หลังประชาชนในประเทศลิเบีย ได้ลุกขึ้นมาขับไล่ พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ให้ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลของกัดดาฟี มีการคอรัปชั่นและทุจริต จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างประชาชนที่ต้องการขับไล่ผู้นำลิเบีย กับประชาชนและกองกำลังที่สนับสนุน พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี และเมื่อ วันที่ 19 มีนาคม กลุ่มชาติพันธมิตร พร้อมด้วยกองทัพสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจยิง "จรวดโทมาฮอว์ค" นับร้อยลูกเข้าใส่ลิเบีย ตามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ให้ไฟเขียวแก่ชาติพันธมิตรในการเปิดฉากโจมตีศูนย์บัญชาการกัดดาฟี เพื่อยุติความขัดแย้งภายในประเทศลิเบีย
โดย ชาติพันธมิตรที่เข้าร่วมประกอบด้วย กองทัพสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา อิตาลี และพันธมิตรชาติอาหรับ ซึ่งต่างขนอาวุธยุทโธปกรณ์มาเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเฉพาะ "จรวดโทมาฮอร์ค" ที่กองทัพสหรัฐฯ ได้นำมาใช้นับร้อยลูก เพื่อเป็นตัวเบิกทางให้กับกองกำลังชาติพันธมิตรในการเข้าโจมตีเป้าหมายที่ประเทศลิเบีย ทั้ง ๆ ที่ จรวดโทมาฮอร์ค ลูกหนึ่งมีราคาสูงถึง 6 แสน - 1 ล้าน 2 แสนดอลลาร์ หรือราว 18 ล้าน - 36 ล้านบาทต่อลูก ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ใคร ๆ ต่างกันสงสัยว่า เจ้าจรวดโทมาฮอร์ค มีดีที่ตรงไหน กองทัพสหรัฐฯ ถึงได้เลือกมาใช้ในการปฏิบัติการครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่ระเบิดลูกหนึ่งมีราคาแพงมหาศาล
ความเป็นมาของ จรวดโทมาฮอร์ค
จรวดโทมาฮอร์ค เป็นอาวุธจรวดชนิดแรกที่มีวิถีนำทางเข้าหาเป้าหมายได้แม่นยำ โดยถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสงครามเย็น ในทศวรรษที่ 1970 โดยฝีมือของนักวิจัยและพัฒนาของบริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ ซึ่งหลังจากสงครามเย็น จรวดโทมาฮอร์ค ก็ถูกนำเข้าประจำการในทางกองทัพสหรัฐฯ เมื่อปี 1983 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ จรวดโทมาฮอร์ค ได้ถูกนำมาใช้ปฏิบัติการทางสงคราม อาทิ
-สงครามอ่าว หรือ สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย เมื่อปี 1990
-สงครามบอสเนีย เมื่อปี 1992
-สงครามอัฟกานิสถาน เมื่อปี 2001
-สงครามอิรัก หรือ สงครามอ่าวครั้งที่ 2 เมื่อปี 2003
ลักษณะของ จรวดโทมาฮอร์ค
- ความยาว 6.25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.52 เมตร
- น้ำหนักโดยรวมประมาณของจรวดโทมาฮอร์ค 1,450 กิโลกรัม
- น้ำหนักเครื่องยนต์ 65 กิโลกรัม
- ความเร็วประมาณ 880 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
คุณสมบัติของ จรวดโทมาฮอร์ค
- ใช้ระบบดาวเทียม ในการควบคุมทิศทางและชี้ตำแหน่งเป้าหมาย
- มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง
- มีความปลอดภัยในการปฏิบัติการโจมตี
- มีความแม่นยำสูง
- สามารถโจมตีเป้าหมายในระยะไกล ที่มีการคุ้มกันแน่นหนา
- สามารถโจมตีเป้าหมาย ที่มีการเคลื่อนไหว
- สามารถยิงจรวดโทมาฮอร์ค ได้ทั้งจากเรือดำน้ำ และเครื่องบิน
- สามารถติดหัวรบได้หลายแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติการในแต่ละครั้ง อาทิ ติดหัวรบเดียว ใช้สำหรับการระเบิดครั้งใหญ่ หรือติดหัวรบนานาชนิด เพื่อทิ้งลูกระเบิด ในการโจมตีพื้นที่กว้าง
- มีการขับเคลื่อนที่เหมือนกับเครื่องบินเจ็ต จึงไม่ทิ้งควันขาวขณะบินเข้าหาเป้าหมาย
หลักการทำงานหลังจากยิง จรวดโทมาฮอร์ค จากฐาน
- จรวดถูกนำทางไปยังเป้าหมายด้วยระบบดาวเทียม
- ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (turbo fan)
- หลังจากถูกยิงออกจากฐาน เมื่อเชื้อเพลิงหมด ตัวบูสเตอร์จะถูกสลัดออกมา เพื่อให้จรวดเบา
- เมื่อถึงเป้าหมายแล้ว ตัวถังของจรวดจะถูกทำลายไปพร้อมกับระเบิด ที่บรรทุกมา
ด้วยคุณสมบัติของจรวดโทมาฮอร์คที่สามารถโจมตีเป้าหมายในระยะไกลได้อย่างแม่น ยำ แม้แต่เป้าที่มีการเคลื่อนไหว ทั้งยังมีอำนาจในการทำลายล้างสูง ประกอบกับไม่มีใครสามารถตรวจจับสัญญาณได้ง่าย ๆ ทำให้จรวดโทมาฮอร์ค กลายเป็นอาวุธในลำดับต้น ๆ ที่กองทัพสหรัฐฯ เลือกมาใช้ในการปฏิบัติการโจมตีประเทศลิเบีย แม้ว่า จรวดโทมาฮอร์ค ลูกหนึ่งจะมีราคาสูงถึง 18 ล้าน - 36 ล้านบาทต่อลูกก็ตาม