เสือโพธิ์ ถูกฆ่าตาย...เกิดใหม่ยังไม่หายแค้น

"เสือโพธิ์" ถูกฆ่าตาย...เกิดใหม่ยังไม่หายแค้น
 
สิบเอกเที่ยง แสนกล้า จำอดีตชาติได้

สิบเอกเที่ยง แสนกล้า เป็นบุตรของ นายเจริญ และ นางพวน แสนกล้า เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2467(1924) ที่หมู่บ้านระไซร์ ต.ตรำดม อ.ลำดวน จ.สุรินทร์(ห่างจากตัวอำเภอเมืองไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กม.) สิบเอกเที่ยงจำอดีตชาติได้ว่าเป็น “นายโพธิ์ แสนกล้า” หรือ “เสือโพธิ์” ซึ่งเป็นพี่ชายของนายเจริญ




เมื่อปี พ.ศ.2465 ในเขตจังหวัดสุรินทร์มีโจรก๊กหนึ่ง มีชื่อเสียงในทางลักขโมยปล้นจี้วัวควาย เป็นที่เรื่องลือ หัวหน้าก๊กนี้ชื่อ “โพธิ์” หรือ “เสือโพธิ์” เสือโพธิ์คุมลูกน้องบริวารออกปล้นสะดมชาวบ้าน สุจริตชนเป็นที่หวาดเกรงไปทั่ว เจ้าหน้าที่บ้านเมืองพยายามออกปราบปรามจับกุมหลายครั้งหลายหน แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากฝ่ายโจรชำนาญภูมิประเทศมากกว่า จึงสามารถหลบหนีหลุดรอดเงื้อมมือได้ทุกครั้ง แต่ด้วยพื้นสันดานของเสือโพธิ์ไม่ใช่อาชญากรโดยกำเนิด เมื่อถลำเข้าไปในทางชั่ว จึงเตลิดเปิดเปิงไปพักหนึ่ง นานวันเข้าก็มองเห็นหายนะแห่งชีวิตชัดเจนมากขึ้นทุกที จึงคิดกลับตัวกลับใจเลิกละจากชีวิตโจร เพื่อหาทางกลับไปสู่วิถีของสุจริตชนอีกครั้ง โดยคิดว่า ถ้ายอมมอบตัวให้กับทางการและรับสารภาพผิดแต่โดยดี คงจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษจากหนักเป็นเบา แม้จะติดคุกติดตะรางอย่างไรก็ไม่มีวันพ้นโทษ เสือโพธิ์ได้นำความคิดนี้ไปเกลี้ยกล่อมลูกน้อง ให้ยอมมอบตัวพร้อมกับตน และยืนยันว่าตนได้ตัดสินใจเป็นเด็ดขาดแล้ว ที่จะกลับตัวกลับใจเป็นคนดีอีกครั้ง

คราวนี้ลูกน้องก็เกิดความคิดแบ่งแยกเป็นสองฝักสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับความคิดของหัวหน้า แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะยังเห็นว่า การเป็นโจรดีกว่าอยากได้สิ่งใดก็ใช้อำนาจเถื่อนแย่งชิงเอามาง่ายๆ แต่ละวันไม่ต้องทำงานทำการอะไรให้เหนื่อย ก็สามารถอยู่กินได้สบายๆ ไปที่ใดมีแต่คนกลัวเกรงครั่นคร้าม พวกที่คิดว่าควรเป็นโจรต่อไปมีมากกว่าพวกที่อยากกลับตัว แม้ลูกน้องจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในความคิดจะเข้ามอบตัวต่อทางการ เสือโพธิ์ก็ยังยืนยันมั่นคงว่าสำหรับตนแล้วขอวางมือจากการเป็นโจรอย่างแน่ นอน กลุ่มลูกน้องที่เห็นดีเห็นงามกับการเป็นโจรอยู่ ก็เกิดความหวาดหวั่นว่า ถ้าเสือโพธิ์เข้ามอบตัวกับทางการเมื่อใด ก็ต้องเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่หมดสิ้น ว่ามีใครเป็นลูกน้องบริวารบ้าง อีกทั้งคงเปิดเผยสถานที่หลบซ่อนหลีกเร้น อันเป็นความลับไม่มีแน่ หากเป็นเช่นนั้นพวกตนซึ่งยังประพฤติตัวเป็นโจรอยู่ ย่อมได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ลูกน้องกลุ่มนี้จึงแอบขบคิดวางแผน ที่จะสังหารเสือโพธิ์เสียเลย เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ยอมให้เสือโพธิ์นำความลับไปเปิดเผย ให้ทางการรู้อย่างเด็ดขาด

ดังนั้นวันหนึ่งได้โอกาสเหมาะ สมุนโจรที่ไม่เห็นด้วยกับการวางมือของเสือโพธิ์ จึงรวมหัวกันฆ่าเสือโพธิ์ โดยสมุนคนหนึ่งที่ชื่อช้างใช้มีดขนาดใหญ่ฟันเสือโพธิ์จากด้านหลัง ถูกบริเวณหลังศีรษะด้านซ้าย เป็นแผลฉกรรจ์จนเสือโพธิ์ล้มฟุบลงจมกองเลือด ก่อนเสือโพธิ์จะสิ้นใจตาย ได้คิดอาฆาตพยาบาทลูกน้องทรยศ อย่างจับจิตจับใจถึงกับคิดอาฆาตในใจว่า ถ้าเกิดใหม่ชาติใดจะขอตามล้างแค้นเอาชีวิตลูกน้องทุกคนที่รุมกันทำร้ายเขา ให้หมดสิ้น จากนั้นเสือโพธิ์ก็หมดสิ้นลมหายใจ ศพถูกทิ้งไว้กลางป่าตรงที่ถูกรุมฆ่านั้นเอง แต่การตายของเสือโพธิ์ไม่ได้เงียบหายไปเฉยๆ เพราะมีผู้ไปพบศพของเขาจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบและทำการชันสูตร พลิกศพตามระเบียบ เสือโพธิ์เสียชีวิตที่บ้านอาวุธ ต.แตล อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2467(1924)ขณะอายุได้ 40 ปีข่าวการจบชีวิตของเสือโพธิ์เป็นที่กล่าวถึงอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ค่อยๆจางหายไป

ห่างจากจุดที่ “เสือโพธิ์” หรือ นายโพธิ์ แสนกล้า ถูกฆ่าตายไปประมาณ 25 กิโลเมตร ที่หมู่บ้านระไซร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่น้องชายของเสือโพธิ์ที่ชื่อ นายเจริญ แสนกล้า อาศัยอยู่พร้อมกับ นางพวน แสนกล้า ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ หลังจากเสือโพธิ์เสียชีวิตไปได้ 3 เดือน ในเดือนตุลาคม 2467 ภรรยาของน้องชายเสือโพธิ์ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย ผู้เป็นพ่อตั้งชื่อให้ว่า “เที่ยง” แรกเกิด ด.ช.เที่ยง มีรอยตำหนิและความผิดปกติที่ตรงกันกับรอยตำหนิและความผิดปกติของ นายโพธิ์ ถึง 6 ตำแหน่ง ซึ่งมีทั้งรอยแผลเป็นแบบนูนขึ้นมาจากผิวหนังขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 1-1.5 ซม. ยาวประมาณ 5-6 ซม.ตรงกันกับรอยบาดแผลของนายโพธิ์ที่ถูกลูกน้องฟันด้วยมีดขนาดใหญ่ที่บริเวณ ศีรษะด้านหลังจนเสียชีวิต มีรอยปานดำที่บริเวณหลังมือและหลังเท้าทั้งสองข้าง(รวม 4 ตำแหน่ง) ตรงกันกับรอยสักของนายโพธิ์ และเขามีนิ้วโป้งเท้าข้างขวาที่มีเล็บหนา ผิวหนังย่น มีขนาดใหญ่กว่าและผิดรูปไม่เหมือนกับนิ้วโป้งเท้าข้างซ้าย ซึ่งก็คล้ายกันกับอาการบวมและเป็นแผลหนองเรื้อรังที่บริเวณนิ้วโป้งเท้าขาง ขวาของนายโพธิ์ขณะที่ยังมีชีวิต




