ค่ายบางระจันแตกเพราะอะไร?
เรื่อง ราวอันเป็นวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เกิดขึ้นนานนับร้อยปีล่วงมาแล้ว เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นที่เล่าขานกันต่อมาตราบจนทุกวันนี้ มันเป็นสงครามที่ลงเอยด้วยความตาย ไม่มีชาวบางระจันรอดชีวิตจากสงครามในครั้งนั้นแม้แต่คนเดียว
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นที่ค้างคาใจคนไทยรุ่นหลังๆ ก็คือ ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ให้ปืนใหญ่ชาวบ้านบางระจัน ?
ก่อนอื่นเราต้องไม่ลืมว่า สมัยนั้นคำว่า "ชาติไทย" ยังไม่มี กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หัวเมืองต่างๆ จะต้องเชื่อฟัง คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินเสมอไป รวมทั้งชาวบ้านบางระจันก็ไม่ได้ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
การใช้ชีวิตของชาวบ้านบางระจันเป็นไปอย่างอิสระ ผู้ชายไม่ได้สนใจเรื่องที่จะไปเป็นทหารอยู่ในวังหลวงเสียด้วยซ้ำไป ภาษีหรือที่เรียกว่า จังกอบ ..........ชาวบ้านบางระจันก็ไม่ได้นำส่งเข้าเมืองหลวง ด้วยเหตุนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยามีความไม่พอใจชาวบ้านบางระจัน
เมื่อเกิดสงครามระหว่างชาวบ้านบางระจันกับฝ่ายพม่า กรุงศรีอยุธยาจึงไม่ส่งกำลังทหารมาช่วย รวมไปถึงปืนใหญ่ที่ชาวบางระจันขอมา กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ให้ไป โดยอ้างเหตุผลว่า กลัวฝ่ายทหารพม่าจะดักปล้นระหว่างทาง
นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวของชาวบ้านบางระจัน ต่างมีความเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้ว การที่กรุงศรีอยุธยาไม่ให้ปืนใหญ่ไปนั้น เกิดจากความไม่แน่ใจว่า สงครามที่เกิดขึ้นในภายภาคหน้า
ชาวบ้านบางระจันจะอยู่ข้างฝ่ายใด หากชาวบางระจันไปเข้ากับฝ่ายพม่า ก็จะเท่ากับเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับฝ่ายศัตรู
ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ทางกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ให้ปืนใหญ่กับชาวบ้านบางระจัน จนทำให้เกิดเหตุการณ์วิปโยคไปทั้งหมู่บ้าน ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชในเวลาต่อมา ไม่มีตัวเลขยืนยันว่า ชาวบ้านบางระจันเสียชีวิตไปกี่คน แต่สิ่งที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอนก็คือ ไม่มีผู้ใดรอดชีวิตจากสงครามในครั้งนั้นแม้แต่คนเดียว
...........ขอนำท่านย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งตรงกับในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) เมื่อพระองค์ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2301 ทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (กรมขุนพรพินิต) ครองราชสมบัติเป็นเวลา 10 วัน แล้วทรงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐาธิราช ส่วนพระองค์เสด็จออกทรงผนวช ณ วัดเดิม แล้วประทับอยู่ ณ วัดประดู่
เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ได้กระทำพิธีราชาภิเษกแล้ว ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือเรียกกันว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมิได้ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครอง สมเด็จพระราชบิดาจึงไม่ยอมมอบราชสมบัติให้ เมื่อพระองค์ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดังนี้จึงทำให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่เจ้านายและข้าราชการทั้งปวง
พระเจ้าอลองพญามังลอง และมังระราชบุตร ยกกองทัพมาตีเมืองทวาย มะริดและตะนาวศรี ซึ่งเป็นของไทย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดให้กองทัพไทยยกออกไปป้องกันถึง 3 ทัพ แต่ก็พ่ายแพ้พม่ากลับพระนครทุกครั้ง พม่าสามารถยกเข้ามาถึงชานกรุงศรีอยุธยา ใช้ปืนใหญ่ระดมยิงพระราชวัง เผอิญพระเจ้าอลองพญาถูกราชปืนแตกต้องพระองค์ประชวร ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 1 ปีมะโรง พ.ศ. 2303 พอถึงตำบลเมาะกะโลก นอกด่านเมืองตาก พระเจ้าอลองพญาก็สวรรคต
...........ต่อมาใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่า ขึ้นครองราชย์ต่อจากมังลองพระเชษฐาใน พ.ศ. 2306 คิดจะตีกรุงศรีอยุธยาอีก กองทัพของมังมหานรธาตีได้เมืองทวายแล้ว จึงยกมาตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรีของไทยด้วย มังมหานรธาส่งทัพหน้าเข้ามาทางกาญจนบุรีในเดือน 7 ปะทะกับทัพพระพิเรนทรเทพ ทัพไทยแตกพ่าย สงครามครั้งนี้ไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พม่ายึดได้เมืองต่างๆหลายเมือง
