แชมป์ แอบถ่าย แห่งเอเซีย ไทยแลนด์แดนหนังซูม

แชมป์ ‘แอบถ่าย’ แห่งเอเชีย ไทยแลนด์แดนหนังซูม

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 31 มีนาคม 2554 18:37 น.  
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น



กาลครั้งหนึ่ง ศิลปะแขนงที่ 7 อย่างภาพยนตร์ เคยเป็นสิ่งที่รับชมได้ก็แต่ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเกิดขึ้นของวิดีโอ รวมไปถึงสื่อสมัยใหม่อย่างวีซีดี ดีวีดี รวมไปถึงบลูเรย์ ก็ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของภาพยนตร์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในโรงภาพยนตร์อีกต่อไป
       
       ทุกวันนี้ ถ้าหากหนังเรื่องใดเข้าฉายในโรงจนจบโปรแกรมแล้ว ผู้ผลิตก็จะผลิตแผ่นตามออกมาเพื่อให้คนที่ยังไม่ได้ดูหนังโรง หรือคนที่ดูแล้วติดใจ ซื้อหาหรือเช่าไปดูที่บ้าน ซึ่งแผ่นที่ออกมานั้นจัดได้ว่าเป็นแผ่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย
       
       แต่ในความเป็นจริง เรายังมีแผ่นหนังอีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ค่าที่มันมีความรวดเร็วในการออกจำหน่ายพอๆ กับการเข้าฉายในโรง ก็จะไม่ให้เร็วได้อย่างไร เพราะพอหนังเข้าโรงปุ๊บ พวกก็เอากล้องวิดีโอเข้าไปถ่ายปั๊บ เดินออกมาก็ส่งไฟล์ไปไรต์เป็นแผ่นขายทันที
       
       ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงแผ่นหนังซูม ทั้งที่คุณภาพห่วยและผิดกฎหมาย แต่ขายดีเพราะราคาถูกและออกจำหน่ายเกือบจะพร้อมกับการลงโรง
       
       หลักฐานที่มายืนยันในเรื่องนี้ก็มี ให้เห็น เพราะล่าสุดทาง สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) ได้ออกมาแถลงว่า ไทยเป็นประเทศที่พบการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์มากที่สุดในเอเชีย โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ต่างประเทศถูกแอบถ่ายทั้งหมด 37 เรื่อง นี่ยังไม่นับหนังของไทยเองทุกเรื่องที่มีแผ่นซูมออกมาจำหน่ายด้วยซ้ำ
       
       รสนิยมกำหนดตลาด
       
       เรื่องของการทำแผ่นหนังซูมนั้น จะว่าไปมันก็น่าจะเกิดจากเหตุผลด้านอุปสงค์ - อุปทานธรรมดาๆ เพราะถ้ามันมีคนต้องการซื้อ คนทำก็พร้อมที่จะทำออกมาขาย
       
       ที่น่าสงสัยก็คือ ทั้งๆ ที่หนังซูมคุณภาพทั้งด้านภาพและเสียงมันแย่เสียจนเหลือรับ แต่ทำไมถึงยังมีคนต้องการที่จะซื้อมันอยู่
       
       พรชัย (นามสมมติ) พนักงานราชการ เล่าว่า การที่ได้ดูหนังซูม สำหรับเขาถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติกว่าการดูหนังในโรงเสียอีก เพราะการที่จะไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ได้ต้องมีเวลาว่างจริงๆ ส่วนการดูหนังซูมนั้นมีโอกาสมากกว่า
       
       “อย่างเราไปเดินตลาดทั่วไป เราก็เห็นแผงขายหนังแผ่นที่ออกมาชนกับโรงหลายเรื่อง เราเลือกซื้อและกลับไปดูที่บ้านได้ และได้ดูกันหลายคนในราคาที่ไม่แพงเลยด้วย”
       
       ถึงแม้ว่าคุณภาพของหนังซูมจะเป็นที่รู้ๆ กันว่า แสนจะต่ำทั้งเสียง ภาพ และอื่นๆ แต่ในมุมของพรชัยสะท้อนความคิดเห็นออกมาว่า
       
       “ส่วนมากจะเป็นหนังไทยที่เราซื้อมาดู เพราะอยากคุยกับคนอื่นๆ ได้รู้เรื่อง เพราะว่าเราไม่มีเวลาไปดูที่โรงด้วย ส่วนคุณภาพนี่ก็ต้องวัดดวงเอา บางเรื่องซื้อมาดูไม่ได้เลย บางเรื่องก็โอเค บางครั้งเราก็ไปดูในโรงหนังบ้าง แต่อย่างที่รู้ๆ กันราคาตั๋วหนังก็แพง นานๆ ทีเราถึงจะเลือกเรื่องที่ดีๆ แล้วไปดูกัน คือดูแล้วไม่คิดเสียดายเงินอะไรแบบนั้น แต่บางเรื่องดูแล้วเสียดายเงิน เราก็เลือกดูแผ่นที่ออกมาเร็วๆ ดีกว่า”
       
       ต่างกับ กรกช สุริยาอาภรณ์ ที่นิยมดูภาพยนตร์ในโรงเป็นชีวิตจิตใจ แม้มันจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการไปซื้อหนังซูมมาดูที่บ้านค่อนข้างมาก แต่ก็คุ้มค่ามากกับเงินที่ต้องเสียไป
       
       "การดูหนังที่ดีต้องมีอรรถรสด้วย ผมชอบดูหนังวันพุธ เพราะว่ามันเป็นช่วงมูฟวีเดย์ที่ตั๋วจะลดครึ่งราคา อีกอย่างด้วยความที่เราไม่ได้ทำงานประจำก็เลยมีเวลาค่อนข้างเยอะ อาทิตย์หนึ่งก็ 1-2 เรื่อง ยิ่งช่วงนี้ใกล้ซัมเมอร์ของอเมริกาที่หนังดังๆ เข้ามาเยอะ ก็เลยดูบ่อยกว่า ถ้าเฉลี่ยเดือนหนึ่งก็ประมาณ 500 กว่าบาท อันนี้เฉพาะดูหนังอย่างเดียว แต่ถ้าเราบวกค่าจิปาถะ อย่างของกินหรือค่าเดินทางก็น่าจะเกือบพันบาท"
       
       กรกช บอกว่า เสน่ห์สำคัญก็คือบรรยากาศ เพราะภาพยนตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างมาเพื่อให้คนรู้สึกสนุกกับการดูที่โรง ภาพยนตร์มากกว่า เช่น จอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และระบบเสียงที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อสมาธิของผู้ชมโดยตรงให้ต้องจดจ่อกับภาพที่ อยู่ข้างหน้า
       
       ขณะที่หนังซูมนั้นเขาจะไม่ดูเด็ดขาด เพราะไม่ได้ทั้งอรรถรสและบรรยากาศ แถมยังเลือกภาษาก็ไม่ได้ แม้ราคาจะถูกกว่าก็ตาม เว้นแต่หนังเรื่องนั้นจะหาดูไม่ได้จริงๆ ซึ่งสำหรับการดูแบบนี้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย
       
       "ผมมองว่าอรรถรสในการดูหนังเป็นสิ่ง ที่สำคัญที่สุด มากกว่าการที่เราดูหนังเรื่องนี้แล้วนะ คือเวลาดูต้องสนุกไปกับมันด้วย ซึ่งหนังซูมมันคงให้ไม่ได้ และจริงๆ ผมว่าถ้าเราดูแล้วไม่สนุกก็อย่าดูเลยดีกว่า"
       
       แต่เอาเข้าจริง คนที่ซีเรียสกับการดูหนังอย่างกรกช คงจะนับเป็นคนส่วนน้อยของประเทศไทย เพราะคนทั่วไปส่วนใหญ่ยังอ้าแขนรับหนังซูมอย่างเต็มใจ ทำให้ตลาดของหนังซูมยังคงหอมหวานเสมอสำหรับบรรดาพ่อค้าหนังซูมที่ละเมิด ลิขสิทธิ์
       
       เหตุผลที่คนดูหนังซูม วัฒนธรรมการเสพหนังแบบไทยๆ
       
       ดังที่กล่าวไปแล้วว่า หนังซูมนั้นคุณภาพแย่ในทุกด้าน แต่เหตุใดมันจึงเป็นที่ต้องการของตลาดเสมอมา ในประเด็นนี้มีมุมมองที่แตกต่างกันจากผู้คลุกคลีในวงการภาพยนตร์ 2 คน คนแรกคือ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน จากมูลนิธิหนังไทย เขาเชื่อว่ายุคนี้น่าจะไม่มีใครอยากดูหนังซูม เนื่องจากคุณภาพของภาพและเสียงต่ำมาก บวกกับปัจจัยด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่สามารถหาโหลดหนังฟรีๆ หนังซูมจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังเห็นแผ่นผีที่เป็นหนังซูมวางขายอยู่ทั่วหัวระแหง อาจจะเป็นเพราะราคาขายและความรวดเร็วของมัน ประกอบกับคนส่วนมากยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการดาวน์โหลดของฟรีคุณภาพ ดี นั่นทำให้หนังซูมยังคงมีอยู่ ถึงแม้มันจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็ตาม
       
       นอกจากนั้น วัฒนธรรมการเสพภาพยนตร์ในบ้านเรายังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอีกด้วย
       
       “ถ้าในช่วง 10 ปีก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนัก แต่ถ้านานกว่านั้นสักหน่อย สมัยก่อน ถ้านัดดูหนังกับเพื่อน ก่อนดูหนังก็อาจจะหาอะไรกินก่อน ดูหนังมาเป็นอันดับหนึ่ง ดูหนังเสร็จแล้วก็ไปเดินชอปปิ้ง แต่เดี๋ยวนี้มันกลับกันแล้ว เดี๋ยวนี้ไปชอปปิ้ง กินข้าว มีเวลาเหลือดูหนัง จะมีหนังอยู่ไม่กี่เรื่องเท่านั้นเองที่คนไปดูจะตั้งใจไปดูจริงๆ เป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังเป็นการเสพความบันเทิงหลักอยู่ แต่ลำดับความสำคัญอาจจะเปลี่ยนไป”
       
       ขณะที่ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้ กำกับฯ ภาพยนตร์อิสระ มองว่า การที่คนไทยชอบดูหนังซูมนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะจากประสบการณ์ เขาไม่เคยเห็นหนังซูมในประเทศอื่น ยกเว้นประเทศจีน ซึ่งทั้งสองมุมมองที่แตกต่างกันนี้ต่างมองผ่านวัฒนธรรมและบริบทการเสพหนังใน บ้านเราที่เปลี่ยนไป
       เขาได้แสดงความเห็นต่อไปอีกว่า หนังต่างประเทศนั้นถึงแม้จะมีหนังซูมออกมาแต่สุดท้ายคนก็มักจะซื้อแผ่นจริง ไปเก็บ แต่สำหรับหนังไทยนั้นเมื่อดูแล้วก็มักจะผ่านเลยไป
       
       “ส่วนใหญ่หนังไทยจะเป็นหนังซูม คนดูไม่ต้องการดูแผ่นลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพราะดูซูมหรือไม่ซูมไม่ต่างกัน หนังซูมมันได้ความเร็วจริง แต่คุณภาพมันแย่มาก ซึ่งคนดูก็คงรู้สึกว่าไม่เป็นไรแค่จะดูเอาเรื่อง ขณะที่หนังอย่างอื่นต้องซื้อแผ่นเก็บ แผ่นลิขสิทธิ์บ้านเรานอกจากมีการเซ็นเซอร์แล้ว คุณภาพยังต่ำ ซื้อแผ่นสีลมแผ่นละ 50-100 บาท ยังมีอะไรที่ดีกว่าแผ่นลิขสิทธิ์บ้านเราอีก เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ผลิตก็ควรจะต้องคิดเปลี่ยนอะไรบางอย่างบ้าง”
       
       อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทั้งสองเห็นตรงกันคือ แม้ว่าหนังซูมจะเร็วจริง หนังเข้าโรง 2 วันก็มีแผ่นออกมาแล้ว แต่คุณภาพก็ย่ำแย่ แต่ที่สำคัญที่ทำให้คนไม่เข้าไปดูหนังในโรงหนังเหมือนเมื่อก่อนคือเรื่อง ‘ราคา’ ค่าตั๋วหนังที่แพงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล ผลักคนดูออกจากโรงหนัง กิตติศักดิ์เชื่อว่า ถึงคนกลุ่มหนึ่งไม่ซื้อหนังซูม ก็เลือกแผ่นดีวีดีราคาถูกที่ตอนนี้มีออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมากแทนการเข้าโรง หนัง ส่วนธัญสกก็พูดทำนองเดียวกันว่า
       
       “ผมคิดว่าการที่คนไม่เข้าโรงนี่แหละ สำคัญสุด ค่าตั๋วโรงหนังบางโรงก็ขึ้นราคาอย่างผิดหูผิดตา นึกจะขึ้นก็ขึ้น ซึ่งรายได้บ้านเรายังต่ำ”
       
       จุดนี้แม้จะไม่ใช่ปัจจัยเดียวของการมีอยู่ของหนังซูม แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่าไม่จริง
       
       ………
       
       แม้การครองตำแหน่งเจ้าแห่งการแอบถ่ายหนังในโรงเพื่อนำไปผลิตแผ่นผิด ลิขสิทธิ์ของบ้านเราก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย จะไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นความจริง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันก็เกิดมาจากวัฒนธรรมการเสพภาพยนตร์ของคนกลุ่มใหญ่ใน บ้านเรา ที่ไม่เน้นองค์ประกอบของหนังในด้านอื่น นอกจากการเสพเรื่องเล่า
       
       และตราบใดที่ยังมีคนซื้อ คนทำและคนขายก็จะไม่หายไปไหนแน่ๆ ไม่ว่าประเทศมหาอำนาจทางทรัพย์สินทางปัญญาจะกดดันบ้านเราด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม
       
       >>>>>>>>>>
       
       ……..
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ CLICK
Credit: ผุ้จัดการออนไลน์
#ข่าวต่างประเทศ
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
1 เม.ย. 54 เวลา 08:22 3,857 5 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...