ภาพ "ผู้ใช้บริการหญิงนครโสเภณี" ศิลปะกรีกโบราณ อายุราว 480-470 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีภาพถุงเงินห้อยอยู่ข้างฝาด้วย
โสเภณีในประเทศไทย สมัยก่อน
เป็นเรื่องรับรู้ และค่อนข้างยอมรับกันอยู่แล้ว สำหรับอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกรังเกียจ ดูถูกเหยียดหยาม (เหมือน)ไร้เกียรติ ในแทบทุกสังคม ทุกยุคสมัย กับ "โสเภณี" หรือ อาชีพขายบริการทางเพศ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า อาชีพบำเรอกามนี้ สร้างรายได้ให้กับพวกเธอ(หรือเขา) เป็นกอบเป็นกำ ในแต่ละวัน (ไล่ไปตามเกรดและคุณภาพ) เผลอๆ อาจสร้างรายได้ดีกว่าคนที่จบการศึกษาระดับสูง เป็นถึงด็อกเตอร์ หรือจบมาจากเมืองนอกเมืองนา กันเลยทีเดียว เพียงแค่ใช้เรือนร่างทอดกาย ถวายความสุขฝ่ายต่ำ(ทางพุทธศาสนา) ที่ช่วยระบายอารมณ์ใคร่ตามสัญชาติญาณของมนุษย์ให้ไปถึงฝั่งก็เท่านั้น
แล้วทราบกันหรือไม่ว่า ความหมาย ของ โสเภณี นั้นคืออะไร
"โสเภณี" เดิมมาจากคำเต็มๆว่า "นครโสเภณี" แปลว่า "หญิงงามแห่งนคร" ค่ะ ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกอย่างเป็นไทยๆว่า "หญิงงามเมือง" เดิมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับ พ.ศ. 2493) ให้นิยามว่า "หญิงงามเมือง, หญิงคนชั่ว" เป็นเพราะหญิงพวกนี้อาศัยเมืองหรือนครเป็นที่หาเลี้ยงชีพ ตามชนบทนั้นไม่มี เพราะการเป็นโสเภณีนั้นเป็นที่รังเกียจของสังคม ผู้หญิงพวกนี้จึงอาศัยที่ชุมชนเป็นที่หากิน อีกประการหนึ่ง ในเมืองหรือนครนั้นมีผู้คนลูกค้ามากมาย เป็นการสะดวกแก่การค้าประเวณี
ภาคอีสานเรียกหญิงนครโสเภณีว่า "หญิงแม่จ้าง" คือ เป็นผู้หญิงที่รับจ้างกระทำชำเราสำส่อน โดยได้รับเงินหรือผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง
คำว่า "นครโสเภณี" มาจากอินเดีย ในสมัยโบราณบางแคว้นของชมพูทวีป มีหญิงเหล่านี้เอาไว้เชิดหน้าชูตา เป็นแรงดึงดูดการท่องเที่ยว และนำเงินตราเข้าบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี อย่างในเรื่อง กามนิต ก็ได้กล่าวถึงเอาไว้ว่า นางนครโสเภณีเหล่านี้คือ "มงกุฎดอกไม้หลากสีของกรุงอุชเชนี" โดยนางเหล่านี้พระราชาก็ประทานเกียรติยศ ประชาชนก็บูชา จินตกวีก็กล่าวขวัญเป็นบทเพลงเยินยอ ซึ่งเป็นการสมควรแล้วที่จะขนานนามว่า"มงกุฎดอกไม้หลากสีของกรุงอุชเชนีที่สถิตเหนือฐานศิลา" กระทำให้แคว้นใกล้เมืองเคียงต่างๆอิจฉากรุงอุชเชนีเป็นกำลัง นางงามเหล่านี้บางคนที่เลือกสรรแล้วเคยรับเชิญเป็นแขกเมืองไปเยี่ยมแดนต่างๆก็บ่อยๆ"
หญิงโสเภณีมักรวมกลุ่มกันในสถานค้าประเวณีที่เรียกกันว่า "ซ่องโสเภณี" ซึ่งในภาษาไทยตามกฎหมายเก่า (พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127) ว่า "โรงหญิงนครโสเภณี" อย่างไรก็ดี หญิงโสเภณีอาจอยู่ตามโรงแรม สถานอาบ-อบ-นวด โรงน้ำชา ภัตตาคาร ร้านเสริมสวย หรือตามสถานบันเทิง หรืออาจอยู่บ้านส่วนตัวและรับจ้างร่วมประเวณีเฉพาะโอกาสก็ได้
ต้นกำเนิด "โสเภณี"
จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีมีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเชียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาเทวี เช่น ของอินเดียได้แก่พิธีบูชาพระแม่กาลีซึ่งบางทีก็เรียก "ทุรคาบูชา" (ฮินดี: Durgapuja) พิธีเช่นว่านี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความรู้สึกฝังใจอยู่กับชายคนแรกที่เธอร่วมประเวณีด้วย การสละพรหมจารีดังกล่าวจึงกระทำเพื่อบูชาเทวีเบื้องบนเสีย และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้นก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าชายแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำโชคลาภมาสู่ตน
