คุณ คิดว่าคุณเก่งภาษาอังกฤษหรือไม่?” ถ้าคำตอบคือคิดว่า “(ยัง)ไม่เก่ง” ขอถามต่อว่าแล้วทำไมหรือเพราะสาเหตุใดทำให้คุณไม่เก่งภาษาอังกฤษหล่ะครับ? จากการคลุกคลีอยู่กับคนไทยที่อยากเก่งภาษาอังกฤษมานับร้อย จึงอยากเล่าประสบการณ์ผ่านอัคนีฉบับนี้พร้อมกับวิเคราะห์ให้ท่านผู้อ่านเก็บ ไปคิดเป็นการบ้าน ต่อไปนี้คือตัวอย่างของเหตุผล (หรือข้ออ้างกันแน่?!?) ยอดฮิตที่คนไทยมักจะอ้างว่าทำให้เราไม่เก่งภาษาอังกฤษ
เหตุผลที่ 1 “รู้คำศัพท์น้อย”
นี่เป็นเหตุผลสุดฮิต เรียกได้ว่าติด TOP 5 มาโดยตลอด คุณเริ่มท่องศัพท์ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่อายุกี่ขวบหรือครับ? แล้วในชีวิตของคุณท่องศัพท์มาแล้วกี่ปีหรือกี่คำ? แล้วคุณคิดว่าคุณต้องรู้คำศัพท์สักกี่คำที่จะทำให้คุณสนทนากับฝรั่งได้? ในระบบการศึกษาของไทยสมัยก่อน ผมเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตอน ป.5 แล้วโดนจับท่องคำศัพท์มาโดยตลอด ผมคิดว่าจบมัธยมปลายนักเรียนไทยน่าจะรู้คำศัพท์เป็นพันคำ เด็กสมัยนี้จะโชคดีกว่าสมัยผมตรงที่ส่วนใหญ่จะเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก บางคนเรียนตั้งแต่อนุบาลยังมีเลย เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่น่าจะรู้คำศัพท์มากกว่าคนรุ่นก่อนด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามผมอยากให้คุณเปรียบเทียบตัวคุณซึ่งรู้คำศัพท์เป็นพันคำกับเด็ก ฝรั่งอายุสักประมาณ 6 – 7 ขวบ คุณคิดว่าใครจะรู้คำศัพท์มากกว่ากัน? อย่าบอกนะครับว่าเด็กที่เพิ่งพูดได้ไม่กี่ปีจะรู้คำศัพท์มากกว่าคุณ นี่คือตัวอย่างว่าเด็กฝรั่งซึ่งรู้คำศัพท์เพียงไม่กี่ร้อยคำก็พูดภาษาอังกฤษ ได้แล้ว ดังนั้นการรู้คำศัพท์น้อยอาจจะไม่ใช่อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คุณพูด ภาษาอังกฤษไม่ได้หรอก ลองคิดอีกแง่หนึ่งสำหรับคนไทย ทำไมคนไทยจึงพูดภาษาไทยได้คล่องทั้งที่ตอนเด็กๆ เราไม่เห็นต้องท่องคำศัพท์ภาษาไทยวันละ 5 คำเป็นนกแก้วนกขุนทองเหมือนการฝึกภาษาอังกฤษเลย แล้วทำไมเราท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษกันตั้งมากมายกลับยังพูดสนทนากับฝรั่งไม่ รู้เรื่องสักทีหล่ะครับ? เรื่องนี้ต้องอธิบายยาวเนื้อที่แค่นี้ไม่พอแน่ครับ เอาไว้จะแนะนำในฉบับต่อๆ ไปถึงวิธีการท่องคำศัพท์ที่จะทำให้คุณนำไปใช้งานได้จริงๆ
เหตุผลที่ 2 “ไม่ค่อยได้ใช้”
เหตุผลหรือข้ออ้างข้อนี้ก็พอฟังขึ้นอยู่นะครับ อะไรก็ตามที่คุณเรียนรู้แล้วไม่ได้นำไปใช้ก็จะลืมไปในที่สุด แต่ในเมื่อคุณรู้ว่าคุณไม่ค่อยมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน แล้วทำไมไม่แสวงหาภาษาอังกฤษให้เข้ามาในชีวิตคุณล่ะครับ? จะได้เก่งซักที สมัยนี้ยังโชคดีตรงที่คุณสามารถหาความรู้ทางภาษาอังกฤษได้ง่ายดายกว่าสมัย ก่อนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเตอร์เน็ต, การ chat กับเพื่อนต่างชาติ, การเขียนจดหมายอิเล็คโทรนิค ฯลฯ ขนาดรายการโทรทัศน์ของไทยเองยังมีภาษาอังกฤษให้ดูมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวภาคภาษาอังกฤษที่มีให้เห็นแทบทุกวัน หนังสือพิมพ์ นิตยสารนอก ก็มีให้อ่านมากขึ้น ภาพยนตร์ต่างประเทศก็ได้รับความนิยมมานมนาน คุณเห็นหรือยังครับว่าช่องทางในการเสาะหาภาษาอังกฤษนั้นง่ายดายมาก ดังนั้นคนสมัยนี้น่าจะเก่งภาษาอังกฤษกว่าคนรุ่นก่อนด้วยซ้ำ ขอเพียงคุณเปิดใจรับภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รับรองคุณจะเก่งขึ้นอย่างแน่นอนและจะได้เลิกอ้างว่า “ฉันไม่เก่งภาษาอังกฤษเพราะไม่ค่อยได้ใช้” ซักที นอกจากนั้น อีกสาเหตุที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษคือ ไม่กล้าพูดออกไป กลัวผิดและกลัวโดนจับผิด (โดยเฉพาะคนไทยด้วยกันเอง) เดี๋ยวขายหน้า ขอร้องเถอะครับ ถ้าอยากเก่งภาษาอังกฤษคุณต้องใจกล้าหน้า...