สะอึก...อันตรายกว่าที่คิด

 

สะอึก : อาการธรรมดา…ที่ไม่ธรรมดา?

เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าอาการสะอึกแบบธรรมดา และไม่ธรรมดา ต่างกันอย่างไร? 

         การสะอึก (Hiccup) นั้นเกิดจากการที่กะบังลมทำงานไม่เป็นปกติ โดยปกตินั้นกะบังลมซึ่งเป็นอวัยวะที่กั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก จะทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการหายใจ การสะอึกนั้นอาจเกิดจากมีอะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ 

         สาเหตุ เหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก 

         อย่างไรก็ตาม สาเหตุก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการระคายเคืองที่กระเพาะอาหารเสมอไป บางครั้งก็อาจก่อตัวที่ “ศูนย์การสะอึก” ที่อยู่ในสมองที่บังคับควบคุมให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติของกะบังลม จนเกิดเป็นอาการสะอึก นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในบริเวณคอและหน้าอก เช่น ก้อนเนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น หรือเกิดจากโรคในช่องท้อง เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไตวาย หรือภายหลังการผ่าตัดช่องท้อง หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุทางด้านอารมณ์ เช่น ความรู้สึกช็อก ความเครียดเรื้อรัง เป็นต้น 

        • สะอึกธรรมดา 

         อาการสะอึกธรรมดาอาจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึง 2-3 นาที ซึ่งพบได้บ่อยๆ คนส่วนใหญ่มักจะสะอึกหลังจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก 

         บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากเกินไป บางคนที่มีความตึงเครียดมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้ 

        • สะอึกไม่ธรรมดา 

         แต่หากการสะอึกเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ อันนี้คือการสะอึกแบบไม่ธรรมดาแล้วนะคะ อาจจะต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น 

         และหากอาการสะอึกไม่หยุดนานกว่า 1 วัน มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกวิงเวียนร่วมด้วย หรือสะอึกทุกครั้งหลังจากรับประทานยาที่แพทย์จัดให้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนแล้วนะคะ


แก้สะอึก กันดีกว่า!      

         การสะอึกอาจเกิดจากกินอาหารมื้อใหญ่มากเกินไป หรือการที่ต้องไปอยู่ในอากาศเปลี่ยนแปลงทันที เช่น กระทบเย็น กระทบหมอก แบบฉับพลันเช่นการไปต่างประเทศที่สภาพอากาศต่างกันมากๆ รวมไปถึงทั้งจากการตื่นเต้น หรือเครียดมากๆ เมื่อรู้แล้วก็ลด ละ เลิก พฤติกรรมเหล่านี้ซะ แต่หากยังไม่หาย เรามีวิธีรักษาบรรเทามาฝากกันค่ะ 

      สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก 
      หายใจในถุงกระดาษ (ที่ครอบปากและจมูกไว้) เพื่อนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปกดที่ “ศูนย์การสะอึก” ในสมอง 
      กลืนน้ำแข็งบดละเอียด  
      เคี้ยวขนมปังแห้ง - บีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วจิบแก้สะอึก 
      ก้มตัวดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก 
      จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน 
      ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที 
      อุดหูไปด้วย แล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย 
      แหงนหน้า กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำหนึ่งแก้ว 
      ใช้นิ้วคีบลิ้นแล้วดึงออกมาเบาๆ หรือแลบลิ้นออกมายาวๆ 
      กดจุด โดยออกแรงบีบเนินใต้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่ง หรือกดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก 
      ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ 
      ตำราโบราณที่บอกว่าทำให้ตกใจแล้วจะแก้สะอึกได้ ฟังดูเหมือนเรื่องตลกกะโหลกกะลา แต่เชื่อไหมคะว่าอาจทำให้อาการสะอึกหายได้จริง! 

         หลายอย่างหลายแนวเหลือเกินกับการรักษา บรรเทา อาการสะอึกที่น่ารำคาญนี้ การสะอึกอาจจะเป็นอาการธรรมดาๆ แต่ถ้าเราปล่อยไว้ไม่ใส่ใจ อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายที่ส่งผ่านร่างกายออกมาก็เป็นได้ โรคร้ายอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด กันไว้ดีกว่าแก้นะคะ

Credit: http://variety.teenee.com
#สะอึก #อันตราย
Hoyjoke
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
22 มี.ค. 54 เวลา 01:44 1,268 6 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...