มหกรรมแหกตา -ลวงโลก (อีกสักครั้ง) ของรายการ Thailand’s Got Talent ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อ “เบลล์” นันทิตา ฆัมภิรานนท์ “ผู้หญิงข้ามเพศ - ตุ๊ดทาเลนด์” ซึ่งเข้ารอบ 120 ทีมและไม่ผ่านเข้ารอบ 48 ทีม แต่บังเอิญเทปที่ออกอากาศในวันที่ 13 มีนาคม 2554กระแสตอบรับดี “เสี่ยตา” สั่งเวิร์คพอยท์ถ่ายซ่อมตัดต่อให้ “เข้ารอบ” ร่วมมือพร้อมใจกันดันผ่านรายการ “เช้าดูวู้ดดี้” เปิดตัวให้สัมภาษณ์ผ่าน “นิตยสาร Who?” เพื่อจะพาเธอโกอินเตอร์ (อีกครั้ง) รายการนี้ บริษัท ยูนิลีเวอร์เป็นเพียงสปอนเซอร์หลักหาใช่ผู้นำเข้าแต่อย่างใด เจ้าของแท้จริงคือ Sony BEC ที่อ้างตัวว่าเป็นแค่พาร์ตเนอร์ นักร้องจากประเทศอังกฤษ ร็อบบี วิลเลียมส์ (อดีตสมาชิกวงเทค แดท) อุ้มเธอเข้าสู่กระแสโลกด้วยคำอุทาน “Is she a guy?”
อดีต “เบลล์” นันทิตา เป็นหนึ่งในสมาชิก Venus Flytrap รุ่น 2 ที่ด่วนหมดสัญญาไปกับSony BMG ก่อน
กระแส “เบลล์ฟีเวอร์” นี้หากดูเผินๆ ก็คงจะไม่มีอะไรแปลกประหลาด การที่สาวประเภทสองซึ่งมีเสียงไพเราะสามารถร้องเพลงได้ดีทั้งเสียงของผู้หญิงและเสียงของผู้ชายจะได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีคนชื่นชมทั้งเสียงร้อง รูปร่างหน้าตา และชีวิตที่ต้องต่อสู้เนื่องจากครอบครัวไม่ยอมรับ จนกระทั่งเกิดแฟนคลับทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย แต่ถ้าหากได้รับรู้ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับ “เบลล์ นันทิตา” ในการประกวด Thailand’s Got Talent ตลอดจนความเป็นจริงของสังคมสาวประเภทสองแล้ว อาจจะทำให้ความคิดที่เคยมีเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้
เธอหลอกคนทั้งโลก
“คุณหลอกผมมาตั้งแต่แรกพบ” “นิรุตติ์ ศิริจรรยา” กรรมการคนหนึ่งบนเวที Thailand’s Got Talent บอกกับ “เบลล์ นันทิตา ฆัมภิรานนท์” ในวันที่เธอปรากฏตัวครั้งแรกต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ชมในห้องส่ง ในวันนั้นเบลล์ออกมาด้วยใบหน้าสะสวย รูปร่างผิวพรรณเป็นสาวสะพรั่งผมยาวเลยบ่าสีดำสนิท หลังจากให้สัญญาณเริ่มการแสดง เบลล์ร้องเพลงอยากรู้แต่ไม่อยากถามด้วยเสียงผู้หญิงใสๆ ก่อนจะหักมุมด้วยการร้องเพลง UNLOVABLE ด้วยเสียงผู้ชายแบบแมนเต็มร้อยจนเรียกเสียงฮือฮาทั้งห้องส่ง