พอสมควร ผมเองเคยหน้าแตกต่อหน้าฝรั่งมานับครั้งไม่ถ้วนจนแกร่งแล้วครับ ไม่เห็นมีใครมาทำโทษเวลาผมพูดผิดเลย แถมการหน้าแตกนี่หล่ะจะทำให้เราจดจำไปนานแสนนานเลย และทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องไม่ผิดแบบเดิมอีก คุ้มจะตายไป ฉะนั้นกล้าๆ พูดไปเถอะครับ และโดยธรรมชาติ ถ้าฝรั่งฟังเราพูดผิดเค้าก็มักจะแก้ให้เรา เราก็จำสิ่งที่ถูกต้องไปใช้ ได้เรียนรู้อีกด้วย ถ้าไม่พูดออกไปก็ไม่รู้หรอกว่าที่คิดเอาไว้น่ะจะผิดหรือถูกกันแน่
เหตุผลที่ 3 “ไม่เคยไปต่างประเทศ”
อันนี้ขึ้นกับแต่ละบุคคลครับ ผมเคยเห็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่กลับพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีเท่ากับคนไทยที่ไม่เคยไปต่างประเทศก็มี [การไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศไม่มีอะไรรับประกันว่าจะทำให้สำเนียงคุณเป็น ฝรั่งได้หรอก แต่ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ได้มากกว่าคนที่อยู่ในประเทศไทย เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเค้าเป็นภาษาอังกฤษหมด มันจึงบังคับให้เค้าต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอด ผมยังไม่เคยได้ยินข่าวคนไทยในต่างแดนอดตายเพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่คนที่อยู่ในประเทศไทยก็ไม่ต้องน้อยใจ อย่างที่บอกว่าสมัยนี้คุณหาภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันง่ายจะตายไป ดังนั้นก็พยายามดูหนังฝรั่งแทนการดูละครไทย, ฟังเพลงฝรั่งแทนเพลงไทย, อ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารภาษาอังกฤษ, คุยกับฝรั่งบ่อยๆ(ถ้ามีโอกาส) แค่นี้คุณก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่อยู่เมืองนอกแล้วหล่ะ
เหตุผลที่ 4 “ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่”
จริงอยู่ที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาของพ่อแม่เรา แต่คนไทยแท้ๆ ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนฝรั่งก็มีหรือฝรั่งที่พูดภาษาไทยได้ชัดเป๊ะ อย่างคุณแอนดรู บิ๊กส์ ก็ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นคนไทยซักหน่อย ยังพูดภาษาไทยได้ชัดเจนกว่านางงามบางคนที่พ่อแม่เป็นคนไทยแต่ใช้ชีวิตใน เมืองนอกด้วยซ้ำไป ดังนั้นมั่นใจได้ครับว่าทักษะทางภาษาไม่ได้ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรม นอกจากนั้นการพูดภาษาต่างๆ ได้ยังไม่ขึ้นกับความฉลาดของแต่ละคนเท่าไรนัก เพราะดูสิครับ คนไทยแต่ละคนมีความฉลาดแตกต่างกันไป แต่ก็พูดภาษาไทยได้กันทุกคน คุณอาจจะอ้างว่า บางคนพูดได้หลายภาษาเพราะเค้ามีพรสวรรค์จึงทำให้เค้าพูดได้ไง ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องพรสวรรค์เท่ากับพรแสวง คุณลองไปถามคนเหล่านั้นที่สามารถพูดภาษาต่างชาติได้เหมือนเจ้าของภาษา คุณจะได้รับคำตอบว่า เค้าฝึกฝนอย่างหนักกว่าจะได้อย่างที่คุณเห็น ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ ก็เป็นได้เองแน่นอนครับ อันนี้เอาหัวเป็นประกันได้ อีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าถามว่าทำไมภาษาอังกฤษของคนไทยจึงสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ? ก็มักจะได้รับคำตอบว่าเพราะประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร (กล่าวอย่างภาคภูมิใจ) แต่อย่าลืมนะครับว่า คนสมัยที่ยังเป็นเมืองขึ้นนั้น ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็คงแก่มากแล้ว ดังนั้นสาเหตุที่ว่าเป็นเมืองขึ้นแล้วเก่งภาษาอังกฤษมาจนถึงปัจจุบันจึงฟัง ไม่ค่อยขึ้นเท่าไรนัก เพราะคนรุ่นปัจจุบันพ้นยุคนั้นมานานมากแล้วครับ อีกเรื่องที่น่าตกใจ คือจากผลการวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษของคนไทยโดยเฉลี่ยจากคะแนนสอบ TOEIC, TOEFL ของปี 2547-2548 ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านแม้กระทั่งลาว กัมพูชา เวียดนามและพม่าอีกนะ ไม่ต้องถึงกับไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย, สิงคโปร์หรือ ฟิลิปปินส์หรอก ซึ่งประเทศเหล่านี้นำเราไปหลายช่วงตัวครับ จึงอยากสนับสนุนให้เด็กๆ รุ่นใหม่ใส่ใจในภาษาอังกฤษกันมากๆ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยในอนาคต (แหม !...พูดเหมือนหาเสียงมั๊ยครับ?)
เหตุผลที่ 5 “จำหลักไวยากรณ์ (grammar) ไม่ค่อยได้”
ถ้ามีคนมาบอกผมว่า คนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ผมขอเถียงหัวชนฝาเลย (จะเจ็บมั๊ยเนี่ย?) เพราะเราถูกจับเรียนไวยากรณ์มาตั้งแต่เริ่มรู้จักภาษาอังกฤษกันเลย มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ข้อดีคือหลักไวยากรณ์ดี ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มันย่อมดีกว่าใช้แบบผิดๆ อยู่แล้ว แต่ข้อเสียของการเรียนรู้ไวยากรณ์ก่อนที่จะพูดภาษาอังกฤษได้คล่องทำให้คุณ ต้องนึกถึงหลักไวยากรณ์ทุกครั้งก่อนจะพูดแต่ละประโยคออกไป ซึ่งใช้เวลานาน ลองเปรียบเทียบกับภาษาไทยดูสิครับ เด็กไทยทุกคนพูดไทยได้คล่อง แล้วจึงเข้าโรงเรียนเพื่อไปเรียนหลักภาษาไทย จึงทำให้เราพูดภาษาไทยได้โดยไม่ต้องวิตกจริตคิดมากก่อนพูดภาษาไทยออกไป ต่อให้ตอนนี้คุณพูดภาษาไทยได้คล่อง ถ้าผมถามถึงหลักภาษาไทย เช่น สระในภาษาไทยมีกี่รูป? กี่เสียง? อะไรบ้าง? อักษรต่ำในภาษาไทยมีอะไรบ้าง? และอักษรต่ำแตกต่างจากอักษรสูงอย่างไร? เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ถึงแม้คนไทยส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ ก็ยังพูดไทยได้ชัดอยู่ดี ดังนั้นนี่คือข้อพิสูจน์ที่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องรู้หลักไวยากรณ์มากมาย คุณก็ยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เช่นกัน
นี่คือตัวอย่างของข้ออ้างเพียงแค่ 5 ข้อในจำนวนข้ออ้างอีกร้อยแปดพันประการที่คนไทยมักจะอ้างว่าทำให้ตนเองไม่ เก่งภาษาอังกฤษ คุณลองเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เลิกหาข้ออ้างให้กับตัวเอง แล้วเปลี่ยนมาเป็นข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไข พร้อมกับหันมาฝึกฝนจนสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้ ก็จะประสบกับความสำเร็จในที่สุดครับ
credit: kroorada.com