หลังจัดเตรียมอุปกรณ์มานานแรมเดือนและซ้อมจริงมา 1 รอบ เช้าวันอาทิตย์ 3 เม.ย.นี้ทหารหน่วยรบพิเศษกว่า 50 นาย ได้ลงบึงฮว่านเกี๋ยม ไม่ใช่การสู้รบ หากเป็นการลากอวนไล่ล่า "ปู่เต่า" หรือ เต่าศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามแผนของคณะกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทำการรักษา
ก่อนหน้านี้มีคนไม่มากนักที่มีโอกาสได้เห็นตัวเป็นๆ ของเต่าแห่งตำนาน และ หลายคนไม่เชื่อว่ามีอยู่จริงเสียด้วยซ้ำ เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานของกรุงฮานอยได้เตรียมการอย่างดีเพื่อนำ เต่าศักดิ์สิทธิ์ในตำนานไปอยู่ในอาณาเขตที่จัดให้ใหม่คือ บริเวณรอบๆ "เจดีย์เต่า" ในบึงแห่งเดียวกัน ซึ่งมีการจัดระบบฟอกน้ำให้บริสุทธิ์ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีสามารถจับเต่าศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาให้สาธารณชนได้เห็นทั้งตัว ภาพ "เต่า" ขนาดมหึมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ กับสื่อโทรทัศน์ในวันเดียวกัน และแน่นอนว่าภาพเหล่านี้กำลังจะออกผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในเช้าวันรุ่งขึ้น
เรียกกันจนติดปากว่า "เต่า" แต่แท้จริงคือ ตะพาบน้ำยักษ์พันธุ์หนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า มีเหลืออยู่เพียง 4 ตัวสุดท้ายในโลก อีก 3 ตัวอยู่ที่สวนสัตว์ในประเทศจีน แต่นักวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญเวียดนามโต้แย้งว่า เต่าในบึงฮว่านเกี๊ยมกับเต่าที่พบในจีนเป็นคนพันธุ์กัน เต่าศักดิ์สิทธิ์มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการต่อสู้เพื่อเอกราชของอาณาจักรเวียดนามโบราณ ซึ่งตำนานเล่าว่าเต่าศักดิ์สิทธิ์ตัวนี้ เป็นผู้รักษาดาบศักดิ์สิทธิ์และคืนให้แก่พระจักรพรรดิเลเลย (Lê Lợi) แห่งไดเหวียด ทำให้พระองค์สามารถเอาชนะกองทัพจีนและเวียดนามพ้นจากการเป็นประเทศราชของราชวงศ์หมิง ที่สถิตของเต่าศักดิ์สิทธิ์จึงมีชื่อหนึ่งว่า "สระคืนดาบ" หรือ "โห่ฮว่านเกี๊ยม" (Hồ Hoàn Kiếm) ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า "Lake of the Restored Sword"
อย่างไรก็ตามชาวเวียดนามเองนิยมเรียกบึงน้ำแห่งนี้เป็น "โห่เกือม" (Hồ Gươm) ซึ่งมีความหมายตรงไปตรงมาว่า "สระกระบี่" จากที่ไม่เคยโผล่ขึ้นเหนือน้ำให้ใครได้เห็นมานานนับร้อยปี ปู่เต่าได้ลอยตัวขึ้นมาให้เห็น 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว และบ่อยครั้งยิ่งขึ้นในต้นปีนี้ การปรากฏตัวบ่อยถี่ยิบ พร้อมรอยแผลตามลำตัว ได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของเต่าศักดิ์สิทธิ์ ลำตัว ส่วนไหล่และขาของปู่เต่าเต็มไปด้วยแผลพุพอง ที่เชื่อกันว่าเกิดจากโดนเบ็ดเกี่ยว หรือถูกเต่าหูแดงจากต่างถิ่นกัดแทะ หรือเกิดจากการติดเชื้อเนื่องจากคุณภาพน้ำในบึงที่เสื่อมลง หรือ ทั้งสามสาเหตุ
ภาพประวัติศาสตร์...เจ้าหน้าที่ทีมงานถ่ายภาพใกล้ๆ กับ "ปู่เต่า" (cụ Rùa) หลังจากปฏิบัติการไล่จับประสบความสำเร็จในวันอาทิตย์ 3 เม.ย.2554 นี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาทสตร์ที่ชาวเวียดนามได้เห็นเต่าศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแห่งตำนานทั้งตัวเต็มๆ หลังจากอาศัยอยู่ในบึงฮว่านเกี๊ยม (Hồ Hoàn Kiếm) ใจกลางกรุงฮานอยมานานข้ามศตวรรษ.--REUTERS/Hoang Long/Dai Doan Ket Newspaper.
ในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ปู่เต่าได้โผล่ส่วนหัวจนถึงช่วงเกือบกลางลำตัวขึ้นนอนอาบแดดบนตลิ่ง และ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้ว่ายไปยังบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่งเป็นเวลาสั้นๆ ให้ชาวฮานอยกับนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งได้สัมผัสลำตัวเป็นครั้งแรก ศาสตราจารย์ห่าดี่งดึ๊ก (Hà Đình Đức) ผู้อุทิศตนศึกษาปู่เต่ามาค่อนชีวิต เชื่อว่าเต่าศักดิ์สิทธิ์จะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม หรือ ข้าวสารราว 2 กระสอบ และ สุขภาพโดยรวมก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก
ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระจักรพรรดิเลเลย (Lê Lợi) ประดิษฐานอยู่ในหน้าศาลาว่่าการคณะกรรมการประชาชน จ.แท็งฮว๊า (Thanh Hoá) อันเป็น "บ้านเกิด" ของพระองค์ นี่คือพระมหากษัตริย์คู่ตำนานกับเต่าศักดิ์สิทธิ์แห่งบึงฮว่านเกี๊ยม พระองค์ทรงรับดาบจากปู่เต่า ฟาดฟันกับกองทัพแห่งราชวงศ์หมิง จนได้ชัยทำให้อาณาจักรเวียดนามโบราณพ้นจากการเป็นประเทศราชในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์.--ภาพ: Wikipedia.
อายุเท่าไรแล้ว? มีคำถามกันมาตลอดเกี่ยวกับอายุของเต่าศักดิ์สิทธิ์ บางคนบอกว่าอยู่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ในช่วงปีที่เวียดนามเอาชนะศึกใหญ่จากทางเหนือ บ้างก็บอกว่าน่าจะ 300 ปีมาแล้ว ซึ่งมีการบันทึกการพบเห็นเป็นครั้งแรกไม่มีผู้ใดทราบอย่างแน่นอนเกี่ยวกับอายุ หรือ แม้กระทั่งเพศของตะพาบยักษ์ แต่ชาวฮานอยก็พร้อมใจกันเรียกว่า "ปู่เต่า" หรือ "กุหรั่ว" (Cụ Rùa) หรือ เรียกเต็มยศว่า "ปู่เต่าแห่งสระกระบี่" หรือ cụ Rùa Hồ Gươm แต่อีกไม่นานก็จะรู้กันว่า เป็นปู่หรือเป็นย่ากันแน่
ความพยายามจับปู่เต่าในเดือน ก.พ.ล้มเหลว เต่าศักด์สิทธิ์สามารถแหวกอวนให้เป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ และสามารถหลบหนีไปได้ เจ้าหน้าที่กล่าวว่าเป็นเพราะอวนลากที่เก่าและคุณภาพไม่ดี แต่ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นเพราะเต่าคู่บ้านคู่เมืองไม่อยากจะให้ใครจับ
ปฏิบัติการไล่ล่าปู่เต่าในวันอาทิตย์นี้ได้รับความสนจากชาวฮานอยนับพันๆ เนื่องจากเป็นวันหยุด นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่ผ่านไปพบก็หยุดดูเหตุการณ์ ที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ก่อนจะรวบปู่เต่าเข้ากรงเหล็ก และเคลื่อนย้ายไปยังที่อยู่แห่งใหม่ได้.
5.
6.
7.
8.