ภาพรอยแผลเป็นที่ด้านหลังศีรษะ


ภาพความผิดปกติของนิ้วโป้งเท้าข้างขวา
(ภาพจากเอกสารทางวิชาการของ ดร.เอียน สตีเวนสัน)

เมื่อเด็กชายเที่ยงเจริญเติบโตขึ้นมา ก็เห็นได้ชัดว่าเขามีร่างกายสูงใหญ่แข็งแรงและมีจิตใจห้าวหาญเกินตัว ครั้นเด็กชายเที่ยงพูดจาได้คล่องแคล่ว ก็สร้างความตื่นเต้นตกใจให้กับพ่อแม่ของเขาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กพูดว่าเขาคือ “เสือโพธิ์” มาเกิด และบอกเล่าว่าชาติก่อนเขาตายเพราะถูกลูกน้องทรยศรุมทำร้าย(เขาบอกด้วยว่ามี ใครชื่ออะไรบ้าง) เมื่อเกิดมาชาตินี้เขาจะตามไปล้างแค้นฆ่าให้ตายหมดทุกคน แม้ผู้ใหญ่สั่งสอนห้ามปรามมิให้ผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้ายเพียงใด เด็กชายเที่ยงก็ไม่ยอมเชื่อฟัง คงพร่ำจะตามฆ่าล้างแค้นให้ได้ ตอนนั้นพ่อแม่ของเขาหวนคิดถึงความฝันประหลาด ก่อนที่นายเที่ยงหรือ ด.ช.เที่ยงในขณะนั้นจะเกิดมา ทั้งนายเจริญและนางพวนฝันตรงกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า นายโพธิ์ แสนกล้า หรือ ”เสือโพธิ์” พี่ชายของนายเจริญที่เสียชีวิตไปแล้ว มาปรากฏตัวให้พวกเขาเห็น และบอกว่าเขาจะมาเกิดเป็นลูกของทั้งสองคนพวกเขาไม่คาดคิดว่าความฝันในครั้ง นั้นจะกลายเป็นความจริง

ตอนนั้นเด็กชายเที่ยงได้พูดและแสดงออกถึงเรื่องราวในอดีตชาติที่เคยเกิดเป็น เสือโพธิ์หลายครั้ง แต่พ่อแม่ของเขาไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้กับใคร เพราะเด็กชายเที่ยงพูดถึงแต่การจะแก้แค้นและพูดถึงชื่อของบรรดาคนที่ร่วมกัน ฆ่าเสือโพธิ์ ทำให้พวกเขาเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับลูกชาย จึงปกปิดเรื่องนี้มาตลอด จนกระทั่งพ่อของเขาป่วยหนักใกล้จะเสียชีวิต ตอนนั้นเด็กชายเที่ยงอายุได้ประมาณ 4 ขวบ เขาจึงยอมบอกกับญาติๆคนสนิทว่า เด็กชายเที่ยง คือ นายโพธิ์ แสนกล้า หรือ “เสือโพธิ์” พี่ชายของตนมาเกิด

เมื่อเด็กชายเที่ยงเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นมา ความอาฆาตพยาบาทก็ยังไม่ลบเลือนไปจากความคิด และถึงกับสะสมอาวุธจะไปทำร้ายผู้อื่นอย่างแน่วแน่ พร้อมกันนั้นก็ออกสืบหาบรรดาลูกน้องทรยศอย่างเอาเป็นเอาตาย สร้างความหนักใจให้แก่พ่อแม่อย่างยิ่ง แต่กาลเวลาซึ่งผ่านมาเนิ่นนานกว่า 20 ปี พวกลูกน้องของเสือโพธิ์จึงแยกย้ายกระจัดกระจายไปอยู่คนละทิศละทาง บางคนเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อตอนที่เขายังเป็นเด็กโดยเฉพาะนายช้างคนที่ฟันเขา จนเสียชีวิต บางคนถูกตำรวจยิงตาย บางคนติดคุกติดตะรางยังไม่ออก และบางคนก็หนีหายสาบสูญไปหลบซ่อนต่างถิ่นต่างแดน กระนั้นหนุ่มเที่ยงหรือเสือโพธิ์มาเกิดใหม่ก็พยายามสืบหาลูกน้องเก่าไม่ลดละ จิตใจหมกมุ่นอยู่กับความเคียดแค้นอาฆาตไม่ยอมเลิกรา

