อันดับภาพยนต์วิทยาศาสตร์ยอดแย่

อันดับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดแย่
Ouroboros (38,360 views) first post: Fri 14 January 2011 last update: Tue 8 February 2011
นักวิทยาศาสตร์จาก NASA ได้จัดอันดับให้ "2012" เป็น "ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดแย่"
สารบัญ
หน้า : 1 Hall of Shame โดยนาซ่า
หน้า : 2 Hall of Fame โดยนาซ่า

 

หน้าที่ 1 - Hall of Shame โดยนาซ่า
 

            ในวงการภาพยนตร์จะมีการมอบรางวัลเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ทุกปี เช่น รางวัลออสการ์ รางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ของไทยก็มีการมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ซึ่งรางวัลก็แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ทั้งดารานำแสดงยอดเยี่ยม เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ฯลฯ
            วงการวิทยาศาสตร์ก็ไม่น้อยหน้า มีการจัดอันดับภาพยนตร์เช่นกัน อันดับนี้จัดโดย NASA และ Science & Entertainment Exchange  (SEE) เหล่านักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ (sci-fi) ว่าเนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์ที่ภาพยนตร์กล่าวอ้างนั้นมีสอดคล้องกับข้อเท็จ จริงเพียงใด เพื่อจัดอันดับ "ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดแย่"

            ภาพยนตร์ทีได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติทีคงไม่มีใครอยากได้นี้ เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เข้าฉายเมื่อปี 2552 ซึ่งได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง "2012" หรือ "วันสิ้นโลก" !!
            ทำไมภาพยนตร์ที่สร้างกระแสตื่นตัวให้กับผู้คนอย่าง 2012 ถูกจัดให้เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดแย่ อันดับ 1 ? Donald  Yeomans  หัวหน้าโครงการของ NASA  วิจารณ์ว่า "ภาพยนตร์เรื่อง 2012 อาศัยเพียงแค่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องปฏิทินของชาวมายา มาเขียนบทผูกกับเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างมั่วซั่ว"

 

 


           แนวคิดของเรื่อง 2012 เริ่มจากนักฟิสิกส์ค้นพบว่า มีอนุภาค "นิวติโน" จำนวนมหาศาลแผ่จากดวงอาทิตย์มายังโลก อนุภาคนิวตริโนทำให้แกนกลางของโลกหลอมละลาย ภายในโลกปั่นป่วน จึงส่งผลให้เกิดหายนะต่างๆ ตามมา เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินแยก และสึนามิ เป็นต้น

            แต่ข้อเท็จจริงคือ นิวตริโน (neutrino) เป็นอนุภาคที่เป็นกลาง โดยปกติมันจะไม่ทำปฏิกิริยากับสสารใดๆ และผ่านโลกของเราอยู่เกือบตลอดเวลา นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ถึงอนุภาคชนิดนี้ในเชิงทฤษฎีได้นานแล้ว แต่กว่าจะยืนยันการมีอยู่ของนิวตริโนได้ ก็เมื่อสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงพอจะตรวจจับได้ การที่บอกว่านิวตริโนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาใดๆ กับแกนโลกได้นั้นเป็นจินตนาการล้วนๆ

    "NASA points out that while solar flares have disrupted radio stations, neutrinos are neutral particles that do not interact with physical substances."

            เรื่อง ปฏิทินมายาก็เช่นกัน จริงอยู่ที่ปฏิทินจะสิ้นสุดลงวันที่ 21 ธันวาคม 2012  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกจะถึงคราวดับสูญ ปฏิทินแบบยาว (Long Count) ของชาวมายา เป็นปฏิทินที่ใช้บอกเวลาช่วงกว้าง ราวๆ 5,126 ปี แบ่งเป็น 13 รอบบักตุน (Baktun) เริ่มต้นในปี 3114 ก่อนคริสตกาล  ปฏิทินจะสิ้นสุดในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 แต่เมื่อปฏิทินสิ้นสุดหมายถึงโลกสิ้นสุดหรือ
           หากเทียบกับปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ (ปฏิทินเกรกอเรียน) เราใช้บอกช่วงเวลาประมาณ 365 วัน โดยแบ่งเป็น 12 เดือน เมื่อนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม วันสุดท้ายของปฏิทิน เราทำอย่างไร? เพียงแค่เริ่มนับใหม่ เป็น 1 มกราคมของปีถัดไปนั้น เป็นเรื่องธรรมดาในการสร้างปฏิทินมิใช่หรือที่จะสร้างเป็นวงรอบ หากจะสร้างปฏิทินเพียงแค่นับ 1 2 3 … ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดปฏิทินจะมีประโยชน์อันใด

นอกจาก 2012 แล้ว ยังมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ถูกจัดอันดับให้เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดแย่ อีก ภาพยนตร์ที่อยู่ใน  "Hall of Shame" ของ NASA ได้แก่
   1. 2012 (2009)
   2. The Core (2003)
   3. Armageddon (1998)
   4. Volcano (1997)
   5. Chain Reaction (1996)
   6. The 6th Day (2000)
   7. What the #$*! Do We Know? (2004)

