บ่มนิสัยคนดี ลดเจ็บตายบนถนน
สถิติเจ็บ...ตายช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
ที่ผ่านๆมา สะท้อนชัดว่า...การรณรงค์ลดอุบัติเหตุ และมาตรการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง
สงกรานต์ปีที่แล้ว...มีคนไทยเสียชีวิต 361 คน...บาดเจ็บ 3,802 คน สาเหตุหลักมาจาก...เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วงแล้วขับ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด
โดยปกติ...สภาพการจราจรที่คับคั่ง ความเมา และความประมาท มักเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ยังความเสียหายให้ทั้งชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลมาแล้วนับ ไม่ถ้วน
นอกจากอุบัติเหตุบนถนนมักเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลักข้างต้น ยังมีเรื่องราวหรือสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์บนท้องถนนอีก มากมาย ส่อให้เห็นถึงความไม่เหมาะควรบางอย่างอันอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ ลงเอยที่ไม่แตกต่าง คือ ความสูญเสีย พิการ และความตาย
เป็นต้นว่ากรณีวัยรุ่นสาวนักเรียนนอก ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ นำรถเก๋งออกไปขับซิ่งบนทางด่วนชนกับรถตู้โดยสารจนรถตู้ ตกลงมาจากทางด่วน กลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ
หรือจะเป็นกรณีพ่อค้าปลาตู้เลือดร้อน กระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมทางในขณะขับขี่รถบนถนน ผุดนิสัยฝังลึกยอมใครไม่เป็น ใจเย็นไม่ได้ออกอาการเดือด ดาลซิ่งปิกอัพป้ายแดง ควงปืนไล่ยิงคู่กรณีในรถอีกคันบนทางหลวงราวกับฉากบู๊ในหนัง ฝรั่ง ถึงขั้นเหยื่อกระสุนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
หรือแม้แต่พฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นที่รู้จักของสังคมในนาม “แว้นบอย–สก๊อยเกิร์ล” ผู้ชอบใช้ชีวิตผาดโผนบนอานมอเตอร์ไซค์ และซิ่งรถเดิมพันกันบนท้องถนน
ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะได้พยายามลดระดับปัญหา และความสูญเสียที่เกิดขึ้นบนท้องถนนทุกรูปแบบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ทักษะในการขับขี่ รณรงค์ให้เคารพกฎจราจร งัดสารพัดมาตรการทั้งขู่และปรามมาใช้ เพื่อให้ท้องถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น
เช่น สุ่มจับการขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด เข้มงวดให้สิงห์มอเตอร์ไซค์เปิดไฟและใส่หมวกกันน็อกขณะขับขี่ ตั้งด่านตรวจจับวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด
แต่ก็เห็นได้ว่า ทั้งหลายทั้งปวงมาตรการที่ทำมา ยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ข้อมูลซึ่งผ่านการวิจัยและทดสอบชิ้นหนึ่ง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย (ศวพท.)
เนื้อหาสำคัญในข้อมูลชิ้นนั้นระบุว่า การที่มาตรการต่างๆ ซึ่งนำมาใช้ลด อุบัติเหตุจากการจราจรบนถนน ยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร น่าจะเป็นเพราะยังขาดส่วนสำคัญไปอีกส่วน นั่นคือ การปรับแก้ที่พฤติกรรมหรือคุณลักษณะของตัวผู้ใช้รถใช้ถนน
ใน งานวิจัยระบุไว้แจ้งชัด จะแก้ปัญหาให้ได้ผล ต้องมีการพัฒนาพฤติกรรมหรือคุณลักษณะในการขับขี่ให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนน
นพ.สุทธิพรยกตัวอย่างก่อนอื่นผู้ขับขี่รถทุกคนต้อง มีจิตสำนึกพื้นฐานเสมอว่า ทุกครั้งที่ขับขี่ยานพาหนะ ต้องไม่ทำในสิ่งที่เป็นข้อห้าม
เช่น ผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์และยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ฯ ต้องไม่ขับขี่รถทั้งบนถนนสาธารณะ หรือแม้แต่บนถนนส่วนบุคคล ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้
“ที่สำคัญผู้ปกครองของบุคคลเหล่านั้น ต้องไม่ให้ท้ายหรือสนับสนุนให้บุตรหลานของตนฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด เช่น ใช้ให้ขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อของในซอยแถวบ้าน เพราะเห็นว่าระยะทางสั้นๆ รถราไม่มากมาย ใบขับขี่ก็ไม่มี หมวกกันน็อกก็ไม่ใส่ ไฟหน้ารถก็ไม่เปิด พอเกิดอันตรายขึ้นมาตูม กลายเป็นเรื่องเศร้าทันที
“หรือกรณีผู้ขับขี่ยานพาหนะประเภทขนส่งสาธารณะ ก็เช่นกัน ยิ่งต้องฝึกพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ที่ปลอดภัยเอา ไว้ให้มาก เพราะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนบนท้องถนน จำนวนนับสิบนับร้อย”
