วงแหวนแห่งไฟ หรือ Pacific Ring of Fire หรือ the Ring of Fire
"วงแหวนแห่งไฟ" หรือ Pacific Ring of Fire หรือ the Ring of Fire เป็น บริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดยมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนแห่งไฟทั้งหมด 452 ลูก และเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกกรุ่นอยู่กว่า 75% ของภูเขาไฟคุกกรุ่นทั้งโลก ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่า circum-Pacific belt หรือ circum-Pacific seismic belt
ส่วนกรณีแผ่นดินไหว ประมาณ 90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกและกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ นอกจากนี้ยังมีแนวแผ่นดินไหวอีก 2 แห่ง ได้แก่ แนวเทือกเขาอัลไพน์ ซึ่งมีแนวต่อมาจากเกาะชวาสู่เกาะสุมาตรา ผ่านเทือกเขาหิมาลัย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แนวแผ่นดินไหวแห่งนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 17% ของทั้งโลก และอีกแห่งคือแนวกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 5-6% ของทั้งโลก
วงแหวนแห่งไฟเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก แบ่งเป็นส่วนวงแหวนทางตะวันออก มีผลมาจากแผ่นนาซคาและแผ่นโคคอสที่มุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้ ส่วนของแผ่นแปซิฟิกที่ติดกับแผ่นฮวนดีฟูกา มุดตัวลงแผ่นอเมริกาเหนือ ส่วนตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของญี่ปุ่น และส่วนใต้ของวงแหวนแห่งไฟเป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมายที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลเล ประเทศตองกา และนิวซีแลนด์
แนววงแหวนแห่งไฟยังมีแนวต่อไปเป็นแนวอัลไพน์ ซึ่งเริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย รอยเลื่อนที่มีชื่อเสียงที่ตั้งบนวงแหวนแห่งไฟนี้ ได้แก่ รอยเลื่อนซานอันเดรียส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่เป็นประจำ รอยเลื่อนควีนชาร์ลอตต์ ทางชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะควีนชาร์ลอตต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 3 ครั้ง โดยเฉพาะขนาด 8.1 ริกเตอร์ ค.ศ.1949 เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในแคนาดา