พระ พุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส สร้างโดย กุส. บราดซเท็ตเทอร์ (Guss. Bradstetter) สร้างปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. 1907) สัมฤทธิ์ สูง ๔๑ เซนติเมตร พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือ พระพุทธปฏิมา ในพระบรมมหาราชวัง)
ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส จะมิได้สร้างขึ้นในประเทศไทย และมี พุทธลักษณะที่แปลกไปจากพระพุทธรูปของไทย คือ ไม่ครองจีวร แต่โพกผ้าที่พระเศียร พระหัตถ์แสดง ปางสมาธิแบบจีนและญี่ปุ่น (Bunce 1997, 133 – 134) แต่ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ต่างก็ทรงยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูป ความว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. 1897) ได้ทรงคุ้นเคยกับ แกรนด์ดยุก เอิรนสท์ ลุดวิก (Ernst Ludwig) เจ้าผู้ครองนครเฮส (Hess) และเป็นที่ ชอบพระราชอัธยาศัยกัน และเมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง อีกสิบปีต่อมา แกรนด์ ดยุก เฮส จึง จำลองพระพุทธรูป ซึ่งสร้างขึ้นโดยนายกุส. บราดซเท็ตเทอร์ (Guss. Bradstetter) ที่เมืองมิวนิค (อภินันท์ เล่ม ๒ ๒๕๓๕, ๑๒๖) มาถวายระหว่างที่ประทับอยู่ที่เมืองซันเรโม (San Remo) ประเทศอิตาลี พระองค์มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า
อนึ่งพ่อลืมเล่าถึงเรื่องพระ ที่แกรนด์ดุ๊กออฟเฮสสร้างไว้ที่วุฟกาเตน เมือง ดามสตาดนั้น รังสิตได้ไปวานตาโปรเฟสเซอ ผู้ที่ทำตัวอย่างพระนั้นเอง ถ่าย อย่างลดส่วนขนาดย่อมลงรูปหนึ่ง ได้มาที่นี่แล้ว พวกฝรั่งบ่าวตื่นเต้นกันว่าหนัก เต็มที่ ถึงครึ่งตัน จะตั้งโต๊ะไหนมันกลัวหักเสียหมด ทำฝีมือดีมาก หน้าตา กล้ำเนื้อเปนคนหมด เว้นไว้แต่ถ้าจะดูเปนพระแล้วไม่แลเห็นว่าเปนพระ เพราะ เปลือยกายไม่มีผ้าห่ม กลับไปมีผ้าโพก อาการกิริยาที่นั่งสมาธิ์เพช แต่เท้าทั้ง สองข้างชัน ไม่ราบลงไปกับตักเหมือนกับพระเราๆ … มือเอานิ้วชี้งอข้างหลัง นิ้วชนกัน นิ้วแม่มือปลายนิ้วชนกัน เปนพวกพระเชียงรุ้ง ไซเบียเรีย พวกที่ถือ หม้อน้ำมนต์ฤาบาตร กรมสมมตออกวาจาว่าถ้าดูเปนพระแล้วออกฉุน ๆ ถ้าดู เปนรูปตุ๊กตาแล้วงาม กรมดำรงต้องการ จะเอาไปเข้าแถวพระระเบียงวัด เบญจมบพิตร แต่ครั้นเมื่อเห็นแล้ว เห็นว่าเข้ากันไม่ได้ ไม่เปนพระอย่างไทย เขาร้องว่าขาดผ้าพาด ถ้าจะไปถ่ายตัวอย่างที่บางกอก กดพิมพ์แล้วใช้ได้ ต้อง ทำขนาดเดียวกัน แต่ที่จะขยายให้ใหญ่ขึ้นนั้น เปนพ้นวิไสยท่านเจ้ามา ฤาพระ ประสิทธิจะทำได้ ต้องการความรู้อยู่ในนั้นมาก พ่อได้สั่งให้ส่งเข้าไปตั้งห้อง บรอนซ์ (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๒๖, (๑.) ๓๕๑ – ๓๕๒)
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ แล้วยังมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า มีพระราชดำริที่จะจำลองพระนิรันตราย ส่งไปพระราชทาน แกรนด์ดยุก เฮส สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มีลายพระหัตถ์เกี่ยวกับพระพุทธรูปของ แกรนด์ดยุก เฮส ว่า
แกรนด์ดยุกเฮส สร้างพระพุทธรูปนั้น ด้วยอุตสาหะใหญ่มาก แลคงทำได้ด้วย ยากกว่าทำในนี้หลายส่วน เกินกว่าจะทำเล่น นับว่าทำด้วยอำนาจความพอใจแท้ แลช่างนึกให้อย่างออกน่าเอ็นดูฯ ข้อที่มีพ้าโพกกันโสนนั้น จะเปนอย่างพระพม่า มีผ้าคลุมหรือกุให้ฯ แต่ถ้าแกรนด์ดุกทราบว่า พระอยู่ป่าคลุมสีสะได้ จะพอ พระทัยเปนแน่ฯ แต่ถ้าเปนคนรู้จักคุ้นเคยกัน แทบจะต้องขอโทษเพราะเหตุ ดูแคลนฯ ตามความสนทนากับพระองค์รังสิตเห็นแกรนด์ดยุกเปนคนตรงฯ แปลกที่เป็นฝรั่งแต่นิยมธรรมของตะวันออก ไม่มีคำอะไรจะกล่าวให้สมกับว่า เมื่อชาติหลังเคยเปนชาวตวันออกฯ (พระราชหัตถเลขา ๒๕๑๔, ๖๘ – ๖๙)
พระราชหัตถ์เลขาที่อ้างถึงข้างต้น แสดงให้เห็นว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มีพระราชวิสัยที่กว้างไกล พร้อมที่จะเปิดรับรูปแบบใหม่ ๆ พร้อมกับทรงหาเหตุผลที่จะเข้ามาสนับสนุน พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส ว่า ชอบธรรมในพระพุทธศาสนา
ที่มา http://board.palungjit.com/f2/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-270490.html