ประวัติโสเภณี ในไทย

โสเภณี
 
คำว่า "โสเภณี" ที่ปัจจุบันแตกลูกแตกหน่อออกเป็นหลายคำ
เช่นโสเภณีชาย โสเภณีเด็ก เดิมมาจากคำเต็มๆว่า "นครโสเภณี"
แปลว่า "หญิงงามแห่งนคร" ค่ะ
คนรุ่นคุณปู่คุณตาเรียกเป็นไทยๆว่า "หญิงงามเมือง"

คำว่า "นครโสเภณี" มาจากอินเดีย ในสมัยโบราณบางแคว้นของชมพูทวีป
มีหญิงเหล่านี้เอาไว้เชิดหน้าชูตา เป็นแรงดึงดูดการท่องเที่ยว
และนำเงินตราเข้าบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี
อย่างในเรื่อง กามนิต ก็ได้กล่าวถึงเอาไว้ว่า นางนครโสเภณีเหล่านี้คือ
"มงกุฎดอกไม้หลากสีของกรุงอุชเชนี"

"บรรดาสิ่งที่ขึ้นชื่อลือชาในกรุงอุชเชนี ไม่มีอะไรจะวิเศษไปกว่าหมู่นางคณิกา
มีตั้งแต่เป็นนางงามชั้นสูงอยู่ในปราสาท...
ในห้องรับแขกจะมีจินตกวี นักละคร แขกเมืองคนสำคัญ บางทีก็มีเจ้านายไปเยี่ยมเยียน
นางเหล่านี้ตลอดจนชั้นเลวลงมาล้วนสวยงามทรวดทรง
มีกิริยาอ่อนช้อยยียวนใจหาที่เปรียบมิได้

ถึงคราวมีงานสมโภชครั้งใหญ่ ในคราวแห่แหนหรือมีการประกวด
นางคณิกาเหล่านี้ จะเป็นอาภรณ์สำคัญประสมอยู่ในวิถีมรรคา...
ล้วนพัสตราภรณ์สีแดง ถือพวงมาลารำเพยกลิ่นหอมตลบอบอวล
แพรวพราวด้วยมณีรัตน์เครื่องประดับ...

นางเหล่านี้พระราชาก็ประทานเกียรติยศ ประชาชนก็บูชา
จินตกวีก็กล่าวขวัญเป็นบทเพลงเยินยอ
ซึ่งเป็นการสมควรแล้วที่จะขนานนามว่า"มงกุฎดอกไม้หลากสีของกรุงอุชเชนีที่สถิตเหนือฐานศิลา"

กระทำให้แคว้นใกล้เมืองเคียงต่างๆอิจฉากรุงอุชเชนีเป็นกำลัง
นางงามเหล่านี้บางคนที่เลือกสรรแล้วเคยรับเชิญเป็นแขกเมืองไปเยี่ยมแดนต่างๆก็บ่อยๆ"

ส่วนทางแผ่นดินแหลมทอง โสเภณีเป็นวัฒนธรรมมาจากอินเดียหรือว่าเกิดขึ้นเอง
ตามธรรมดาของชุมชนก็ไม่ทราบ คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นเองได้โดยไม่ต้องไปอาศัยอิทธิพลจากใคร
เดิมเราไม่ได้เห็นอาชีพนี้เชิดหน้าชูตาแบบกรุงอุชเชนี กลับเป็นเรื่องน่ารังเกียจด้วยซ้ำ

เทพชู ทับทอง เขียนไว้ในหนังสือ กรุงเทพฯในอดีต ว่ากฎหมาย "ลักษณะผัวเมีย"
ซึ่งบัญญัติขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทอง ลงโทษเอาไว้ หนัก
หากนำหญิงเหล่านี้มาเป็นภรรยา แล้วหล่อนเกิดทำชั่วคบชู้ขึ้นมา

มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขับ คนรำ เที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต
แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงทำเมีย ทำชั่วเหนือผัวก็ดี
ผัวรู้ด้วยประการใดๆ…ท่านให้ผจานหญิงชายนั้นด้วยไถนา
อันหญิงร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉะบาทั้งสองหู
ร้อยดอกฉะบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีศะใส่คอ
แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง
ผจานด้วยไถนาสามวัน

ในกฎหมายนี้ยังบอกด้วยว่าถ้าผัวยังรักเมียอยู่
จับได้ว่าคบชู้แล้วยังรักเมียไม่อยากให้ประจาน
บ้านเมืองจะลงโทษให้เทียมแอกไถนาเสียอีกคน
ฟังแล้วหนุ่มๆหลายคนก็คงสยอง ดีไม่ดีตัวเองมีสิทธิ์กลายเป็นเครื่องมือไถนาด้วยได้ง่ายๆ

ไม่ว่าจะรังเกียจอย่างไรก็ตาม อาชีพเก่าแก่นี้ก็ยังมีเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
แหล่งประจำอยู่ที่สำเพ็ง
ใน นิราศเมืองแกลง เมื่อสุนทรภู่ออกเดินทางไประยองในตอนยามสอง
นั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้ยินเสียงหญิงเหล่านี้ขับร้องเพลงลอยลมมา


ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ..................แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน........ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง

ลูกค้าของเธอ คงเป็นพวกชาวจีน เพราะสำเพ็งเป็นแหล่งคนจีน มาตั้งแต่สร้างกรุง
เป็นอาชีพที่ทางการบ้านเมืองไม่ได้ห้ามปราม แต่ก็ไม่ได้ปล่อยเอาไว้เฉยๆ
ในเมื่อมีรายได้ ทางการก็เก็บภาษีอากรเข้ารัฐ ด้วยการเก็บภาษีสำนัก
เป็นภาษีโรงเรือน เหมือนการเช่าอาคารร้านรวงทั่วไป

มาถึงรัชกาลที่ ๕ และ ๖ โสเภณีมีชื่อใหม่ว่า "หญิงโคมเขียว"
เพราะสำนักของเธอ แขวนโคมกระจกสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมาย
พอค่ำก็เปิดไฟหรือจุดตะเกียงในโคมให้ลูกค้ารู้กัน
แหล่งที่ขึ้นชื่อมากเรียกว่า "ตรอกเต๊า" มีสำนักตั้งกันเรียงรายตลอดตรอก
สำนักโสเภณี มีแม่เล้าหรือมาม่าซังเหมือนเดี๋ยวนี้
สมัยนั้นบรรดาลูกสาวเรียกว่า "คุณแม่" แต่ชาวบ้านเรียก "ยาย"

คนที่ดังที่สุดมีชื่อเสียงติดอยู่ในประวัติโสเภณีไทยก็คือคุณแม่แฟง
เพราะทำมาค้าขึ้น จนมีเงินมากมายพอสร้างวัดขึ้นมาได้ ที่ตรอกวัดโคก
ชื่อ"วัดคณิกาผล" ชื่อก็บอกว่าเป็นผลมาจากโสเภณีนั่นเอง
แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดใหม่ยายแฟง"

มาม่าซังแฟง มีลูกสาวสืบทอดธุรกิจชื่อกลีบ บริหารงานได้เก่งไม่แพ้แม่
ขึ้นชื่อว่าเป็นสำนักเกรดเอ ตกแต่งห้องอย่างดี มีเครื่องใช้ประจำอย่างเครื่องแป้ง
ขันน้ำ กระโถน เป็นพวกเครื่องถมมีราคา ราวกับบ้านคหบดี
ที่นอนหมอนมุ้งขาวสะอาดสะอ้าน เป็นที่นิยมของลูกค้าระดับสูงกระเป๋าหนัก
จนคุณแม่กลีบร่ำรวยสามารถสร้างวัดได้เหมือนกันชื่อ "วัดกันมาตุยาราม"
บุตรของคุณแม่กลีบไม่ได้เจริญรอยตามแม่ แต่ได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางจนได้เป็นถึงคุณพระ

โสเภณีสมัยนั้นรูปร่างหน้าตาเป็นยังไงหรือคะ? ก็เป็นสาวๆนี่ละค่ะอายุสิบห้าสิบหกขึ้นไป
ทำตัวฉูดฉาดสะดุดตาชาย ผัดหน้าขาว กินหมากปากแดง ใส่น้ำอบไทยหอมฟุ้ง
แต่งตัวก็นุ่งผ้าลายหรือโจงกระเบน ห่มผ้าแถบหรือสไบเฉียง
บางคนใส่เสื้อคอ คือเป็นเสื้อมีสายโยงบ่าคล้ายๆเสื้อสายเดี่ยว
ตกค่ำพวกนี้ก็จะมานั่งโชว์ตัว อยู่หน้าห้องริมตรอกอย่างเปิดเผย คอยต้อนรับลูกค้า
ส่วนกลางวันพวกเธอนอนพักไม่ออกมาทำงาน

ส่วนผลกระทบต่อสังคม มีไหม?
เรื่องกระทบกระเทือนชื่อเสียงของประเทศชาติ-ไม่มีค่ะ
เรื่องจะต้องรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมก็ไม่มีอีกเหมือนกัน
เรื่องปราบปรามจับกุมก็ไม่มี แต่ทางด้านสาธารณสุข-มีแน่นอน

ในยุคที่เอดส์ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์
มีประวัติสถิติของกรมสุขาภิบาลกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๖
ระบุว่าพวกผู้ชาย(วัยหนุ่ม?) ในพระนครที่ป่วยเป็นกามโรค
มีจำนวนถึงร้อยละเจ็ดสิบห้าทีเดียว

 

Credit: ต่วยตูน
7 เม.ย. 54 เวลา 06:09 3,627 5 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...