หลังจากที่เทปการแสดงของเบลล์ออกอากาศในวัน 13 มีนาคม เบลล์ก็กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ คนทั้งประเทศแสดงความชื่นชม เธอเริ่มมีแฟนคลับเป็นของตัวเอง โลกอินเตอร์เน็ตร้อนฉ่าด้วยกระแสเบลล์ฟีเวอร์ คลิปตอนเธอแสดงความสามารถที่มีคนนำไปลงในยูทิวบ์แบบต่างกรรมต่างวาระมีคนคลิกเข้าไปดูเป็นหลักแสน (ก่อนจะถึงหลักล้านในเวลาต่อมา) ซึ่งอาการเซอร์ไพรส์ของคนดู กรรมการ และผู้ชมทางบ้านนั้นเป็นสิ่งที่เบลล์บอกว่าเธอวางแผนมาตั้งแต่แรกแล้ว นั่นคือจุดประสงค์ของเธอที่ต้องการจะหลอกคนดู ต้องการทำเซอร์ไพรซ์ เนื่องจากเธอมีความสามารถร้องได้ทั้งเสียงผู้หญิงและเสียงผู้ชายมานานนับสิบปี ตั้งแต่เธอเริ่มร้องเพลงเป็นอาชีพแล้ว
ความจริงที่หลายคนไม่เคยรู้
ถึงจะสร้างความเซอร์ไพรส์ได้ในวันแรกแต่การแสดงของเบลล์ นันทิตาก็ถูกเขี่ยออกในวันตัดสินรอบเซมิไฟนัลที่ต้องการทีมผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้ารอบเพียง 48 ทีมจากทั้งหมด 120 ทีมที่คัดมาทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลที่ภิญโญ รู้ธรรม หนึ่งในคณะกรรมการบอกอย่างชัดเจนว่า “เสียงดี แต่ไม่มีทาเลนต์อะไร ไม่มีอะไรเป็นจุดขาย คุณก็ทำได้เหมือนที่นางโชว์ทั่วไปเขาทำกัน”
สิ่งที่ภิญโญพูดในวันนั้นไม่ได้เกินเลยหรือผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เพราะในสังคมของเราทุกวันนี้ การร้องเพลงสองเสียงหญิงชายในลักษณะที่เบลล์แสดงบนเวที Thailand’s Got Talent เป็นสิ่งที่สาวประเภทสองจำนวนไม่น้อยสามารถทำได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักร้องอาชีพ
“ความสามารถเสมอเหมือนนางโชว์ทั่วประเทศ” ซึ่งหลุดออกจากปากของภิญโญจึงเป็นคอมเมนต์ที่ถูกต้องแน่นอนและตรงไปตรงมาที่สุด
สาวประเภทสองและคนที่ใกล้ชิดคลุกคลีหรือรู้จักคนกลุ่มนี้ต่างรู้กันดีว่า สาวประเภทสองที่ร้องเพลงได้สองเสียงทั้งเสียงดั้งเดิมแบบชาย รวมถึงการใช้กลวิธี “เสียงหลบ” ด้วยการบีบเสียงให้ใสเล็กแบบผู้หญิงเป็นเรื่องที่มีคนทำได้มากมายนัก โดยส่วนมากมักเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพกึ่งนักร้อง - นางโชว์ตามผับบาร์ และนักร้องอาชีพซึ่งมีลูกเล่นสร้างความบันเทิงให้ผู้ฟังด้วยการแต่งหญิงเต็มตัวแล้วร้องเพลงด้วยเสียงชายกับหญิงสลับกันไปมา นักร้องชื่อดังที่สามารถทำได้ตามนี้ก็คือ มัม ลาโคนิค นักร้องสาวประเภทสองชื่อดัง และโจแอน บุญสูงเนิน นักร้องสาวเทียม เจ้าของฉายา “ กะเทยร้อยเสียง” ที่ทำงานในผับบาร์จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็ทำได้มากกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่บรรดานักร้องที่ว่านี้ หน้าตาไม่ได้แอ๊บสวยได้อย่างเธอเท่านั้นเอง
หลังจากถ่ายทำรอบคัดเลือกทีมเข้าประกวดเพื่อผ่านเข้าสู่รอบเซมิไฟนัลสิ้นสุดลงในค่ำคืนวันที่ 31 มกราคม เบลล์เก็บกระเป๋ากลับบ้านไปประกอบอาชีพนักร้องและดีเจที่คลื่นวิทยุเมืองย่าโมบ้านเกิดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่หลังจากที่เทปการแสดงความสามารถรอบคัดเลือกของรายการ Thailand’s Got Talent ออกอากาศ และมีผู้นำคลิปการแสดงของเธอไปเผยแพร่ต่อในโลกอินเทอร์เน็ตจนเกิดกระแสดังกล่าว เธอก็ถูกเรียกตัวจากทางรายการให้ไป “ถ่ายซ่อม”
เพราะทางเวิร์คพอยท์ในฐานะบริษัทรับจ้างผลิตกับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ทำการประชุมตกลงกันแล้วว่า “เบลล์ - นันทิตา” จะเป็นขุมทรัพย์ที่หากปล่อยทิ้งไปต้องเสียดายไปตลอดชีวิต เพราะอย่างน้อยที่สุดบรรดาแฟนคลับทั่วประเทศกับแฟนคลับในต่างประเทศที่รวมกันแล้วน่าจะถึงหลักแสนก็มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะติดตามเธอ
ระยะเวลาเพียงสั้นๆ หลังจากเทปการแสดงรอบคัดเลือกทั่วไปในวันที่ 13 มีนาคมของเบลล์ นันทิตาออกอาอากาศ ก่อนถึงวันที่เทปรายการรอบประกาศผลเซมิไฟนัลเผยแพร่ในวันที่ 10 เมษายน เวิร์คพอยท์จึงเรียกทีมงาน คณะกรรมการ และผู้ชมพักตร์อาชาในห้องส่งให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อถ่ายเจาะการประกาศผลว่าให้เบลล์ นันทิตาเป็นหนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบ 48 ทีม แล้วนำเทปดังกล่าวไปต่อเติมกับเทปการประกาศผลแท้จริงที่ทำกันเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม
นับว่าเป็นการโปะเข้าไปอย่างหน้าด้านๆ ของเวิร์คพอยท์โดยมี “กระแสตอบรับ” เป็นตัวแปร ซึ่งเรื่องนี้หากไม่ใช่ผู้เข้าประกวด คณะกรรมการ ผู้ชมในห้องส่ง ทีมงาน และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ ก็ยากที่จะล่วงรู้เนื่องจากฝ่ายตัดต่อของเวิร์คพอยท์ทำงานเก่งขั้นเทพกันอยู่แล้ว
เดินหน้าดัน
เมื่อไม่ใช่การประกาศผลสดๆ จึงสามารถตัดต่อเพิ่มเติมผู้เข้าประกวดที่สามารถ “ทำเงิน”ได้ให้แพลมเข้ามาได้อย่างเนียนๆ หลังจากที่เบลล์กลายเป็นตัวละครที่ผ่านเข้ารอบ 48 ทีมได้เรียบร้อยแล้ว พันธมิตรทั้งสองก็เดินหน้าผลักดันให้เบลล์แจ้งเกิดในวงกว้างทันที
ตั้งแต่การเรียกกระแสด้วยการพาไปออกรายการต่างๆ เริ่มตั้งแต่รายการ “เช้าดูวู้ดดี้” ที่สอดคล้องกับคอนเซ็ปท์ “วู้ดดี้เกิดมาขาย” เวิร์คพอยต์กับ Sony BEC (ซึ่งเป็นต้นสังกัดที่แท้จริง) จึงร่วมมือกันซื้อเวลาหนึ่งช่วงแล้วให้เบลล์ไปนั่งให้วู้ดดี้แสดงอาการโอเวอร์แอ็กติ้งคารวะบูชาเสียงร้องทั้งสองเพศของเบลล์ ช่วยขยับกระแสเบลล์ฟีเวอร์ให้ลุกลามในวงกว้างได้เป็นอย่างดี
