ต่อเล็บปลอม…อันตราย

กระทรวงสาธารณสุขเตือน สุภาพสตรีที่นิยมการต่อเล็บปลอมอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยตรวจพบว่า มีการใช้สารเคมีกลุ่มอะครัยลิก โมโนเมอร์ (acrylic monomers) และฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งสารทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นสารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อการแพ้สารเคมี

การต่อเล็บด้วยเล็บปลอม ทั้งที่ทำจากพลาสติก และที่ทำจากสารเคมี กำลังเป็นที่นิยมในหมู่สุภาพสตรี ซึ่งเล็บปลอมที่ทำจากพลาสติก มีทั้งประเภทสำเร็จรูป คือ

มีลวดลายต่างๆ กัน ราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้จากร้านค้า ห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยนำมาติดที่เล็บจริงด้วยกาว และอีกประเภทหนึ่งคือ เล็บปลอมที่ต้องทำที่ร้านทำเล็บโดยช่างเฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรม ทำให้มีราคาแพงกว่าเล็บปลอมชนิดสำเร็จรูป และมีรายละเอียดมากในการต่อเล็บ ตั้งแต่การผสมสารเคมีให้เหมาะสม การขึ้นรูปให้เป็นรูปเล็บ การทำให้เล็บที่ต่อแข็งตัวและปรับแต่งให้เหมาะสมกับเล็บจริง จนกระทั่งเขียนลวดลายให้สวยงาม

การต่อเล็บปลอมอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้บริโภคได้ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีในกระบวนการต่อเล็บ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการขึ้นรูปเล็บ เป็นสารเคมีในกลุ่มอะครัยลิก โมโนเมอร์ (acrylic monomers) และส่วนที่ทำให้เล็บที่ต่อแข็งตัว อาจมีสารเคมีฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ซึ่งสารทั้งสองกลุ่มนี้เป็นสารระเหยง่าย อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมี

สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่อเล็บจากร้านขายส่งในเขตกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดสำเพ็งและตลาดประตูน้ำ และสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งสิ้น 35 ตัวอย่าง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเล็บส่วนที่ทำให้เล็บแข็งตัว จำนวน 14 ตัวอย่าง

ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ พบว่า มีปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์อยู่ในช่วงร้อยละไม่เกิน 0.12 โดยน้ำหนัก ส่วนผลิตภัณฑ์ต่อเล็บส่วนที่สร้างเล็บปลอม จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์พบสารกลุ่มอะครัยลิก โมโนเมอร์ ชนิด เอทธิลีน ไดเมทธาครีเลท (ethylene dimethacrylate) จำนวน 3 ตัวอย่าง ปริมาณไม่เกินร้อยละ 0.08 โดยน้ำหนัก  

ประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์ทาเล็บ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดชื่อและปริมาณของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางที่ออกความตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 โดยปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บเท่ากับร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก แต่ยังไม่มีการควบคุมและกำกับดูแล
 
ผลิตภัณฑ์ส่วนที่ทำให้เล็บแข็งตัวและผลิตภัณฑ์ต่อเล็บส่วนที่สร้างเล็บปลอม เช่น สารในกลุ่ม อะครัยลิก โมโนเมอร์ เป็นสารที่มีความเป็นพิษปานกลาง อยู่ในรูปแบบที่เป็นผง แต่เมื่อเตรียม เป็นของเหลวมีการระเหยเป็นไอของสารดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตาและระบบทางเดินหายใจ เป็นพิษเมื่อสูดดมได้

ข้อควรระมัดระวังอย่างมากในการต่อเล็บปลอม ไม่ว่าจะทำเองหรือโดยช่างเฉพาะ คือการเกิดหมักหมมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเล็บปลอมที่หลุดลอกออกแล้วไปติดทับใหม่โดยไม่ทำความสะอาดให้ดี อาจเป็นผลให้เกิดเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตระหว่างชั้นเล็บ ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ หรือแพร่เข้าสู่ร่างกาย

ขอแนะนำว่า ทั้งผู้ให้บริการ และผู้บริโภค ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมี อีกทั้งผู้ให้บริการ ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์เป็นประจำ ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่ง

ข่าวโดย : คมชัดลึก

11 มี.ค. 54 เวลา 08:38 6,629 4 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...