ภาพยนตร์เรื่อง First Orbit หรือ "วงโคจรแรก" จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ firstorbit.org การนำคลิปภาพและเสียงการสื่อสารระหว่างยูริ กาการิน และศูนย์บัญชาการภาคพื้นดิน ด้วยความร่วมมือจากสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงระหว่างการเดินทางรอบวงโคจรโลกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกของมนุษย์ (หมายเหตุ: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวทั้งสิ้น 1 ชม. 39 นาที 15 วินาที)
เมื่อ 50 ปีก่อน ภาพของชายหนุ่มวัย 27 ปีคนหนึ่ง ได้ทำให้การเดินทางที่ยาวนาน 108 นาทีของเขา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961 ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนรัสเซียในสมัยนั้น ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียต และของมนุษยชาติ และถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศให้แก่นานาชาติ และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่เกินกว่าที่มนุษย์จะเอื้อมถึง
วันที่ 12 เมษายน 2011 ทั่วประเทศรัสเซียร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การเดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ เมื่อ "ยูริ กาการิน"สามารถเดินทางรอบโลกได้เป็นผลสำเร็จ
ในกรุงมอสโคว์ รัฐบาลร่วมยิงปืนสลุต 50 นัด ที่พระราชวังเครมลิน ส่วนประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ กล่าวว่า นี่ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงมนุษยชาติ
ความสำเร็จของกาการิน ทำให้เขากลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน ลบล้างความกลัวที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก และนับตั้งแต่นั้น มนุษย์อวกาศทั้งหญิงและชายต่างได้ขึ้นไปล่องลอยในอวกาศแล้วกว่า 500 คน
นายเมดเวเดฟมีกำหนดการเยือนศูนย์ควบคุมการบินอวกาศนอกกรุงมอสโคว์ และพูดคุยกับนักบินอวกาศที่กำลังปฏิบัติงาน ณ สถานีอวกาศนานาชาติ ก่อนที่จะเดินทางไปยังสำนักงานโครงการอวกาศของรัสเซียเพื่อกล่าวสุนทรพจน์
ก่อนหน้ากาการิน ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามนุษย์จะสามารถทนทานต่อสภาพในอวกาศได้เพียงใด บ้างเชื่อว่าภาวะไร้น้ำหนักจะเป็นมูลเหตุของอาการเสียสติ หรือพลังจี-ฟอร์ซ ในระหว่างการการออกตัวของยานอวกาศและการร่อนลงสู่โลก จะทำให้ร่างกายถูกบดขยี้จนแหลกเป็นชิ้นๆ และผลกระทบอันอาจเกิดจากการสัมผัสกับรังสีนอกโลก
เมื่อภาพใบหน้าและเสียงทักทายจากอวกาศของกาการิน ถูกส่งมายังพื้นล่าง มนุษย์จึงได้เรียนรู้ว่าอวกาศไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งที่น่าค้นหา
ย้อนไปในวันที่ 12 เมษายน ปี 1961 ยานวอสต็อก 1 ที่มียูริ กาการินอยู่ในยานได้ออกเดินทางสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดไบคานูร์ ในรัฐคาซัคสถานในขณะนั้น เสียงร้องกาการินที่ว่า " ปาเยคาลิ !" หรือ "ออกเดินทาง" ได้ส่งให้ยูริ กาการินเดินทางโดยสวัสดิภาพ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 108 นาที ในการเดินทางรอบวงโคจรของโลกในแคปซูลที่มีขนาดความกว้างเพียง 2 เมตร ก่อนที่จะดีดตัวออกมา และกระโดดร่มลงสู่พื้นดินอย่างปลอดภัย
09:12 น. กาการินพูดว่า " ผมเห็นโลก มันงดงาม "
10:02 น. วิทยุโซเวียตรายงานข่าวเรื่องกาการิน
10:25 น. ยานอวกาศกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก จรวดของยานทำการยิงเพื่อชะลอความเร็วของยาน แต่ยานเริ่มหมุน
10:35 น. ยานกลับมาทรงตัวได้
10:49 น. กาการินดีดตัวออกจากยานที่ความสูง 7,000 เมตรตามแผนที่วางไว้
10:55 น. ตัวยานลงสู่พื้นด้วยความช่วยเหลือของร่มชูชีพที่บริเวณทุ่งนาใกล้เมืองซาราตอฟ แถบลุ่มแม่น้ำโวลก้า
"...ช่างสวยงาม ผมเห็นเมฆ และเงาของมันทอดผ่านผืนโลกอันเป็นที่รัก ผืนน้ำกลายเป็นสีดำสนิท มีประกายเล็กๆแต่งแต้ม... เมื่อผมมองที่ขอบฟ้า ทันใดนั้น ภาพของพื้นผิวของโลกที่ถูกแต่งแต้มด้วยแสงสว่าง กลับกลายเป็นท้องฟ้าที่มืดมิดในทันที ผมมีความสุขที่ได้เห็นภาพของโลกที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสเปคตรัมอย่างเต็มที่ ซึ่งถูกล้อมรอบโดยรังสีออร่าสีฟ้าอ่อนที่ค่อยๆมืดลงทีละน้อย และกลายเป็นสีเขียวเทอร์คอยส์ น้ำเงินเข้ม ม่วง และท้ายสุดก็กลายเป็นสีดำมืด"
นายเกกอร์จี เกรชโก้ วัย 79 ปี อดีตนักบินอวกาศและวิศวกรผู้ร่วมออกแบบกระสวยอวกาศ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่น่าประทับใจที่สุดคือเมื่อเราทราบว่าเขากำลังเดินและโบกมือ แขนและขาของเขายังอยู่ครบถ้วน "เรารู้ได้ในทันทีว่า ความพยายามและการทำงานหนักมากว่า 5-6 ปี ไม่สูญเปล่า และเรากำลังได้รับของขวัญชิ้นใหญ่
หลังจากนั้น 10 เดือน สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการส่งจอห์น เกล็นน์ นักบินอวกาศคนแรกของประเทศ เดินทางรอบวงโคจรของโลกได้สำเร็จ
ในวันนี้ นอกเหนือรัสเซียและสหรัฐฯ ยังมีผู้เล่นรายอื่นที่ประสบความสำเร็จในเทคโนโลยีด้านอวกาศเช่นกัน อาทิ ชาติในยุโรป จีน และอินเดีย ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและขีดความสามารถในการเดินทางไปสู่เบื้องบ้นได้เช่นกัน
ยูริ กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin) เป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลกชาวรัสเซียออกเดินทางสู่อวกาศ และโคจรรอบโลกสำเร็จใช้เวลา 108 นาที โดยเดินทางไปกับยาน วอสทอก 1 (Vostok 1) เขากลับลงมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัยและได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของสหภาพโซเวียต และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก รัฐบาลโซเวียตก็ได้เปลี่ยนชื่อเมืองกซาทสค์ (Gzhatsk) บ้านเกิดของเขาเป็น “กาการิน” และมีการสร้างอนุสรณ์สถานอีกลายแห่งทั่วประเทศเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
อนุสาวรีย์ยูริ กาการิน ที่ยูริ กาการิน สแควร์ กรุงมอสโคว์
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 1968 เครื่องบินขับไล่แบบมิก ตกนอกกรุงมอสโก ทำให้เขาเสียชีวิตพร้อมกับครูฝึกจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการอธิบายถึงสาเหตุการตายอย่างเป็นทางการ ทำให้มีการคาดเดาเดากันไปต่างๆนานา ตั้งแต่การขาดอากาศในห้องนักบิน การเปลี่ยนความสูงกระทันหันเพื่อหลบหลีกการชนกับอะไรบางอย่าง การรบกวนของเครื่องบินอีกลำ ไปจนถึงเขาถูกฆาตกรรมโดยนักบินที่บินร่วมกับเขา รวมถึงผู้นำโซเวียตที่อิจฉาความดังของกาการิน