ต่อจากนั้นก็มีรายการอื่นๆ ติดต่อให้เบลล์ไปออกตามมาเรื่อยๆ ทั้งรายการรอบเรื่องเมืองไทย ทางดูดีชาแนล รายการแมงโก้คาเฟ่ ทางแมงโก้ทีวี ร้องเพลงโชว์ตัวที่งานแถลงข่าวการประกวดมีสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส 2011 รวมถึงลงปกนิตยสาร Who? ฉบับล่าสุดอีกด้วย
โผล่หน้าโชว์เสียงปรากฏตัวเป็นว่าเล่นท่ามกลางสายตาน้อยอกน้อยใจของผู้เข้าประกวดรายอื่นๆ เพราะผู้เข้าประกวดทุกคนรู้ดีว่าการประกวด Thailand’s Got Talent นั้น จะต้องเซ็นสัญญากับต้นสังกัดว่าห้ามไปออกสื่อทุกประเภทหรือแม้แต่โชว์ตัวทุกรูปแบบโดยพลการ นั่นหมายความว่าก่อนจะไปออกสื่อต่างๆ ได้นั้นจะต้องขออนุญาตกับทางต้นสังกัดก่อน ซึ่งถ้าหากต้นสังกัดไม่อนุญาตผู้เข้าประกวดรายนั้นหรือทีมนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ปรากฏตัวเด็ดขาด
แน่นอนว่าทุกๆ การออกสื่อของเบลล์อยู่ในการรับรู้ของ Sony BEC และเวิร์คพอยท์ ซึ่งมันก็ช่วยเพิ่มกระแสเบลล์ฟีเวอร์และกระแสของรายการได้เป็นอย่างดี ดูๆ แล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายผิดแปลก ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันรายอื่นๆ จะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้หญิงข้ามเพศรายนี้บ้าง
สังเกตกันให้ดีๆ ว่ามีผู้เข้าประกวดรายไหนหรือทีมใดได้ไปปรากฏตัวออกสื่อถี่เยอะเทียบเท่าเบลล์ นันทิตาบ้าง ที่ผ่านมีเพียง สมศักดิ์ กีตาร์มือเดียวที่เคยไปนั่งให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากจะบอกว่าที่เบลล์ได้ปรากฏตัวตามสื่อเยอะกว่าคนอื่นก็เพราะความสามารถก็คงจะไม่ใช่ เพราะอย่างที่บอกว่าการร้องเพลงสองเสียงไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์หรือสิ่งแปลกใหม่ ยิ่งเมื่อเทียบกับการแสดงบีทบ็อก การโชว์ตัวอ่อน หรือการร้องเพลงแบบโอเปราก็จะเห็นได้ว่าการร้องเพลงไพเราะสองเสียงของเบลล์ถือว่าธรรมดามาก
หรือถ้าจะบอกว่าการที่เธอได้ไปออกสื่อต่างๆ เพราะโปรไฟล์ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่ เนื่องจากมีผู้เข้าประกวดที่มีเรื่องราวน่าสนใจกว่าเธอไม่น้อย การต่อสู้เพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิทางเพศของเธอเป็นเพียงเรื่องสามัญของสาวประเภทสองนับหมื่นทั่วประเทศหรือนับแสนทั่วโลก
จะบอกว่าไม่มีผู้เข้าประกวดรายใดที่มีผู้ติดต่อให้ออกสื่อนั้นลืมไปได้เลย เพราะก่อนหน้านี้ “ดร๊าฟ ศตวรรษ ถินจันทร์” ผู้เข้าประกวดชายหน้าตาดี หุ่นเพอร์เฟค ก็ได้รับการติดต่อจากนิตยสาร Men’s Health ให้ไปถ่ายแบบ แต่ทางต้นสังกัดผู้กุมชะตาชีวิตของเขาในช่วงนี้กลับปฏิเสธไม่ให้เขาได้ลงนิตยสารดังกล่าวหน้าตาเฉย
