แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) เป็นชื่อของกลุ่มแมงมุมซึ่งมีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาเหนือและมีรายงานการพบได้ในประเทศสวีเดนและเดนมาร์ก
แมงมุมแม่ม่ายดำมีชื่อเรียกนี้เนื่องจากแมงมุมเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์จะฆ่าแมงมุมตัวผู้ที่เป็นคู่ของมัน ร่วมกับลักษณะเด่นของแมงมุมตัวเมียที่มีลำตัวสีดำเป็นมันและมีลวดลายสีแดงหรือส้มเป็นรูปคล้ายนาฬิกาทรายบริเวณท้อง ขนาดตัวเต็มวัยแมงมุมเพศเมียกว้าง 6.8 ยาว 38 มิลลิเมตร ส่วนตัวเต็มวัยแมงมุมตัวผู้ยาวน้อยกว่า 7.5 มิลลิเมตร แมงมุมแม่ม่ายดำมีช่วงชีวิตได้นานถึง 5 ปี
พิษแมงมุมแม่ม่ายดำ
พิษแมงมุมแม่ม่ายดำประกอบด้วยสารพิษและสารเคมีหลายชนิด เช่น latrotoxins , adenosine , guanosine , inosine , polypeptides และ 2,4,6-trihydroxypurine
สารพิษที่สำคัญได้แก่ latrotoxins ซึ่งถูกปล่อยผ่านโครงสร้าง chelicerae ซี่งมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรในแมงมุมเพศเมีย แม้ว่า latrotoxins จะมีความเป็นพิษสูง ( จากการศึกษามีความเป็นพิษมากกว่าพิษงูหางกระดิ่งมากกว่า 15 เท่า ) แต่เนื่องจากปริมาณพิษที่ออกมาแต่ละครั้งมีปริมาณน้อยและอาจดูดซึมกระจายเข้าสู่ร่างกายได้น้อย ดังนั้นผู้ป่วยที่โดนแมงมุมกัดโดยทั่วไปจึงไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้เสียชีวิตจากแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่เสมอ
อาการเจ็บป่วยจากพิษแมงมุมแม่ม่ายดำเรียกว่า latrodectism โดยมีอาการปวดคล้ายมีเข็มทิ่ม ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดมีอาการบวมแดงได้ถึง 15 เซนติเมตร ขนลุก ปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อเกิดการพลิ้วสั่น (muscle fasciculation) ในรายที่มีอาการปวดมากอาจเกิด painful muscle cramp โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อขา นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ ชีพจรเร็ว ความดันโลหิตสูง เหงื่อออกมาก น้ำลายไหลเพิ่มขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการชา ชัก อาการอ่อนแรง หายใจลำบาก บางรายกล่าวว่ามีความรู้สึก pavor mortis
นอกจากการเกิดพิษจากการกัดแล้ว ยังมีรายงานการเกิดพิษจากการที่เศษแมงมุมที่ถูกบี้ทำลายปลิวเข้าตาทำให้เกิดเยื่อบุตาและเนื้อเยื่อตาโดยรอบอักเสบบวมแดง
Latrotoxins เป็นชื่อกลุ่มสารพิษ latrotoxin ซงมีหลายชนิด เช่น α-latrotoxin, β-latrotoxin, γ-latrotoxin, δ-latrotoxin, ε-latrotoxin โดยสารพิษที่มีการศึกษามากที่สุดและพบจากแมงมุมแม่ม่ายดำได้แก่ α-latrotoxin
α-latrotoxin เป็นโปรตีนน้ำหนักประมาณ 120 kDa ออกฤทธิ์ต่อ presynaptic บริเวณ sensory และ motor neuron โดยจับกับ receptor ที่มีความจำเพาะ หรือตัวพิษเองทำให้เกิด ion-permeable pores บนผนังหุ้มเซลล์ เป็นผลให้มีการไหลผ่านเข้ามาของแคลเซียมไอออน ทำให้เกิด synaptic vesicle degranulation เป็นผลให้มีการหลั่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter) นอกจากนั้นยังออกฤทธิ์ต่อเซลล์ระบบต่อมไร้ท่อโดยเฉพาะที่ตับอ่อนทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน
การรักษาพิษแมงมุมแม่ม่ายดำ
ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่เพื่อลดการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน จากนั้นให้การรักษาตามอาการ ในรายที่เกิดอาการเป็นพิษรุนแรงจึงพิจารณาให้การรักษาด้วย antivenin ต่อพิษแมงมุมแม่ม่ายดำ
ปัจจุบันการติดต่อเดินทางทั่วทั้งโลกนั้นสะดวกและรวดเร็ว สัตว์มีพิษ พืชมีพิษ เชื้อโรคประจำถิ่นจึงมีโอกาสแพร่ระบาดไปในพื้นที่ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องตระหนักอยู่เสมอเมื่อพบความเจ็บป่วยบางอย่างซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้อาจเป็นผลจากพิษจากสัตว์ พืชและเชื้อโรคเหล่านั้น
นอกจากนั้นการขยายเขตเมืองทำให้มีการรุกไปในถิ่นอาศัยของสัตว์มีพิษ พืชมีพิษ และเชื้อโรคในท้องถิ่นที่เฉพาะ รวมไปถึงยังมีงานอดิเรกของบางคนซึ่งชอบเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชที่มีความแปลกและหายาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยจากสารพิษต่าง ๆ ซึ่งไม่ค่อยได้พบได้มากยิ่งขึ้น