็นต้นมา โดราเอม่อนก็มีทีท่าจะเป็นการ์ตูนไม่มีวันจบอีกเรื่องหนึ่ง
และมีหลักฐานอีกส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่า อ.ฟูจิโกะ ไม่เคยคิดที่จะเขียนตอนจบ2แบบที่ว่านั่นเลย จากหนังสือการ์ตูนอัตชีวประวัติของ ฟูจิโกะ ฟูจิโกะ ที่ได้กล่าวถึงช่วงเวลาสุดท้ายของอาจารย์ ว่า เขาต้องการให้เด็กๆที่มีความสุขกับโดราเอม่อนนั้นมีความสุขให้เต็มที่ และ ฉากที่อาจารย์หมดสติขณะเขียนการ์ตูนอยู่ก่อนไปจบชีวิตที่โรงพยาบาลนั้น เป็นตอนที่อาจารย์เป็นลมหมดสติขณะกำลังร่างต้นฉบับอยู่นั้น เป็นโดราเอม่อนตอนพิเศษตะลุยเมืองตุ๊กตาไขลาน นั่นเอง
เกร็ดอีกอย่างหนึ่งสำหรับสิ่งสุดท้ายที่อ.ฟูจิโกะทำก่อนที่จะเสียชีวิต ก็มีดังนี้
จากเกร็ดดังกล่าว ก็เป็นการบ่งบอกว่า ตอนจบทั้ง2แบบนั้น อ.ฟูจิโกะ ไม่เคยคิดที่จะแต่งออกมาเลยแม้แต่น้อย และ อ.ฟูจิโกะก็ไม่คิดที่ จะให้โดราเอม่อนมีวันจบจริงๆ เพื่อให้ผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นเด็กและผู้ใหญ่มีความสุขได้อย่างเต็มที่เลย
ถึงแม้ว่าเรื่องตอนจบของโดราเอม่อนนั้นจะยังเป็นเรื่องที่ยังเถียงกันไม่จบ ในหมู่ของแฟนการ์ตูนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะมองออกนั่นก็คือ ถึงบางคนจะบอกว่า โดราเอม่อนมีตอนจบ แต่การ์ตูนโดราเอม่อนที่ฉายทางทีวี หรือ หนังโรงก็ยังออกมาเรื่อยๆ จนน่าจะพิสูจน์ได้ว่า โดราเอม่อนไม่มีวันจบ และอยู่ในใจของแฟนโดราเอม่อน ตลอดไป แต่สำหรับผมนั้น โดราเอม่อนในยุคของอ.ฟูจิโกะ นั้น จบไปแล้วครับ และ เหล่าลูกศิษย์ของอาจารย์กำลังสานงานต่อ เพื่อให้โดราเอม่อนยังอยู่กับเราตราบนานเท่านาน .......
ปล. หุ่นยนต์แมวจากอนาคตกลับมาช่วยเหลือโนบิตะ โดยเซวาชิผู้เป็นหลานของโนบิตะเป็นผู้ส่งมา
จากวิกิพีเดีย ต้นกำเนิด โดราเอมอนถูกผลิตขึ้นในโรงงานสร้างหุ่นยนต์ที่เมืองโตเกียว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112 (พ.ศ. 2655) แต่ในระหว่างการผลิตเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ทำให้โดราเอมอนมีคุณสมบัติไม่เหมือนหุ่นยนต์แมวตัวอื่น ต้องเข้ารับการอบรมในห้องเรียนคลาสพิเศษของโรงเรียนหุ่นยนต์ (และได้พบกับเพื่อนๆ แก๊ง ขบวนการโดราเอมอน ที่นั่น) จนกระทั่งวันหนึ่ง ในงาน "โรบ็อต ออดิชัน" ซึ่งเป็นงานที่จัดให้มีการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ที่ได้ผ่านการอบรมแล้ว ด้วยความซุกซนของเซวาชิใน วัยเด็ก เขาจึงได้กดปุ่มเลือกซื้อโดราเอมอนมาไว้ที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ โดราเอมอนจึงได้มาอยู่อาศัยที่บ้านของเซวาชิ ในฐานะของหุ่นยนต์เลี้ยงเด็ก[3] แต่ในต้นฉบับดั้งเดิมนั้นจะแตกต่างกัน คือ โดราเอมอนได้ถูกนำไปขายทอดตลาด เพราะเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ จากนั้นพ่อแม่ของเซวาชิจึงมาซื้อโดราเอมอนไปไว้ที่บ้าน จากวิกิพีเดีย