(หมายเหตุ - ในโปรไฟล์เก่าที่ ซูเปอร์บันเทิงมีอยู่หน้าการประกวดรายการ Thailand’s Got Talent พบว่า “ดร๊าฟ” ศตวรรษ ถินจันทร์ ผู้นี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาศิลปะการแสดง และกำกับการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยผ่านการประกวดจนได้รางวัลจากเวที “10 หนุ่มหน้าใส Tea Tree” เมื่อปี 2009 และ “ Prince Seventeen 2010” (นิตยสาร เซเวนทีน) มีความสามารถพิเศษหลายด้านเช่น การร้องเพลงแจ๊ซ และคลาสสิคในภาษา อิตาเลียน,เยอรมัน,ฝรั่งเศส,สเปน ตลอดจนมีความสามารถในเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิดเช่น เปียนโน, แซกโซโฟน และกีต้าร์ เป็นต้น)
การที่เบลล์ปรากฏตัวออกมาให้เราได้พบเห็นถี่บ่อยขนาดนี้จึงไม่ใช่เพียงเพราะความสามารถ หน้าตา หรือเรื่องบังเอิญแต่เป็นมหกรรมการทำงานร่วมกันของสองพันธมิตรอย่าง Sony BEC และเวิร์คพอยท์ที่โหนกระแสเบลล์ฟีเวอร์หลังจากที่โยนหินถามทางไปก่อนหน้านี้นั่นเอง
เสพติดความสำเร็จจาก “ วีนัส ฟลายแทร็ป”
จากความสำเร็จของ “วีนัส ฟายแทร็ป(venus flytrap)” กลุ่มนักร้องนักเต้นสาวประเภทสองจำนวน 5 คนในสังกัดของ Sony BMG ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่ออกอัลบั้ม Visa For Love ไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งแม้ตัวเพลงจะไม่เป็นที่จดจำของผู้คนสักเท่าไหร่ แต่เรื่องการโชว์นั้นพวกเธอเก็บกินมาได้ยาวนานต่อเนื่องหลายปีเลยทีเดียว
ด้วยความที่เป็นวงซึ่งมีจุดขายอยู่ที่การโชว์นี่เอง ทำให้วีนัส ฟลายแทร็ปเดินสายตระเวนโชว์ในแบบเวิลด์ทัวร์ สร้างชื่อเสียงและกอบโกยเงินทองให้แก่ต้นสังกัดไม่ใช่น้อย แต่ในขณะที่วีนัสฟลายแทร็ปกำลังเดินหน้าไปได้สวยอยู่นั้นเอง สมาชิกในวงที่มี นก ยลดา(เกริกก้อง) สวนยศ เป็นหนึ่งในตัวหลัก(ปัจจุบันเธอได้ผันตัวเองมาเป็นประธานกลุ่มสตรีข้ามเพศและไม่อนุญาตให้ใครเรียกเธอว่ากะเทย!) ได้เกิดแตกคอกันอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ไม่สามารถร่วมทางเดินกันได้เหมือนเดิม เป็นเหตุให้วีนัส ฟลายแทร็ป ต้องเปิดโครงการ venus flytrap search for the missing puzzle ขึ้นที่อาคารมาลีนนท์ เพื่อเฟ้นหาสาวประเภทสองจำนวน 2 คนมาร่วมวงแทนที่ “นกและแอมมี่” สมาชิกอีกรายที่แยกออกไป เรื่องเล่าให้เงามืดบอกว่า ที่วงแตกเพราะบรรดานักร้องสาวข้ามเพศในครั้งนั้นหลายคนในวงแย่งผู้ชายคนเดียวกัน นายแบบที่ถูกรุมตอมในครั้งนั้นชื่อ “ไมค์” !?