ต่อมาเมื่อนายเที่ยงอายุได้ 15 ปี แม่ของเขาก็มาเสียชีวิตลงไปอีกคน เขาจึงต้องอาศัยอยู่กับลุง และลุงของเขาก็ห้ามไม่ให้เขาพูดถึงเรื่องราวในอดีตชาติโดยเด็ดขาด เมื่อเขาฝ่าฝืนก็จะถูกเอาไฟจี้ที่หน้าอก ตอนนั้นลุงของนายเที่ยงเห็นว่า ถ้าหากเขายังไม่ละทิ้งความอาฆาตพยาบาทที่ฝังใจมาตั้งแต่ในอดีตชาติ สักวันหนึ่งหากนายเที่ยงตามไปฆ่าลูกน้องเก่าตายไปจริงๆ ตัวนายเที่ยงเองก็ต้องติดคุกติดตะรางหรือถูกประหารชีวิตในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ลุงของเขาและญาติผู้ใหญ่จึงได้พูดอธิบายให้นายเที่ยงได้รู้ถึงผลร้ายที่จะ เกิดขึ้น ถ้าหากนายเที่ยงยังมุ่งมั่นที่จะแก้แค้นให้ได้ โดยอธิบายว่า หากนายเที่ยงไปฆ่าลูกน้องเก่าเมื่อไหร่ก็เท่ากับทำผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่าง ร้ายแรง มีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมก็ต้องหนีกระเซอะกระเซิงเข้าป่าเข้าเขา ได้รับความอดอยากทุกข์ทรมานแสนสาหัส เมื่อใดที่ตำรวจติดตามไล่ล่าไปจนถึงตัว ถ้าต่อสู้ไม่ยอมให้จับกุมแต่โดยดี ก็อาจถูกตำรวจยิงตายได้ทุกเมื่อ ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อนายเที่ยงไปฆ่าคนอื่นเมื่อไหร่และถือว่าแก้แค้นสำเร็จ ผู้ตายจะผูกพยาบาทจองเวรสืบไปไม่มีที่สิ้นสุด และจะต้องตามล้างแค้นกันไปทุกๆชาติ พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ยกเหตุผลมาแสดงให้มองเห็นความจริงที่เกิดขึ้น ทั้งยังเตือนสตินายเที่ยงให้นึกถึงความรักความหวังดีที่พ่อแม่ญาติพี่น้องมี ให้ จึงไม่ควรทำลายความรู้สึกดีๆเหล่านั้น เพราะอารมณ์ชั่ววูบของตัวเอง

นายเที่ยงนำคำเตือนสติไปคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดก็มองเห็นโทษภัยจากความ อาฆาตแค้นของตน จึงให้สัญญาต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ว่าจะล้มเลิกการแก้แค้น ยินดีอโหสิกรรมให้กับพวกลูกน้องที่ฆ่าตัวเอง และไม่อาฆาตพยาบาทต่อผู้ใดอีก จากนั้นได้ไปให้สัจจวาจาต่อหน้าพระพุทธรูป และยินยอมอุปสมบทเป็นพระภิกษุนานพอสมควร ก่อนจะสึกมาแต่งงานมีครอบครัว

ต่อมานายเที่ยงสมัครเข้ารับราชการเป็นทหาร ได้รับยศเป็นสิบเอก สังกัดกองทัพบก ดำเนินชีวิตด้วยความเป็นปกติสุข ล้มเลิกความคิดแค้นที่ฝังใจจำมาตั้งแต่ชาติที่แล้วจนหมดสิ้น เมื่อคณะของ มิสเตอร์ ฟรานซิส สตอรี่ ไปพบ สิบเอกเที่ยง เพื่อสอบสวนหาข้อมูลการระลึกชาติได้ของเขา สิบเอกเที่ยงยังจำเหตุการณ์ในชาติที่แล้วได้ดี และชี้ให้ดูรอยแผลเป็นบริเวณด้านซ้ายของกะโหลกศีรษะ บอกว่านี่คือรอยที่ถูกลูกน้องที่ชื่อช้างใช้ดาบฟันเขาเป็นแผลฉกรรจ์ นอกจากแผลตรงศีรษะก็ ยังมีความผิดปกติของเล็บ ผิวหนัง และขนาดหัวแม่เท้าขวาที่ผิดรูปผิดปกติอีกแห่งหนึ่ง สิบเอกเที่ยงบอกว่ารอยแผลเป็นตรงหัวแม่เท้า ตรงกับที่เขาเคยเป็นแผลเรื้อรังในอดีตชาติตอนที่เป็นเสือโพธิ์ แผลนี้รักษาอย่างไรก็ไม่หาย เนื่องจากต้องเดินบุกป่าฝ่าดง เหยียบย่ำสิ่งสกปรกตลอดเวลา รอยแผลเป็นทั้งสองแห่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนปานดำที่บริเวณหลังมือและหลังเท้าทั้งสองข้างที่มีมาตั้งแต่กำเนิดเช่น เดียวกันนั้น ได้จางหายไปเมื่อเขาโตขึ้น

มิสเตอร์ ฟรานซิส สตอรี่ได้เดินทางมาพบและสัมภาษณ์ สิบเอกเที่ยง แสนกล้า เป็นครั้งแรก ที่ค่ายทหารในตัวเมือง จ.สุรินทร์ เมื่อปี 2506 ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2511 ได้รับพระราชทานนามว่า "ค่ายวีรวัฒน์โยธิน" ตามเบาะแสข้อมูลเบื้องต้นที่ ร้อยเอกนิต วัลลศิริ ทหารในค่ายเดียวกันเป็นผู้ส่งไปให้ ตามที่อยู่ที่ มิสเตอร์ ฟรานซิส สตอรี่ ได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับในขณะนั้น ส่วน ดร.เอียน สตีเวนสัน นั้นได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นจาก มิสเตอร์ ฟรานซิส สตอรี่ ก็ได้เข้ามาสอบกรณีนี้เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการ เมื่อปี 2512 จากข้อมูลการสอบสวนและสัมภาษณ์ทั้งตัวของสิบเอกเที่ยงเอง ญาติๆ และพยานที่เกี่ยวข้อง ของทั้งสองท่าน พอจะประมวลความได้ดังนี้คือ

สิบเอกเที่ยงเล่าเรื่องราวชีวิตในอดีตชาติของเขาให้ฟังว่า ตอนนี้เขายังจำเรื่องราวชีวิตในอดีตชาติ ตอนที่เขาเกิดเป็น นายโพธิ์ แสนกล้า หรือ “เสือโพธิ์” ได้ดี ในอดีตชาติเขาถูกลูกน้องบางคนในก๊กโจรของเขาเองรวมหัวกันฆ่าเขา โดยลูกน้องของเขาคนหนึ่งที่ชื่อ “ไอ้ช้าง” ได้ใช้มีดขนาดใหญ่ฟันเข้าที่ศีรษะด้านหลังอย่างแรง จนเขาเสียชีวิต

เมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว เขาได้เห็นร่างของตัวเองนอนอยู่บนพื้น และมีเลือดไหลออกจากบาดแผล เขาอยากที่จะกลับไปเข้าร่างที่นอนอยู่ แต่เขาไม่กล้าเข้าไปเพราะมีคนที่ฆ่าเขายืนอยู่รอบๆร่างของเขา จากนั้นวิญญาณของเขาได้ไปเที่ยวหาเพื่อนๆแต่เพื่อนๆก็มองไม่เห็นตัวของเขา ตอนนั้นเขาเกิดคิดถึงและอยากไปหาน้องชาย(นายเจริญ แสนกล้า) ทันใดนั้นเขาก็รู้สึกว่าตัวเขาได้มาอยู่ที่บ้านของน้องชายแล้ว และเหมือนมีอะไรมาดลใจให้เขาเข้าไปหาภรรยาของน้องชาย(นางพวน แสนกล้า)ที่กำลังกินข้าวเช้าอยู่ เขาเห็นว่าภรรยาของน้องชายกำลังตั้งครรภ์อยู่ ตอนนั้นเขารู้สึกเหมือนมีอะไรมาผลักดันให้เขาเข้าไปในร่างของน้องสะใภ้ โดยที่เขาไม่สามารถฝืน ขัดขืน หรือบังคับตัวเองได้ แล้วเขายังบอกด้วยว่า หลังจากที่เขาเข้าไปอยู่ในร่างของน้องสะใภ้แล้ว ตัวเขาเองรู้สึกตัวโดยตลอด

เมื่อเขาเกิดมาและโตขึ้นจนพูดได้ เขาก็บอกกับพ่อแม่ในปัจจุบันชาติของเขาว่า เขาเป็นนายโพธิ์ซึ่งเป็นพี่ชายของพ่อมาเกิด เขาเคยถามพ่อแม่ของเขาว่า “พ่อกับแม่จำได้ไหม ที่ผมมาบอกพ่อกับแม่ในความฝัน” ตอนที่เขาเล่าเรื่องนี้ให้พ่อแม่ในปัจจุบันชาติของเขาฟัง ทั้งสองคนก็จำได้ว่าตอนที่แม่กำลังตั้งท้องตัวเขานั้น ทั้งแม่และพ่อฝันตรงกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ ว่าตัวเขาคือ นายโพธิ์ แสนกล้า หรือ ”เสือโพธิ์” พี่ชายของพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว มาปรากฏตัวให้เห็น และบอกว่าตัวเขา(เสือโพธิ์)จะมาเกิดเป็นลูกของทั้งสองคน

ตอนเด็กๆ เด็กชายเที่ยงมักจะเรียกตัวเองว่า “โพธิ์” แต่เขาจะแสดงความไม่พอใจถ้ามีเด็กๆด้วยกันมาล้อเลียนและเรียกเขาว่า“ไอ้ โพธิ์” เวลาโกรธเขาก็มักจะพูดว่า “กูเป็นเสือโพธิ์นะ” เขาเรียกพ่อว่า “น้อง” และเรียกพี่สาวของพ่อว่า “น้อง” เช่นเดียวกัน แทนที่จะเรียกว่า “ป้า” ตามปกติ

ตอนเด็กๆ เด็กชายเที่ยงมีอาการกลัวมีดอย่างผิดปกติ และกลัวที่จะเข้าไปยังหมู่บ้านที่เสือโพธิ์ถูกฆ่าตาย แต่เขาบอกว่า ถ้าเขาโตขึ้นเขาจะเข้าไปตามหาคนที่ฆ่าเขา เพื่อแก้แค้นให้ได้

เขาจำได้ว่าในอดีตชาติเขามีภรรยาแล้ว ภรรยาเขาชื่อ “ไพ” ตอนที่เด็กชายเที่ยง อายุได้ 5 ขวบ นางไพ แสนกล้า ภรรยาของ เสือโพธิ์ เคยเดินทางจากบ้านของเธอ ที่หมู่บ้านอาวุธ ต.แตล อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ซึ่งห่างจากบ้านระไซร์ ประมาณ 25 กม. มาพบกับเด็กชายเที่ยง เธอนำสิ่งของต่างๆที่เป็นของนายโพธิ์และสิ่งของอื่นๆที่ไม่ใช่ของนายโพธิ์มา ด้วย โดยนำปะปนกันมาหลายๆอย่าง แล้วถามเด็กชายเที่ยงว่า สิ่งของอันไหนเป็นของนายโพธิ์บ้าง เด็กชายเที่ยงบอกว่าสบายมาก และเขาสามารถเลือกสิ่งของทั้งหมดที่เป็นของนายโพธิ์ได้ถูกต้อง และยังเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขากับนางไพแต่งงานกันให้ฟังด้วย นางไพถามเรื่องราวส่วนตัวที่รู้กันเฉพาะคนในครอบครัวของเธอเท่านั้น เด็กชายเที่ยงก็สามารถตอบคำถามได้ถูกต้องโดยไม่ลังเล เด็กชายเที่ยงยังจำลูกสาวของนายโพธิ์ที่ชื่อว่า “ผา” ได้ และเรียกเธอว่า “ลูก” ทำให้นางไพภรรยาของนายโพธิ์และลูกสาวของนายโพธิ์แน่ใจว่า เด็กชายเที่ยงคือสามีและพ่อของพวกเธอมาเกิดจริงๆ เพราะเขาจำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตที่รู้กันเฉพาะคนในครอบครัวได้ จำเหตุการณ์ขณะที่นายโพธิ์ถูกฆ่าตายได้ และสามารถบอกเล่าได้อย่างถูกต้อง เหมือนกับเขาได้ประสบกับเหตุการณ์ที่เกิดกับนายโพธิ์มาด้วยตัวเอง เป็นเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ นางไพ ภรรยาของ เสือโพธิ์ เสียชีวิตเมื่อปี 1962 (2505) ขณะอายุได้ 76 ปี

สิบเอกเที่ยงเล่าให้ฟังว่า ตอนที่นางไพมาพบกับเขาเมื่อตอนเด็กๆ นางไพบอกกับเขาว่า หลังจากที่ตัวเขา(เสือโพธิ์)ตายไป เธอได้บวชเป็นชี และเธอไม่คิดที่จะมีสามีใหม่ สิบเอกเที่ยงเล่าพร้อมกับควักเอาภาพของแม่ชีไพ ที่เขาเก็บรักษาไว้อย่างดีออกมาให้ดู

มีพยานคนหนึ่ง ที่ทราบเรื่องราวของทั้งเสือโพธิ์และสิบเอกเที่ยงดี ซึ่งเป็นอดีตปลัดอำเภอจังหวัดสุรินทร์ชื่อ นายประมวล ทวีสุข นายประมวลผู้นี้เคยไปทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพเสือโพธิ์ตอนตายใหม่ๆ นายประมวลยืนยันว่า ศพของเสือโพธิ์มีรอยแผลที่ศีรษะและที่หัวแม่เท้าขวาจริง และนายประมวลเคยมาพบกับเด็กชายเที่ยงตอนอายุได้ประมาณ 4-5 ขวบ ปรากฏว่าเด็กชายเที่ยงทักทายเขาโดยการเรียกชื่อของเขา เด็กชายเที่ยงจำเขาได้ทั้งๆที่เพิ่งพบกันเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเด็กชายเที่ยงบอกกับนายประมวลว่านายช้างเป็นคนฆ่าเสือโพธิ์

สำหรับการสืบชาติมาเกิดใหม่ของเสือโพธิ์ โดยเกิดเป็นนายเที่ยงนี้ มีข้อน่าสังเกตที่ค่อนข้างแปลกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ มารดาของนายเที่ยงได้ตั้งครรภ์อยู่ก่อน เมื่อเสือโพธิ์ตายไปได้เพียง 3 เดือน มารดาของนายเที่ยงก็คลอดนายเที่ยงออกมา แถมบนร่างกายของเด็กชายเที่ยงยังมีรอยแผลเป็น และรอยปาน ที่ตรงกันกับบาดแผลและรอยสักของเสือโพธิ์อีกด้วย จึงยังคงเป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า รอยแผลเป็นและรอยปานที่ติดตัวของเด็กชายเที่ยงมาตั้งแต่กำเนิดเหล่านี้ เกิดมีขึ้นบนร่างกายของเด็กทารกตั้งแต่ก่อนเสือโพธิ์จะเสียชีวิต หรือเกิดขึ้นหลังจากที่นายโพธิ์เสียชีวิต ถ้าร่องรอยเหล่านี้เกิดมีขึ้นก่อนเสือโพธิ์จะเสียชีวิตร่องรอยเหล่านี้เกิด ขึ้นมาจากสาเหตุใด และถ้าร่องรอยเหล่านี้เกิดมีขึ้นหลังจากที่เสือโพธิ์เสียชีวิตแล้ว ร่องรอยเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ?



ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แปลความจากหนังสือ : Where Reincarnation and Biology Intersect โดย Ian Stevenson
แปลความจากหนังสือ : Rebirth as doctrine and experience: essays and case studies โดย Francis Story
จากหนังสือ : ตายแล้วเกิดใหม่ คนระลึกชาติ(เล่ม 1) โดย นที ลานโพธิ์

Siripat_Jantarmonkol, 48ce055
__________________
ปัญญา เปรียบเสมือนเครื่องประดับแห่งตน
Credit: พลังจิตดอดคอม
#กลับชาติมาเกิด
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
10 เม.ย. 54 เวลา 06:43 3,415 16 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...