ในเดือน 3 ปีระกา พ.ศ. 2308 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บถรี เมืองสรรค์บุรี จึงพากันคิดอุบายล่อลวงพม่า นายโชติก็คุมสมัครพรรคพวกเข้าฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 เศษ แล้วพาพรรคพวกครอบครัวทั้งปวงหนีมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช ซึ่งมาอยู่วัดโพธิ์เก้าต้นบ้านบางระจัน เนื่องจากพระอาจารย์ธรรมโชติมีกิตติศัพท์ว่ามีคุณความรู้ดี เชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก
พระอาจารย์ธรรมโชติได้ลงตะกรุดประเจียดมงคลแจกชาวค่าย สำหรับป้องกันตัวและเป็นกำลังใจนอกจากนี้ยังมีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามา ร่วมด้วยอีก 5 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่ รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้น 11 คน ท่านเหล่านี้รวมทั้งชาวบ้านอื่นๆ ได้รบสู้กับทัพพม่าถึง 8 ครั้ง
...........การรบครั้งที่ 1 ทหารพม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญยกพลประมาณ 100 เศษมาตามจับพันเรือง เมื่อถึงบ้านบางระจัน ก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำ (บางระจัน) นายแท่นจัดคนให้รักษาค่าย แล้วนำคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวยิงปืนได้เพียงนัดเดียว ชาวไทยซึ่งมีอาวุธสั้นทั้งนั้นก็กรูเข้าไล่ฟันแทงพม่าถึงขั้นตะลุมบอลพลทหาร พม่าล้มตายหมด
...........การรบครั้งที่ 2 เนเมียยวสีหบดีจึงแต่งให้งาจุนหวุ่น คุมพล 500 มาตีค่ายบางระจัน นายแท่นก็ยกพลออกรับ ตีทัพพม่าแตกพ่ายล้มตายเป็นอันมาก
...........การรบครั้งที่ 3 เนเมียวสีหบดีเห็นว่าจะประมาทกำลังของชาวบ้านบางระจันต่อไปอีกไม่ได้ จึงเกณฑ์เพิ่มขึ้นอีกเป็น 900 คน ครั้งนี้ชาวบ้านบางระจันมีชัยชนะอีกครั้ง
...........การรบครั้งที่ 4 ทัพไทยทั้งสามยกไปตั้งที่คลองสะตือสี่ต้น ฝ่ายไทยชำนาญภูมิประเทศกว่า ตัวสุรินทร์จอข่องนายทัพพม่า ถูกพลทหารไทยวิ่งเข้าไปฟันตาย ณ ที่นั้น
...........การรบครั้งที่ 5 แยจออากาเป็นนายทัพ คุมทหารซึ่งเกณฑ์แบ่งมาจากทุกค่ายประมาณ 1,000 เศษ พร้อมด้วยม้าและอาวุธต่างๆ แต่ก็ปราชัยชาวบ้านบางระจัน
...........การรับครั้งที่ 6 นายทัพพม่าครั้งที่ 6 คือ จิกแก ปลัดเมืองทวาย คุมพล 100 เศษ ฝ่ายไทยมีชัยชนะอีกเช่นเคย
...........การรบครั้งที่ 7 เนเมียวสีหบดีให้อากาปันคยีเป็นแม่ทัพคุมพล 1,000 เศษ ทหารไทยใช้การรบแบบจู่โจม พม่ายังไม่ทันตั้งค่ายเสร็จก็ถูกโจมตีทางหลังค่าย พม่าแพ้อีกครั้ง
การรบครั้งที่ 8 ในครั้งนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้หรือพระนายกอง ดำเนินกลศึกอย่างชาญฉลาด ในที่สุดพม่าก็สามารถตีค่ายใหญ่บางระจันได้ ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 รวมเวลาที่ไทยรับกับพม่าตั้งแต่เดือน 4 ปลายปีระกา พ.ศ. 2308 ถึงเดิน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 เป็นเวลาทั้ง 5 เดือน
ในเวลานี้ภายในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสมรภูมิรบเมื่อครั้งอดีต ได้มีการจัดสร้างกำแพงโดยรอบ เพื่อเป็นการรื้อฟื้นบรรยากาศเก่าๆ สมัยเมื่อครั้งอดีต ที่ชาวบ้านบางระจันทำสงครามกับฝ่ายพม่า คุณอ๊อด พลรักษ์ ............ช่างคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ในขณะที่เขากำลังทาสีกำแพงรั้วอยู่นั้น เขารู้สึกหน้ามืดหมดสติ ก่อนที่ร่างของเขาจะล่วงตกลงมา เขามีความรู้สึกว่ามีมือที่ทรงพลังมาดันหลังของเขาเอาไว้
"ผม รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มือนั้นมีพลังมาก ซึ่งไม่ใช่พวกเพื่อนๆ ผม พวกเขาไปกินข้าวกันหมด มีผมเพียงคนเดียวที่ยังไม่หิว ผมจึงทาสีกำแพงรั้วไปเรื่อยๆ ความสูงจากรั้วถึงพื้นดิน ราวๆ 10 เมตรเห็นจะได้ ถ้าตกลงมาก็เจ็บหนักละครับ ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผม จะต้องเกี่ยวพันกับอำนาจบางอย่างที่มีอยู่ในบริเวณวัดแห่งนี้"........... เรื่องราวแปลกๆ ภายในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น มักจะปรากฏให้คนทั่วไปได้ประจักษ์อยู่เสมอ ประหนึ่งจะบอกให้รู้ว่า ณ สถานที่แห่งนี้ ยังมีดวงวิญญาณของเหล่านักรบกล้า สิงสถิตอยู่จนชั่วนิจนิรันดร์
ที่มาgeocities.com/tongdan
__________________
ปัญญา เปรียบเสมือนเครื่องประดับแห่งตน
Credit:
พลังจิตดอดคอม