การสละพรหมจารีด้วยการร่วมประเวณีกับชายแปลกหน้านั้นบางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน หญิงชาวบาบิโลนโบราณพากันมานั่งคอยชาวแปลกหน้าในวิหารเจ้าแม่อิชตาร์ (Ishtar) เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยนเหรียญมาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธี โดยไม่ว่าเงินที่ชายโยนให้นั้นจะมากน้อยเพียงไร เมื่อได้พลีพรหมจารีแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงนั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลาหลายปี
ภาพล้อเลียนทางการเมืองแสดงสภาพโสเภณีในสังคมตะวันตกโบราณ ชื่อ "การขึ้นภาษีร้านค้าไม่ได้กระทบกระเทือนผู้ค้าปลีก" ศิลปะตะวันตก พ.ศ. 2330บางท้องที่ก็มีพิธีกรรมทางโสเภณีเพื่อการศาสนา เช่น นักบวชหญิงร่วมกันจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทางโสเภณีซึ่งถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศดังกล่าวจะส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดเพื่อขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า บางแห่งหญิงสาวอุทิศตนเป็นนางบำเรอประจำวัด เพื่อร้องรำทำเพลงบำเรอพวกนักบวชและพวกธุดงค์ที่มาสักการะเทพเจ้าในสำนักตน ทั้งหมดนี้เป็นจุดกำเนิดของหญิงโสเภณีในปัจจุบัน แต่โสเภณีทางศาสนาดังกล่าวมาแล้วกระทำในคลองจารีตประเพณีของศาสนา ไม่อื้ออึงหรืออุจาดนัก
ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณีเพื่อสะสมทุนทรัพย์สำหรับสมรส ชายที่สมสู่ไม่ต้องวางเงินบนแท่นบูชาแต่ให้ใส่ลงในเสื้อของหญิง ภายหลังหาเงินได้สองสามปีก็จะกลับบ้านเพื่อแต่งงาน และถือกันว่าหญิงที่ได้ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้วเป็นแบบอย่างของเมียและแม่ที่ดี การปฏิบัติของหญิงโสเภณีประเภทหลังนี้ บางคนก็กระทำไปโดยมิได้เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาเลย
ครั้นกาลเวลาล่วงมา อารยธรรมในทางวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น การโสเภณีทางศาสนาค่อยเลือนลางจางไป โดยมีโสเภณีทางโลกเข้ามาแทนที่ โรงหญิงโสเภณีโรงแรกจึงถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ โดยเป็นโรงหญิงโสเภณีสาธารณะ เก็บเงินรายได้บำรุงการกุศล ผู้จัดตั้งชื่อ "โซลอน" (Solon) เป็นนักกฎหมายและนักปฏิรูป วัตถุประสงค์ในการตั้งโรงหญิงโสเภณีดังกล่าวมีสองประการ คือ 1) เพื่อคุ้มครองอารักขาความบริสุทธิ์ให้แก่ครอบครัวของประชาชน มิให้มีการซ่องเสพชนิดลักลอบและมีชู้ และ 2) เพื่อหารายได้บำรุงการกุศลต่าง ๆ
จากนั้นโสเภณีก็ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน
"ค้าประเวณี" หมายความว่า หญิงใช้อวัยวะของตนเสมือนหนึ่งสินค้า รับจ้างปลดเปลื้องความใคร่ให้แก่ลูกค้าด้วยการร่วมประเวณีด้วย ถ้าเป็นแต่นวดให้ผู้ชาย เช่น หญิงตามสถานอาบ-อบ-นวด โดยมิได้กระทำชำเรา แม้จะได้กระทำการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศอยู่บ้าง ก็มิได้ชื่อว่าเป็นหญิงโสเภณี
การค้าประเวณีในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 โดยไม่ได้ถูกนำเข้ามาจากชาติตะวันตกตามเรื่องเล่ากัน เริ่มเป็นที่แพร่หลายกับชาวตะวันตก ในช่วงที่มีการติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาวตะวันตก มีหลักฐานเป็นศัพท์ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกว่า รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ
เรียกว่า โสเภณี เป็นอาชีพเก่าแก่ คร่ำครึ ทีเดียว
เมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แหล่งประจำของโสเภณีอยู่ที่สำเพ็ง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพวกชาวจีน เพราะสำเพ็งเป็นแหล่งคนจีน มาตั้งแต่สร้างกรุง ซึ่งในนิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อท่านออกเดินทางไประยองในตอนยามสอง นั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้ยินเสียงหญิงเหล่านี้ขับร้องเพลงลอยลมมา
ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน
ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง
ใน ประมวลกฎหมายตรา 3 ดวง – บทพระไอยการลักษณะผัวเมีย มีการบัญญัติผู้ค้าประเวณีว่า หญิงนครโสเภณี และสมัยสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสถานประกอบการเรียกว่า โรงหญิงนครโสเภณี โดยทั่วไปมีโคมกระจกสีเขียวตั้งข้างหน้า จึงเรียกกันว่า สำนักโคมเขียว พอค่ำก็เปิดไฟหรือจุดตะเกียงในโคมให้ลูกค้ารู้กัน เป็นสัญลักษณ์ แหล่งที่ขึ้นชื่อมากเรียกว่า "ตรอกเต๊า" มีสำนักตั้งกันเรียงรายตลอดตรอก
ลักษณะ โสเภณีสมัยนั้นอายุ15-16ขึ้นไป (ปัจจุบัน 11-12 ก็ถูกบังคับให้ค้ากามแล้ว) ชอบผัดหน้าขาว กินหมากปากแดง ใส่น้ำอบไทยหอมฟุ้ง แต่งตัวก็นุ่งผ้าลายหรือโจงกระเบน ห่มผ้าแถบหรือสไบเฉียง บางคนใส่เสื้อคอ คือเป็นเสื้อมีสายโยงบ่าคล้ายๆเสื้อสายเดี่ยว ตกค่ำพวกนี้ก็จะมานั่งโชว์ตัว อยู่หน้าห้องริมตรอกอย่างเปิดเผย คอยต้อนรับลูกค้า ส่วนกลางวันพวกเธอนอนพักไม่ออกมาทำงาน
โสเภณีเป็นอาชีพที่ไม่ ผิดกฎหมาย แต่ทางการเขาก็ไม่ได้ปล่อยเอาไว้เฉยๆ โดยมีการเก็บภาษีอากรเข้ารัฐกับเขาด้วย ในรูปแบบภาษีโรงเรือน กระทั่งหลังปี พ.ศ. 2499 เริ่มมีพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 กำหนดว่าการค้าประเวณีเป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่ในสังคมยุคใหม่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม โดยในช่วงนั้นการค้าประเวณีจะเป็นการลักลอบค้าประเวณี
อาบอบนวด หรือ ซ่อง เป็นสถานบริการทางเพศโดยตรง โดยผู้ขายบริการจะนั่งรอภายในสถานบริการและรอลูกค้าเข้ามาเลือก โดยในสถานบริการจะมีบริการจัดห้องไว้รับรอง ในต่างจังหวัดบางที่ผู้ให้บริการ จะยืนรวมตัวรอบกองไฟ และมีห้องบริการไว้สำหรับลูกค้าที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ
ปัจจุบันการค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็ยังคงปล่อยให้มีการเปิดสถานบริการอาบอบนวด ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในส่วนของสถานบริการทั่วไปกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังมีสถานบันเทิง คาเฟ่ ร้านคาราโอเกะ สปา หรือร้านตัดผม บางแห่ง มีการบริการพิเศษเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าอีกด้วย โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นเรื่องที่แอบแฝงไปด้วยการให้บริการความสุขทางเพศด้วย ราคาค่า(ทอด)ตัว ก็ตกลงกันเองระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่เกี่ยวข้องกับทางสถานบริการ ตั้งแต่ 50 บาท จนถึงหลายหมื่นบาท
จากการประมาณผู้ขายบริการทางเพศ ทั้งชายและหญิงในประเทศไทยมีประมาณ 130,000 คน
อู้!! ไม่ใช่น้อยกันเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูล+รูปภาพอ้างอิงบางส่วน จาก วิกิพีเดีย