นพ.สุทธิพรบอกว่า รวมไปถึง เจ้าของหรือผู้ประกอบการในกิจการขนส่งสาธารณะ ต้องมีจิตสำนึกพื้นฐานในเรื่องความปลอดภัยของยานพาหนะ ไม่ดัดแปลงสภาพรถหรือเพิ่มจำนวนที่นั่ง เพียงเพราะหวังจะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น โดยไม่ใส่ใจขีดกำหนดของอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาในสภาพเดิม
เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปรียบเทียบให้เห็นว่า การให้ ความรู้ และทักษะในการขับขี่รถ เป็นเพียงการทำให้คนเราขับรถเป็น
แต่เป็นคนละเรื่องกับการทำให้คนที่ขับรถเป็น ขับรถได้อย่างมีมารยาท หรือเคารพกฎแห่งความปลอดภัย
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “จิตลักษณะพื้นฐาน” ไปพร้อมกับการฝึกฝนพฤติกรรมที่พึงปรารถนา จึงจะสามารถสร้างพฤติกรรมหรือนิสัยการขับขี่อย่างปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎจราจรให้เกิดขึ้นอย่างได้ผลที่ยั่งยืน
นพ.สุทธิพรบอกว่า ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน และ ดร.โกศล มีคุณ แห่งศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย (ศวพท.) ได้รวบรวมงานวิจัยทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งได้ศึกษากับเยาวชนและประชาชนกลุ่มต่างๆไว้รวมกว่า 25 เรื่อง ประกอบกับงานวิจัยทางด้านพฤติกรรมการขับขี่ที่เหมาะสม
ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า การจะให้คนไทยขับขี่รถอย่างมีมารยาท และเคารพกฎจราจร จำเป็นต้องอาศัยทั้งความคิด จิตใจ และการกระทำที่เหมาะสม อันเกิดจากจิตลักษณะพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ได้ชื่อว่า “มีนิสัยดี” นั่นเอง
กรณีข้างต้นอาจฟังดูเป็นวิชาการที่ซับซ้อน แต่ก็พอเทียบเคียงให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างกฎเกณฑ์แห่งการ มีนิสัยดีได้ ยกตัวอย่าง จิตลักษณะแรก ที่แสดงคุณสมบัติของผู้ได้ชื่อว่า เป็นพลเมืองดี ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะของการเป็นคนรักสันติ ไม่ก้าวร้าวรุนแรง และมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ถ้าดูตามแผนภาพที่แสดงประกอบจะเห็นว่าห่วงวงกลมนี้เชื่อมโยง ไปถึงโอกาสที่จะเกิดการทะเลาะวิวาท ทำร้ายบุคคลอื่น รวมทั้งการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
จิตลักษณะที่สอง แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีมารยาท และเคารพกฎจราจร ผู้ที่จะเข้าข่ายตามลักษณะนี้ นอกจากต้องมีคุณสมบัติรักสันติ ไม่ก้าวร้าวรุนแรง ยังต้องเป็นผู้มีสติและมีเมตตาเป็นสำคัญ รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจเป็นพื้นฐาน ซึ่งห่วงวงกลมนี้เชื่อมโยงไปถึงโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุจาก การขับขี่ที่สร้างความสูญเสียให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน
จิตลักษณะที่สาม สะท้อนถึงพฤติกรรมของ การเป็นผู้ที่รับผิดชอบตนเอง ผู้อื่น งาน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผู้ที่จะเข้าข่ายนี้ได้ ต้องเป็นผู้มีสติ มีเมตตา มีจิตใจที่พอเพียง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการเป็นผู้มีหรือขาดจิตอาสาต่อสังคม ส่วนรวมด้วย เป็นต้น
นพ.สุทธิพรบอกว่า การมีสติ มีเมตตา และมีจิตลักษณะร่วมทุกประการดังที่ว่ามา ถือเป็น “จิตลักษณะสำคัญ” ที่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสื่อมวลชนทุกแขนงควรปลูกฝังอบรม หรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่เยาวชน
“ข้อมูลจากงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า เวลานี้เยาวชนไทยส่วนใหญ่ ยังขาดจิตลักษณะดังกล่าวอยู่มาก จึงสมควรต้องเร่งปลูกฝัง พัฒนาให้เด็กและเยาวชนของเรา มีคุณลักษณะข้างต้น เพื่อแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกบนท้องถนน หรือตามกาลเทศะต่างๆ ยิ่งเร่งปลูกฝังและพัฒนาได้ตั้งแต่อายุน้อยหรือเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นการดี”
นพ.สุทธิพรบอกว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพฤติกรรมในการขับขี่ยานพาหนะให้ ปลอดภัย จึงสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อขยายผล โดยศึกษาถึงผลการฝึกจิตและปรับพฤติกรรมแบบบูรณาการในการ ขับขี่รถอย่างปลอดภัยในกลุ่มวัยรุ่น
ปรากฏว่า การฝึกอบรมได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก