ประวัติ...หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ประวัติหลวงตามหาบัว

กำเนิด : ในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกิน ณ บ้านตาด อุดรธานี

วันเกิด :12 สิงหาคม พ.ศ. 2456

นาม : บัว โลหิตดี

พี่น้องทั้งหมด : 16 คน

สมัยเด็ก : เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้ร่วมทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ

วัยหนุ่ม : เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ขยันขันแข็ง ทำงานอะไรทำจริงๆ จังๆ เป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ในการงานทั้งปวง

คู่ครอง : เดิมไม่เคยคิดจะบวช เพราะอยากมีครอบครัว แต่มักมีอุปสรรคให้แคล้วคลาดทุกทีไป

เหตุที่บวช : เมื่ออายุครบ 20 ปี พ่อแม่ขอร้องให้บวชตามประเพณีอยู่หลายครั้ง ท่านก็ทำเฉย ๆ ตลอดมา ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด ในครั้งสุดท้ายนี้ ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า หวังพึ่งใบบุญจากการบวชของลูกให้ได้ ถึงกับทำให้พ่อแม่น้ำตาร่วง ครั้งนี้ท่านรู้สึกสะเทือนใจและเห็นใจพ่อแม่มาก จึงตัดสินใจ และยอมบวชตามประเพณี เพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยตั้งใจไว้ในตอนต้นนี้ว่า จะบวชเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น

วันบวช : 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดโยธานิมิตร อุดรธานี

พระอุปัชฌาย์ : ชื่อ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์(จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์

เคารพพระวินัย : ด้วยเดิมมีนิสัยจริงจัง จึงบวชเพื่อเอาบุญกุศลจริง ๆ และตั้งใจรักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่อย่างเคร่งครัด ในพรรษาแรกท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า ในการทำวัตรเช้า-เย็นรวมและการบิณฑบาต จะไม่ให้มีวันใดขาดเลย และท่านก็ทำได้ตามที่ตั้งคำสัตย์ไว้

เรียนปริยัติ : เมื่อได้เรียนหนังสือทางธรรม ตั้งแต่นวโกวาท พุทธประวัติ ประวัติพระสาวกอรหันต์ ที่ท่านมาจากสกุลต่าง ๆ ตั้งแต่พระราชา เศรษฐี พ่อค้า จนถึงประชาชน หลังจากฟังพระพุทธโอวาทแล้ว ต่างก็เข้าบำเพ็ญเพียรในป่าเขาอย่างจริงจัง เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในป่า เดี๋ยวองค์นี้สำเร็จในเขา ในเงื้อมผา ในที่สงบสงัด ท่านก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสขึ้นมา อยากจะเป็นพระอรหันต์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงในชาตินี้อย่างพระสาวกท่านบ้าง

สงสัย : ช่วงเรียนปริยัติอยู่นี้ มีความลังเลสงสัยในใจว่า หากท่านดำเนินและปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น จะบรรลุถึงจุดที่พระสาวกท่านบรรลุหรือไม่ และบัดนี้จะยังมีมรรคผลนิพพานอยู่ เหมือนในครั้งพุทธกาลหรือไม่

ตั้งสัจจะ : ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นพระอรหันต์บ้าง ท่านจึงตั้งสัจจะไว้ว่า จะขอเรียนบาลีให้จบแค่เปรียญ 3 ประโยคเท่านั้น ส่วนนักธรรมแม้จะไม่จบชั้นก็ไม่เป็นไร จากนั้นจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว จะไม่ยอมศึกษาและสอบประโยคต่อไปเป็นอันขาด

เรียนจบ : ท่านสอบได้ทั้งนักธรรมเอก และเปรียญ 3 ประโยคในปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานที่แห่งนี้เอง เป็นที่แรกที่ท่านได้มีโอกาสพบเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งต่อมา ได้กลายเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน

ออกปฏิบัติ : เมื่อเรียนจบมหาเปรียญแล้ว แม้จะมีพระมหาเถระในกรุงเทพฯ สนับสนุนให้ท่านเรียนต่อในชั้นสูง ๆ ขึ้นไปก็ตาม แต่ด้วยท่านเป็นคนรักคำสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ท่านจึงเข้ากราบลาพระผู้ใหญ่ และออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง โดยมุ่งหน้าไปทางป่าเขาแถบจังหวัดนครราชสีมา แล้วเข้าจำพรรษาที่อำเภอจักราช นับเป็นพรรษาที่ 8 ของการบวช

พากเพียร : ท่านเร่งความเพียรตลอดทั้งพรรษา ไม่ทำการงานอื่นใดทั้งนั้น มีแต่ทำสมาธิภาวนา-เดินจงกรมอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน จนจิตได้รับความสงบจากสมาธิธรรม