อันดับ 1-4 เป็นแนวภาพยนตร์หายนะมหันตภัยธรรมชาติ ส่วน อันดับ 5-7 เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีล้ำสมัย
    
เพื่อไม่ให้เป็นกล่าวเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา จะขอหยิบยกบางเรื่อง (ที่น่าจะเคยดู) มากล่าวถึงถึง

          เรื่อง Armageddon โครงเรื่องตรงไปตรงมา มีอุกกาบาตกำลังจะพุ่งชนโลกใน 18 วัน ต้องส่งทีมออกไปกู้โลก เป็นสูตรสำเร็จของภาพยนตร์แนวนี้ วิธีแก้ไข คือ ขึ้นยานอวกาศ นำเครื่องขุดเจาะไป เจาะอุกกาบาตแล้วเอาระเบิดฝังเพื่อทำลาย จึงจำเป็นต้องพึ่งความเชี่ยวชาญของนักขุดเจาะน้ำมัน
         ภาพยนตร์สร้างได้ตื่นเต้นเร้าอารมณ์และสร้างฉากได้สมจริง แต่กลับตั้งอยู่บนข้อมูลทางวิทยาศาตร์ที่ไม่สมจริง เช่น เรื่องการขุดเจาะและฝังระเบิดบนอุกกาบาตที่กำลังเคลื่อนที่ จากหลักการทางวิทยาศาสตร์แทบไม่มีความเป็นได้เลย
         ตามเนื้อเรื่องอุกกาบาตมีขนาดประมาณรัฐเท็กซัส เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 35,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่าว่าแต่ลงไปตั้งเครื่องขุดเจาะเลย แค่จะยืนยังแทบเป็นไปไม่ได้ โลกของเราเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว  108,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะมากกว่าอุกกาบาตในเรื่อง แต่โลกมีแรงโน้มถ่วงที่ยึดเราไว้ เราจึงเคลื่อนที่ไปพร้อมกับโลก ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนที่ แต่อุกกาบาตที่มีมวลเล็กน้อยเมื่อเทียบกับโลกไม่มีแรงยึดคนไว้บนพื้นผิวแน่ นอน หากเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงจึงไม่น่าจะไปยืนอยู่บนอุกกาบาตได้เลย แนวทางของเรื่องคล้ายกับ The Core มาก ต่างกันเพียงแค่เป็นหายนะมาจากอุกกาบาต

 

 


         ข้ามไปยังหนังวิทยาศาสตร์แนวเทคโนโลยีล้ำสมัยบ้าง เรื่อง The 6th Day มีโครงเรื่องเป็นโลกอนาคตอันใกล้ ตัวเอกของเรื่องกลับมาบ้านแล้วพบว่า มีมนุษย์โคลน (clone) ของตนเอง อยู่ที่บ้าน ซึ่งมีทั้งหน้าตาและความทรงจำเหมือนกันทุกประการ สร้างความสับสนไม่รู้ว่าใครเป็นตัวจริงกันแน่
        ตามเนื้อเรื่องมนุษย์โคลนถูกสร้างขึ้นจากเลือด การ คัดลอกข้อมูลพันธุกรรมและสร้างขึ้นใหม่นั้นสามารถทำได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ใช้ทคนิคโคลนนิงในการเลียนแบบความทรงจำของตัวจริง ในเนื่องเรื่องยังแสดงให้เห็นอีกว่าการโคลนนิ่งสามารถเสร็จสมบูรณ์ (ออกมาเป็นผู้ใหญ่) ในเวลา 2-3 ชั่วโมง ซึ่งในทางชีววิทยา สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนอย่างมนุษย์ไม่สามารถเติบโตเต็มที่ได้ในหน่วยเวลาเป็น ชั่วโมงแน่นอน ลองนึกดูว่าแค่การปลูกต้นไม้ง่ายๆ อย่างถั่วเขียว ยังต้องรอข้ามวันกว่าจะงอกเป็นต้นเลย

 


 

หน้าที่ 2 - Hall of Fame โดยนาซ่า
 

            ใช่ว่า NASA จะจัดอันดับภาพยตร์ที่แย่ๆ อย่างเดียว อันดับในด้านดีก็มีเช่นกัน ตำแหน่ง "ภาพยนตร์วิทยาศาตร์ที่สมจริงที่สุด" (The most realistic sci-fi  film) เรื่องที่ได้รับการจัดอันดับ มีดังนี้  

   1. GATTACA (1997)
   2. Contact (1997)
   3. Metropolis (1927)
   4. The Day the Earth Stood Still (1951)
   5. Woman in the Moon (1929)
   6. The Thing from Another World (1951)
   7. Jurassic Park (1993)

            เรื่อง GATTACA  ชื่อเรื่องได้มาจาก ลำดับเบสในดีเอ็นเอ A T G C เรียงสลับไปมา เรื่องราวย่อมต้องเกี่ยวกับพันธุกรรม     ภาพยนตร์ตั้งโจทย์ว่า ถ้า..มนุษย์สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อมูลในดีเอ็นเอได้อะไรจะเกิดขึ้น เนื้อเรื่องนำเสนอโลกอนาคตที่มนุษย์สามารถเลือกลักษณะพันธุกรรมให้ลูกหลาน ได้ เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากการเกิดแบบธรรมชาติไปเป็นยุคที่มนุษย์เลือกเกิดได้ สิ้งที่เกิดขึ้นคือการกีดกันทางพันธุกรรม เด็กที่เกิดตามธรรมชาติซึ่งพันธุกรรมที่ "ด้อย" กว่าเด็กที่คัดสรรพันธุกรรมที่ดี จึงต้องปลอมตัวเพื่อทำตามความฝันของตัวเอง
          สถานการณ์จำลองในภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริงค่อนข้างมาก ในปัจจุบันก็มีการกีดกันแบบต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งเหล่านั้นดีจริงหรือ จึงไม่น่าแปลกที่จะมีการกีดกันทางพันธุกรรมเกิดขึ้น

 

 



           The Day the Earth Stood Still ภาพยนตร์แนวมนุษย์ต่างดาว นำเสนอเรื่องสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกในมุมมองที่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ตรงที่ภาพลักษณ์ของมนุษย์ต่างดาวไม่ใช้สิ่งมีชีวิตหัวโต ตาโต ตัวลีบ แต่กลับมีรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์ โดยให้เหตุผลว่า สิ่งมึชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาย่อมรู้ดีว่าลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมต่อการ อยู่บนโลกมากที่สุด คือรูปแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งนับว่าสมเหตุสมผลมาก ดังนั้นมนุษย์ต่างดาวจึงมากำเนิดใหม่บนโลกในรูปลักษณ์ของมนุษย์ เพื่อเตือนสติว่า เราทึกทักเอาเองว่าโลกเป็นของเรา

 

 



         ผลการจัดอันดับนี้อาจทำให้หลายคนข้องใจ เพราะบางเรื่องเป็นภาพยนตร์ฉากต่างๆ ตลอดจนเนื้อเรื่องก็ดูสมจริง เป็นงานผลิตที่ลงทุนมหาศาล ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี แต่อย่าลืมว่าการจัดอันดับนี้ประเมินจากส่วนที่เป็นเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เทคนิคการถ่ายทำ ภาพยนตร์อิงวิทยาศาสตร์ที่สนุกจึงไม่ใช่ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ดีเสมอไป บ่อยครั้งข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแต่สมจริงทำให้เราหลงคิดว่าเป็นเรื่องจริงได้ เมื่อเรื่องราวเหล่านั้นปรากฏโลดแล่นบนจอภาพยนตร์
         หากลองพิจารณาภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ได้อันดับยอดเยี่ยมกับภาพยนตร์ที่ได้ อันดับยอดแย่ จะเห็นว่าสิงที่แตกต่างกันคือ ความสมจริงในเชิงวิทยาศาสตร์และความสอดคล้องกันในแต่ละฉาก หลายคนอาจคิดว่าหากภาพยนตร์ต้องสร้างตามข้อเท็จจริงทั้งหมด เป็นการปิดกันจินตนาการ ไม่ต่างอะไรกับสารคดี
         แต่ความสมจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องบดบังจินตนการเสมอไป นวนิยายวิทยาศาสตร์ของนักเขียนอย่าง อาเธอร์ ซี.คลาร์ก และ ไอแซค อาสิมอฟ ล้วนมีจินตนาการบันเจิดและล้ำยุคสมัยทั้งนั้น ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อาจเริ่มจากจินตนการแล้วดำเนินเรื่องภายใต้กฏเกณฑ์ และข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ หรือเริ่มจากข้อเท็จจริงแล้วสานต่อเนื้อเรื่องด้วยจินตนาการที่สอดคล้อง ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไม่ควรจะแหกกฏทางวิทยาศาสตร์มากจนไม่สามารถเชื่อมโยง ระหว่างส่วนจินตนาการกับส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
         หลาย คนอาจคิดว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนชมภาพยนตร์ที่ไม่ดีเอาเสียเลย  แทนที่จะสนุกกับเนื้อเรื่องกลับเอามาชำแหละ (วิเคราะห์) บทเสียไม่มีชิ้นดี อาจคิดว่าพวกนักวิทยาศาสตร์คงไม่อาจรู้สนุกหรือซาบซึ้งกับภาพยนตร์ แต่ที่จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็สนุกกับภาพยนตร์พอๆ กับคนอื่น และยังได้สนุกกับ "วิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์" เพิ่มขึ้นอีกด้วย

"อย่างไรก็ตามผมแอบหวังว่าน่าจะมีการจัดอันดับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของไทยบ้าง"


 

บทความที่เกี่ยวข้อง
1 การเลื่อนของขั้วโลก
2 คุยแบบวิชาการ: ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดแย่

*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา

สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง
Credit: วิชาการดอดคอม
#ภาพยนต์
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
25 เม.ย. 54 เวลา 07:08 3,498 8 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...