และในครั้งนี้เองที่วีนัส ฟลายแทร็ปได้สมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาสองคน และหนึ่งในนั้นก็คือ เบลล์ นันทิตา คนนี้นี่เอง (อีกคนคือ มิว พันธกานต์)
เบลล์ได้เข้ามาร่วมกลุ่ม ฝึกหัดร้องเพลง เรียนเต้น และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับวงวีนัสฟลายแทร็ปอยู่ระยะหนึ่ง แต่จังหวะเวลาในการทำอัลบั้มให้พวกเธอยังไม่ลงตัว จนในที่สุดเบลล์ก็หมดสัญญากับวีนัสฟลายแทร็ปไปเมื่อปีที่แล้ว และนั่นก็ทำให้เธอมีชื่อเป็นหนึ่งในสมาชิกวงวีนัสฟลายแทร็ปที่ยังไม่เคยมีผลงานอัลบั้มเพลงออกมาอย่างจริงจัง แต่หน้าตา ลีลาและความสามารถของเธอนั้นคุ้นเคยติดตรึงอยู่ในความทรงจำของทีมงาน Sony BMGเป็นอย่างดี ซึ่งก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใดเบลล์ นันทิตาจึงได้เดินเข้ามาประกวดรายการนี้
กลิ่นความสำเร็จของวงวีนัสฟลายแทร็ปคงจะลอยเข้าจมูกของผู้บริหาร Sony BEC อีกครั้ง หลังจากที่เห็นกระแสตอบรับที่ดีเลิศเกินคาดของเบลล์ นันทิตา การกลับลำเปลี่ยนบทให้เบลล์กลับเข้ามา ตลอดจนพยายามผลักดันจนออกนอกหน้า ปั่นราคาให้เบลล์มีค่าสูงเกินสาวประเภทสองรายอื่นๆ ไปไกลลิบ ยัดเยียดเรื่องราวของเบลล์ให้แก่ศิลปินฝรั่งอย่าง “ร็อบบี้ วิลเลียมส์” ในระหว่างที่เขาไปเป็นแขกรับเชิญรายการทอล์กโชว์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งๆ ที่เนื้อหาการพูดคุยในวันนั้นไม่ได้มีส่วนไหนที่สามารถโยงไปถึงเรื่องของเบลล์ได้เลยด้วยซ้ำ แต่การดูคลิปการร้องเพลงสองเสียงของเบลล์ในครั้งนั้นก็ทำให้ร็อบบี้ประหลาดใจและอุทานเชิงถามพิธีกรออกมาว่า “Is she a Guy? ” และประโยคสั้นๆ นั้นก็กลายมาเป็นถ้อยคำที่ใช้โฆษณาหนุนดันเบลล์ในเวลาต่อมา
ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน?