มุ่งมั่น : แม้พระเถระผู้ใหญ่ท่านอุตส่าห์เมตตาตามมาสั่งให้กลับเข้าเรียนบาลีต่อที่ กรุงเทพฯอีก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ภายในชาตินี้ ท่านจึงหาโอกาสปลีกตัวออกปฏิบัติได้อีกวาระหนึ่ง

จิตเสื่อม : จากนั้นท่านกลับไปบ้านเกิดของท่าน เพื่อทำกลดไว้ใช้ในการออกวิเวกตามป่าเขา จิตที่เคยสงบร่มเย็น จึงกลับเริ่มเสื่อมลง ๆ เพราะเหตุที่ทำกลดคันนี้นี่เอง

เสาะหา..อาจารย์ : เดือนพฤษภาคม 2485 เดินทางไปขออยู่ศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เหตุการณ์บังเอิญกุฏิที่พักเพิ่งจะว่างลงพอดี ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเมตตารับไว้ และเทศน์สอนตรงกับปัญหาที่เก็บความสงสัยฝังใจมานานให้คลี่คลายไปได้ว่า ดินฟ้าอากาศแร่ธาตุต่างๆ เขาเป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่ใจ หากกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่ใจแล้ว จะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ทั้งกิเลสในใจ ขณะเดียวกันจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ

ปริยัติ..ไม่เพียงพอ : จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาแนะต่อว่า ธรรมที่เรียนมาถึงขั้นมหาเปรียญมากน้อยเพียงใด ยังไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ได้ แต่กลับจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนา เพราะอดจะเป็นกังวลและนำธรรมที่เรียนมานั้น มาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลักได้

ดังนั้น เพื่อให้สะดวกในเวลาทำความสงบหรือจะใช้ปัญญาคิดค้น ให้ยกธรรมที่เรียนมานั้นขึ้นบูชาไว้ก่อน ต่อเมื่อถึงกาลอันสมควร ธรรมที่เรียนมาทั้งหมด จะวิ่งเข้ามาประสานกันกับด้านปฏิบัติ และกลมกลืนกันได้อย่างสนิท

 


โหมความเพียร : จากการได้ศึกษากับผู้รู้จริง ได้รับอุบายต่าง ๆ มากมาย และหักโหมความเพียรเต็มกำลัง ชนิดนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่งถึง 9 คืน 10 คืนโดยเว้น 2 คืนบ้าง 3 คืนบ้าง ทำให้ก้นของท่านระบมจนถึงกับแตกพอง เลอะเปื้อนสบงเลยทีเดียว แต่จิตใจที่เคยเสื่อมนั้น กลับเจริญขึ้น ๆ จนสามารถตั้งหลักได้

จริงจัง : ท่านถูกจริตกับการอดอาหาร เพราะทำให้ท่านตัวเบา การภาวนาง่ายสะดวก และจิตใจเจริญขึ้นได้ดี จึงมักงดฉันอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน คราวหนึ่งท่านออกวิเวกแถบป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านไม่เห็นท่านออกบิณฑบาตนานจนผิดสังเกต ถึงขนาดหัวหน้าหมู่บ้านต้องตีเกราะเรียกประชุมกัน ด้วยลือกันว่า ไม่ใช่ท่านตายแล้วหรือก็เคยมี

นักรบธรรม : ท่านไม่เห็นแก่การกินการนอนมากไปกว่าผลแห่งการปฏิบัติธรรม ดังนั้นในช่วงบำเพ็ญเพียร สภาพร่างกายของท่าน จึงเป็นที่น่าตกอกตกใจแก่ผู้พบเห็นอย่างมาก แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง เห็นท่านซูบผอมจนผิดสังเกต ชนิดหนังห่อกระดูก ทั้งผิวก็ซีดเหลืองเหมือนเป็นดีซ่าน ท่านถึงกับทักว่า "โฮ้ ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ" แต่ด้วยเกรงว่าลูกศิษย์จะตกใจและเสียกำลังใจ ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับพูดให้กำลังใจในทันทีนั้นว่า "มันต้องอย่างนี้ซิ จึงเรียกว่า นักรบ" ท่านเคยเล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะกันว่า "ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตาย จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเรานั้น ไม่ได้"

ปัญญาก้าวเดิน : ด้วยความมุ่งมั่นจริงจังดังกล่าว ทำให้จิตใจของท่าน ได้หลักสมาธิแน่นหนามั่นคง ท่านทรงภาวะนี้นานถึง 5 ปี ไม่ขยับก้าวหน้าต่อ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายอย่างหนักเพื่อให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ทั้งทางอสุภะ(ซากศพ) กระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนสามารถรู้เรื่องรู้ราว ฆ่ากิเลสตัวนั้นได้ ตัดกิเลสตัวนี้ได้โดยลำดับ ๆ ในช่วงนี้ท่านมีความเพลิดเพลินในความเพียรเพื่อฆ่ากิเลส ชนิดเดินจงกรมไม่รู้จักหยุด ตั้งแต่เช้าหลังจังหันจนกระทั่งปัดกวาดในตอนบ่าย ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

สิ้น..อาจารย์ : ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพลง เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2492 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ยังความเศร้าสลดสังเวชใจแก่ท่านอย่างเต็มที่ ด้วยรู้สึกว่าหมดที่พึ่งทางใจแล้ว จากนั้นท่านพยายามปลีกตัวจากหมู่เพื่อน อยู่ป่าเขาตามลำพัง แต่มุ่งอยู่กับความเพียรตลอด สติแนบแน่นกับจิตเป็นอัตโนมัติด้วยภาวนามยปัญญา

ป่วย..แต่กาย : คราวหนึ่งที่ท่านออกวิเวก ชาวบ้านป่วยเป็นโรคขัดหัวอก ล้มตายวันหนึ่ง ๆ จำนวนตั้งแต่ 3-8 คน เพราะหากใครเป็นโรคนี้แล้ว จะต้องตายภายใน 2-3 วันอย่างแน่นอน ท่านก็เมตตาสวด กุสลา มาติกา ให้คนตายที่ป่าช้า ชนิดไม่มีเวลาลุกไปไหน เพราะเดี๋ยวหามคนตายมาใหม่อีกแล้ว สักครู่ใหญ่ ก็หามมาใหม่อีกแล้ว กระทั่ง จู่ ๆ ท่านก็มาเป็นโรคเดียวกันนี้เข้าบ้าง ท่านจึงบอกชาวบ้านเพื่อขอหลบนั่งสมาธิภาวนา ต่อสู้กับทุกขเวทนาใหญ่นี้ด้วยธรรมโอสถ ด้วยการพิจารณาอริยสัจ ผลปรากฏว่าพิจารณาตก โรคหายเป็นปลิดทิ้งในเที่ยงคืนนั้นเอง

คืนแห่ง..ความสำเร็จ : จากนั้นไม่นานท่านก็มุ่งสู่วัดดอยธรรมเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่ อ.โคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) เป็นช่วงพรรษาที่ 16 ของท่าน บนเขาลูกนี้นี่เองของคืนเดือนดับแรม 14 ค่ำ เดือน 6 (จันทร์ 15 พฤษภาคม 2493) เวลา 5ทุ่มตรง ท่านได้บรรลุธรรมด้วยความอดทนพากเพียร พยายามอย่างสืบเนื่องตลอดมา นับแต่วันออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างเต็มเหนี่ยวรวมเวลา 9 ปี

คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่านจึงตัดสิน กันลงได้ ด้วยความประจักษ์ใจ หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องภพชาติ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย กิเลสตัณหา อาสวะทุกประเภทได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้นเอง

ยืนยัน...ชาตินี้ ชาติหน้า อดีตชาติ มีจริง : สภาวะธรรมในใจของท่านขณะนั้น ท่านเคยเล่าให้พระภิกษุในวัดป่าบ้านตาดฟังว่า "เกิด ความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตน และเกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า พระสาวกอรหันต์ที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้ เราก็เป็นมาอย่างนี้ แต่คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้าย ได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว..."

 



จนกระทั่งหลวงตาเข้าสู่พระนิพพาน ในวันที่ 30 มกราคม พุทธศักราช 2554เวลา 03.53 นาที ตลอดถึงวันพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2554 และหลังจากที่มีการ พระราชทานเพลิงสรีระสังขารของหลวงตามหาบัวแล้ว ลูกศิษย์ประชาชนชาวบ้านที่ไปเข้าร่วมในพิธีต่างก็ได้เห็นถึงปราฏิหารย์ ที่เชื่อกันว่าเกิดจากบุญบารมีของหลวงตามหาบัว

บ้างก็ว่ากันว่า เห็นไฟเปลวเพลิงเป็นรูปหลวงตากำลังบิณฑบาต และขณะที่กำลังทำพิธีพระอาทิตย์ทรงกลด ทำให้เหล่าลูกศิษย์ชาวบ้านพากันตื่นตกใจในความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่เราควรยืดถือและนำมาปฏิบัติสืบต่อไปนั่นก็คือ ธรรมะที่หลวงตาสอนเพราะสิ่งๆ นี้เป็นสิ่งที่จะทำให้จิตเราสงบสุขที่สุดหาใช่ไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งปราฏิ หารย์ใดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย...

 


คลิกชมคลิป คุณอ็อด ครีรีบูน (ลูกศิษย์หลวงตามหาบัว) พูดถึงปราฏิหารย์ที่เกิดขึ้นในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารของหลวงตามหาบัว และของวัตถุมงคลที่เขาได้มาจากหลวงตามหาบัวก่อนหลวงตาบัวเข้าสู่พระนิพพาน ชมคลิปคลิก!!

10 มี.ค. 54 เวลา 13:16 3,548 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...