::แผ่นดินไหว...ภัยใกล้ตัว จับตา "13 รอยเลื่อน"อันตราย::

 


 



"แผ่นดินไหว" ภัยใกล้ตัว

ข้อมูลจาก "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)" ระบุว่า "แผ่นดินไหว" (Earth quake) นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ หรือพยากรณ์ระยะเวลาการเกิดสถานที่เกิด และระดับความแรงได้อย่างแม่นยำและแน่นอน

ต้นเหตุของแผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันของเปลือกโลก โดยมักเกิดตรงบริเวณ "ขอบ" ของแผ่นเปลือกโลก การเคลื่อนตัวในลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจาก "ชั้นหินหลอมละลาย" ที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และลอยตัวผลักดันเปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ส่งผลให้เปลือกโลกแต่ละชิ้น มีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่างๆ กัน พร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณ "ขอบ"แผ่นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกัน เสียดสีกัน หรือแยกจากกัน

หากบริเวณ "ขอบ" ของชิ้นเปลือกโลกใดๆ ผ่าน หรืออยู่ใกล้กับประเทศใด ประเทศนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแผ่นดินไหวสูง เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์

นอกจากนี้ พลังงานที่สะสมในเปลือกโลก ยังถูกส่งผ่านไปยัง บริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลก หรือที่เรียกว่า "รอยเลื่อน" เมื่อระนาบรอยร้าว ที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมากๆ จะทำให้รอยเลื่อน มีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลัน เกิดเป็นแผ่นดินไหวได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมบาง อย่างของมนุษย์ ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน เช่น การทำเหมือง สร้างเขื่อน และขุดเจาะบ่อน้ำมัน

จากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า บนผืนแผ่นดินของเมืองไทย เคยเกิดแผ่นดินไหว

ครั้งใหญ่ ปานกลาง และ เล็ก หลายครั้ง มีบันทึกประวัติศาสตร์จารึกว่า ในปี พ.ศ.1558 เกิดแผ่น ดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นทำให้บริเวณ "โยนกนคร" ยุบจมลงเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่ หรือในปี พ.ศ.2088 เกิดแผ่นดินไหวปานกลางที่นครเชียงใหม่ ส่งผลให้ยอดเจดีย์หลวง สูง 86 เมตร หักพังลงมาเหลือ 60 เมตร

ในปี พ.ศ. 2478 ที่ จ.น่าน เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ปี พ.ศ. 2518 เกิดแผ่นดิน ไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่ อ. ท่าสองยาง จ.ตาก และในปี พ.ศ. 2537 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ครั้งนั้นก่อให้เกิดความเสียหายมาก กับโรงพยาบาลอำเภอพาน รวมทั้งวัด และโรงเรียนต่าง ๆ

จับตา13รอยเลื่อนอันตราย

ข้อมูลจาก"กรมทรัพยากรธรณี"ระบุว่า "ประเทศไทยมีรอยเลื่อน 13 จุด" ที่ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ และยังมีรอยเลื่อนสะแกง ที่เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งประเทศพม่า พาดผ่านทะเลอันดามัน ที่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 400 กม. ที่ต้องจับตามอง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ใด

สำหรับ 13 รอยเลื่อน ในประเทศไทยประกอบด้วย

1. "รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง" ครอบคลุม พื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่

2. "รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และตาก

3. "รอยเลื่อนเมย" ครอบคลุม จ.ตาก และกำแพงเพชร

4. "รอยเลื่อนแม่ทา" ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย

5. "รอยเลื่อนเถิน" ครอบคลุม จ.ลำปาง และแพร่

6. "รอยเลื่อนพะเยา" ครอบคลุม จ. ลำปาง เชียงราย และพะเยา

7. "รอยเลื่อนปัว" ครอบคลุม จ.น่าน

8. "รอยเลื่อนอุตรดิตถ์" ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์

9. "รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์" ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี

10. "รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์" ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และอุทัยธานี

11. "รอยเลื่อนท่าแขก" ครอบคลุม จ.หนองคาย และนครพนม

12. "รอยเลื่อนระนอง" ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา และ

13. "รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย" ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา

สำรวจพื้นที่เสี่ยงธรณีพิโรธ

สำหรับประเทศไทย แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ จะตั้งอยู่ใกล้ๆ กับแนวในมหา สมุทรอินเดีย เกาะสุมาตรา และประเทศพม่า ส่วนแนวรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือ และ ภาคตะวันตก และ จากการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของไทย พบว่า มี 4 จังหวัดที่เสี่ยงภัยแผ่นดิน ไหวมากที่สุด ได้แก่...กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงราย โดยมี ความเสี่ยงประมาณ 7 - 8 เมอร์คัลลี (Mercalli Intensity Scale คือ มาตราความรุนแรง ( Intensity) เพื่ออธิบายผลกระทบที่แตกต่างกันของแผ่นดินไหว) ซึ่งมีผลทำให้อาคารสูงเสียหายได้

