ผู้หญิงที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนหรือไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่องเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมขึ้นร้อยละ 20 หลังหมดประจำเดือน
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการวิจัยโดย ดอกเตอร์ คาเรน มาร์โกลิส และคณะ จากมูลนิธิภาคีวิจัยสุขภาพ รัฐมินิโซตา เผยแพร่ในวารสารบริติส เมดิคัล เจอร์นัล ฉบับ วันที่ 5 มีนาคม ที่ติดตามหญิงอเมริกา 8 หมื่นคน ระหว่าง ค.ศ.1993 ถึง 1998 ผลพบหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 3,520 ราย
การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าหญิงที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนหรือไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมขึ้นร้อยละ 20 หลังหมดประจำเดือน ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับควันบุหรี่มือสองกับการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจกันมาก เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมามีรายงานการวิจัยจำนวนมากขึ้นที่แสดงถึงการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง และสถาบันพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศอย่างเป็นทางการว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุน้อยก่อนวัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้ข้อมูลการวิจัยพบว่าสารเคมีที่พบในควันบุหรี่มือสองกว่า 20 ชนิด ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมในหนูที่เป็นสัตว์ทดลอง และสามารถตรวจพบสารก่อมะเร็งในเนื้อเยื่อเต้านมของหญิงที่ได้รับควันบุหรี่ มือสองและในน้ำนมของหญิงที่ให้นมบุตรได้
ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า บทเรียนจากอดีตพบว่า นักวิทยาศาสตร์ประกาศว่ามะเร็งปอดเป็นมะเร็งชนิดแรกที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน แต่ต่อมาก็มีการทยอยประกาศมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นอีก 9 ชนิด อันได้แก่ มะเร็งช่องปากและลำคอ กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เม็ดเลือดขาว ไต กระเพาะปัสสาวะ และปากมดลูก ตามหลักฐานงานวิจัยที่มีมากขึ้น กรณีของความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งเต้านมกับการได้รับควันบุหรี่มือสองก็คงจะเช่นเดียวกัน ที่น่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในไม่ช้านี้
ซึ่งความสัมพันธ์นี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งหรือสองของหญิงทั่วโลก และเป็นมะเร็งหมายเลขหนึ่งของหญิงไทย โดยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใหม่ปีละหนึ่งหมื่นคนเศษ และผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลกได้รับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงานและโดยเฉพาะในบ้าน ดังเช่นการสำรวจในประเทศไทย ปี พ.ศ.2552 ที่พบว่าหญิงไทยหนึ่งล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน และ 8.8 ล้านคนได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน จึงขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนไม่สูบบุหรี่ในที่ทำงานและในบ้าน เพื่อลดจำนวนการเกิดมะเร็งเต้านมจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง