เมื่อได้ยินคำว่า “เกอิชา” คนส่วนใหญ่มักจะเห็นภาพหญิงโสเภณี ที่ขายเรือนร่างของตน ให้ชายเชยชม แต่แท้จริงแล้วพวกเธอมี “ระดับ” และศักดิ์ศรีสูงกว่าโสเภณีมากมาย
กว่าจะเป็นเกอิชาได้นั้น เธอจะต้องเรียนรู้ศิลปะแห่งการปรนนิบัติทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาทอันอ่อนน้อมในการต้อนรับแขก วิธีการชงน้ำชา การร้องรำ และเล่นดนตรี ซึ่งศิลปกรรมเหล่านี้จะต้องฝึกฝนมาแต่เด็ก และมักเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนในตระกูล นอกจากนี้ “เกอิชา” ยังเป็นคำที่โลกภายนอกเรียกขาน แต่ในญี่ปุ่นพวกเธอส่วนใหญ่จะถูกเรียกว่า “มาอิโกะ” หรือนักร่ายรำ และ “เกอิโกะ” ผู้มีศิลปะ
วัฒนธรรมเกอิชามีมา แต่ครั้งศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะภายในเมืองเกียวโต ที่เคยเป็นนครหลวงเดิมมานานกว่าพันปี (จนถึง ค.ศ. 1868 สมัยราชวงศ์เมยจิ ที่ตั้งโตเกียวเป็นเมืองหลวง) ภายในเกียวโต ซึ่งมี ศาสนสถานโบราณหลายแห่ง ทั้งวิหารชินโต และวัดพระพุทธศาสนานั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังมีย่านที่เรียกกันว่า ฮานามาชิ อันเป็นอาณาเขตที่ใช้สำหรับ การเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ และในย่านนี่เองเป็นที่ตั้งของ โอชายะ หรือสถานน้ำชาที่มี มาอิโกะและเกอิโกะ คอยให้บริการปรนนิบัติในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งธุรกิจโรงน้ำชารุ่งเรืองสุดขีดนั้น กิออน ซึ่งเป็นย่านฮานามาชิใหญ่ที่สุดในเกียวโต มีโรงน้ำชาถึง 700 แห่ง และมีเกอิชามากกว่า 3,000 นาง ประจำทำงานอยู่
หากถามว่าทำไมสาวญี่ปุ่น จึงมาประกอบอาชีพเป็นเกอิชา
คำ ตอบมีอยู่หลายประการ แรกสุดนั้นก็คือความจนนั่นเอง เกอิชาหลายคนมาจากชนบท ด้วยความใฝ่ฝันว่า จะมีชีวิตในเมืองที่ดีกว่า ไม่ต้องทำงานหนักในไร่นา เธอจะได้ฝึกฝนร่ำเรียน ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่สำคัญคือเธอจะได้มีโอกาส พบกับบุรุษที่ร่ำรวย ที่เข้ามาใช้บริการในสถานน้ำชา และถ้าฝันของเธอเป็นจริง เธอก็จะได้แต่งงานและมีหลัก มีฐานต่อไป
หากทว่า ในปัจจุบันนี้ ความยากจนได้หมดไป จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ผู้หญิงมีโอกาสหางานดีๆ ได้มากมาย ความสนใจที่จะมาเป็นเกอิชาคอย ปรนนิบัติบุรุษเพศก็หมดสิ้นไป ทุกวันนี้มีมาอิโกะ หรือสาวนาฏศิลป์อยู่ในเกียวโตเพียง 55 คน และทุกย่านฮานามาชิก็กำลังขาดแคลน เกอิชามาปฏิบัติงาน จะมีก็เพียงสาวเกอิชาที่สืบทอด วิชาปรนนิบัติตามอาชีพดั้งเดิม ของตระกูลเท่านั้น