ในขณะที่เบลล์ได้รับการผลักดันอย่างออกนอกหน้าเช่นนี้ ผู้เข้าประกวดรายอื่นๆ กลับแทบจะไม่มีพื้นที่ให้โผล่ขึ้นมาแนะนำตัว หากสามารถแหวกผ่านเรื่องของเบลล์เพื่อไปพบกับเรื่องของ “เฟิร์ส เกณิกา เขียนแม้น” เด็กสาวบ้านนอกที่มีเสียงทรงพลัง ซึ่งแม้ทั้งประเทศจะรู้แล้วว่าเธอไม่ได้เป็นเด็กเฉิ่มเชยอย่างที่เธอพยายามสร้างภาพ แต่รายการก็ยังมีพื้นที่ให้เธอแสดงออกและยินยอมให้เธอผ่านเข้าไปสู่รอบไฟนัลได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “ อัจจ์ กัลป์ยาณคุปต์” ชายผู้มาประกวดเพื่อหาเงินไปรักษาแม่ ผู้ซึ่งเน้นการเป่าปี่(ร้องไห้) มากกว่าการเป่าแซ็กโซโฟนที่เขาสะพายขึ้นไปโชว์บนเวที เรื่องของ “สมศักดิ์ เหมรัญ” นักกีตาร์มือเดียวและ “ก้องภพ แก้วเรือง” นักดนตรีพิการที่สร้างกำลังใจให้แก่คนดูตั้งแต่แรกปรากฏตัว ทั้งๆ ที่ในจำนวนผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้ารอบเซมิไฟนัลมีถึง 48 ทีม แต่พื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ของรายการกลับมีให้เพียงแค่ไม่กี่ทีม ซ้ำซากจำเจจนถือได้ว่ามีคนรู้จักผู้เข้าประกวดอยู่แค่หยิบมือ และมีทีมผู้เข้าประกวดหลายทีมที่ผู้ชมเพิ่งเคยเห็นหน้าในวันที่พวกเขาต้องส่งคะแนนไปโหวตให้
การที่ผู้เข้าประกวดไม่ได้รับพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ไม่มีภาพการแสดงความสามารถในครั้งก่อน ไม่มีคลิปวิดีโอแสดงความสามารถบนเวทีของเขาในเว็บไซต์หลักของรายการ ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่มีสตอรี่ที่น่าสนใจ ตลอดจนไม่มีความพยายามที่จะสร้างสตอรี่ขึ้นมาเหมือนกับผู้เข้าประกวดรายอื่นๆ ที่รายการพยายามหนุนเชียร์
ในทางการตลาดถ้าตั้งใจนำไปต่อยอดทางธุรกิจแล้ว ทั้ง “สมศักดิ์ กีต้าร์มือเดียว” , “ก้องภพ นักดนตรีพิการ” หรือ “เฟิร์ส เด็กหญิงบ้านนอกเสียงทรงพลัง” ก็ไม่อาจจะนำมาแปรรูปผลิตเป็นศิลปินในสังกัดได้เหมือนกับ “เบลล์” ผู้หญิงข้ามเพศที่ร้อง 2 เสียง แม้ว่า กรรมการภิญโญ รู้ธรรมจะเคยกล่าวประโยคสัจธรรมว่า “ไม่มีจุดขาย”บนเวทีการประกวด แต่วันนี้เพราะ “กระแสตอบรับ” จึงถูกพลิกผันเอาเธอกลายเป็น “จุดขาย” ของตลาดเพลงปัจจุบันที่เน้น “การโชว์” มากกว่า “ตัวเพลง” และทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้เกิดกระบวนการ “ชุบตัวและย้อมแมว” เพื่อให้ “เบลล์” นันทิตา ฆัมภิรานนท์” นักร้อง 2 เสียงของหญิงข้ามเพศซึ่งมีความสามารถในระดับพื้นๆ ธรรมดา (มาก) ให้ยืนรอจ่อคิวเตรียมเป็นศิลปินในสังกัด Sony BEC ในอนาคต
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ “ซูเปอร์บันเทิง - ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” บอกเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของรายการนี้แก่ผู้อ่าน โดยในครั้งแรกตีพิมพ์ในฉบับที่ 79 จากกรณีตัวอย่างของ “เฟิร์ส เกณิกา เขียนแม้น” และกรณีของ “เบลล์ นันทิตา ฆัมภิรานนท์” ในครั้งนี้ เพื่อที่จะฝากเตือนบอกกับบริษัท เวิร์คพอยท์ ของ “เสี่ยตา” ปัญญา นิรันดร์กุล ว่าให้เลิกทำการแหกตาประชาชนคนดูทางบ้านเสียที เพราะ รายการ Thailand’s Got Talent ไม่ใช่เกมโชว์ที่อาจจะทำการแหกตา (ได้บ้าง) หากนี่เป็นรายการแสดง “ความสามารถของคน” ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะทำอะไรก็ตามที่เป็นการดูถูกความสามารถของคนไทย และลดความน่าเชื่อถือของรายการลง