ญี่ปุ่น ยอมรับ โกหกผลตรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
บริษัทเทปโก ยอมรับแล้ว แจ้งผลเท็จกรณีผลตรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เผยแผงจ่ายไฟฟ้าวาล์วควบคุมอุณหภูมิ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพนาน 11 ปี
(21 มี.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ คัมปานี (เทปโก) ยอมรับแจ้งรายงานเท็จ เกี่ยวกับผลการตรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ หมายเลข 1 ต่อหน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมา โดยรับว่าไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้น ซึ่งมีอายุการใช้งานนาน ส่วนแผงจ่ายไฟฟ้าวาล์วควบคุมอุณหภูมิ ไม่ได้รับการตรวจเช็คสภาพนาน 11 ปี
ในรายงานยังระบุอีกว่า การสรุปผลต่อมาในวันที่ 2 มี.ค. อุปกรณ์โรงไฟฟ้า ไม่ได้รับการตรวจเช็คสภาพและซ่อมบำรุงที่เหมาะสม จึงมีคำสั่งให้ปรับปรุงอีกครั้งแต่เกิดภัยธรรมชาติเสียก่อน จนส่งผลให้เครื่องปั่นไฟระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน อย่างไรก็ตามเมื่อ 9 ปีก่อน เทปโก เคยแจ้งรายงานเท็จเรื่องความปลอดภัย และปิดเงียบการรั่วไหลของกัมมันตรังสีหลังแผ่นดินไหวเมื่อ 3 ปีก่อน เนื่องจากกลัวบริษัทเดือดร้อน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เผยข้อมูลว่า ตรวจพบกัมมันตรังสีระดับสูงกว่าปกติในพืชผักอีก 2 ชนิด คือ ต้นคาโนลา และ เบญจมาศเขียว หลังพบในผักโขมและถั่วก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาหารบางอย่างที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีได้ถูกจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดแล้ว ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งยุติการส่งนมออกจากจังหวัดฟุกุชิมาแล้ว หลังตรวจพบนมปนเปื้อนกัมมันตรังสีในฟาร์ม 4 แห่งจากทั้งหมด 37