ส่วนจังหวัดที่เสี่ยง รองลงมา ส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ และภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ลำปาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยง ประมาณ 5 - 7 เมอร์คัลลี ซึ่งทำให้อาคารเสียหายเล็กน้อย ส่วนพื้นที่ซึ่งปลอดภัยมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สังเกตลางร้ายธรณีพิบัติ

ที่ผ่านมา หลายประเทศ มีความพยายามศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจถึงกลไกการเกิดแผ่น ดินไหว เพื่อการพยากรณ์ล่วงหน้า แต่ยังไม่ ประสบ ความสำเร็จ ทำให้ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ขนาด และช่วงเวลาการเกิด แต่ก็มักมีการสันนิษฐานกันว่า หากสัตว์มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ เช่น...แมลงสาบ สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตระหนกตกใจ หนู งู หนีตายออกมาจากรู หรือปลากระโดดขึ้นจากผิวน้ำ

นอกจากนี้ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ ในบริเวณเดียวกันหลายสิบครั้ง หรือหลายร้อยครั้งในระยะเวลาอันสั้น อาจเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่าจะเกิดเหตุธรณีพิบัติตามมาได้ในไม่ช้า หรือในบางพื้นที่ ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดแผ่นดิน ไหวขนาดเท่าเทียมกันในอนาคตได้ หากบริเวณนั้นว่างเว้นช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะ เวลายาวนานหลายสิบปี หรือ หลายร้อยปี ยิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะ เวลายาว นานเท่าใด การเคลื่อนตัวโดยฉับพลันเป็นแผ่นดินไหว ก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เปิดตำรา"รับมือแผ่นดินไหว"

ทั้งนี้ในคู่มือ "รับมือแผ่นดินไหว" ที่จัดทำโดย กรุงเทพมหานคร ได้แนะนำวิธีเตรียมรับมือแผ่นดินไหว เช่น ต้องเตรียมไฟฉาย นกหวีด กระเป๋ายาประจำบ้าน น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป เครื่องนอนสนาม พร้อมเสื้อผ้า 2-3 ชุด ไว้ในบ้านในจุดที่หยิบฉวยได้ง่าย เพื่อเตรียมพร้อมยามฉุกเฉิน อย่าวางสิ่ง ของที่แตกหักง่าย เช่น เครื่องแก้ว สิ่งของหนัก ๆ บนหิ้งหรือชั้นสูง ๆ ควรวางไว้ชั้นต่ำสุด ตรึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ติดโครงสร้างอาคาร ติดเครื่องดับเพลิงไว้ประจำจุดเสี่ยง ซักซ้อมสมาชิกในครอบครัวเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และจุดนัดพบที่ปลอดภัยนอกบ้าน

อยู่ห่างจากบริเวณที่อาจมีวัสดุหล่นใส่ หลบลงใต้โต๊ะหรือมุมห้อง ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากป้ายโฆษณา เสาไฟ อาคาร และต้นไม้ใหญ่ ระวังเศษอิฐ กระจกแตก และชิ้นส่วนอาคารหล่นใส่

สำหรับผู้อยู่ตึกสูง ถ้าอาคารมั่นคงแข็งแรงให้หลบในอาคารนั้น ถ้าอาคารเก่าไม่มั่นคงแข็งแรงให้หลบออกจากอาคารเร็วที่สุด หลังการสั่นสะเทือนให้รีบออกจากอาคาร ถ้าไม่อยู่ใกล้ทางออกให้หมอบลงกับพื้น หาทางหลบใต้โต๊ะหรือมุมห้อง ป้องกันตนเองโดยใช้แขนปกป้องศีรษะและคอ ยึดเกาะโต๊ะให้แน่นและเคลื่อนตัวไปพร้อมโต๊ะ รอจนความสั่นไหวหยุดลง หรือปลอดภัยแล้วจึงไปหาที่ปลอดภัย ห้ามใช้ ลิฟต์เด็ดขาด หลังเกิดแผ่นดินไหว รีบออกจากอาคารที่เสียหาย ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่ว ให้ปิดวาล์วถังแก๊ส เปิดประตูทุกบานระบาย ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟออกจากที่สาย ไฟขาด หรือสายไฟพาดถึง อย่าเป็นไทยมุงเข้าไปในเขตที่เสียหาย หรือปรักหักพัง ฯ

ภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ตัวเล็กๆ มิอาจเอาชนะ...สิ่งที่พึ่งกระทำคือการเฝ้าระวังและเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนที่พิบัติภัยจะมาถึงตัว

10 เม.ย. 54 เวลา 15:42 4,121 3 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...