นิยามความกลัว และศัพท์ผี

นิยามความกลัว และศัพท์ผี คำศัพท์ที่บอกความหมายของผี

ผี,ผีสาง,ภูตผีปีศาจ= สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ ให้คุณหรือโทษได้ (ลักษณะนามว่า ตน,ตัว)
ผีเรือน,ผีบ้านผีเรือน,ผีด้ำ= ผีทีอยู่ประจำเรือน
ผีปู่ย่าตายาย= ผีบรรพบุรุษ
พระเสื้อเมือง,พระเสื้อเมืองทรงเมือง= ผีประจำเมือง
ผีมเหสักข์= ผีของวีรบุรุษที่มีผู้นับถือสร้างศาลให้
ผีปอบ= ผีที่สิงอยู่ในกายคน กินอาหารที่คนกินเข้าไปและกินตับไตไส้พุงของคนจนตาย
ผีกระสือ= ผีผู้หญิง ชอบกินของโสโครกและของสดคาย ออกมากินตอนดึกๆ เห็นเป็นดวงไฟเรืองๆ
ผีกระหัง,ผีกะหาง= ผีผู้ชาย เมื่ออาคมแก่กล้าจะมีปีกมีหาง
ผีพราย= ผีผู้หญิงและเด็กที่ตายทั้งกลมและถูกผู้มีอาคมเรียกมาแล้วเลี้ยงไว้ใช้งาน
ผีโขมด= ผีซึ่งเห็นดวงไฟแวมๆ ในเวลากลางคืนในที่มีน้ำแฉะ พอเข้าไปใกล้ก็หาย
ผีกองกอย= ผีป่ามีตีนเดียว ลอบดูดเลือดคนนอนหลับที่ตรงหัวแม่เท้า
ผีโป่ง= ผีป่าทีอยู่บริเวณโป่งดิน
ผีโป่งค่าง= ผีซึ่งมีรูปร่างเป็นค่างแต่หางสั้น อยู่บนต้นไม้ใหญ่ใกล้ทำเลที่มีโป่งดินเค็ม คอยดูดเลือดคนนอนหลับ
ผีจะกละ= ผีป่ามีรูปเป็นแมว หมอผีชาวป่าเลี้ยงไว้ใช้ไปทำร้ายศรัตรู
ผีฉมบ,ชมบ,ทมบ= ผีผู้หญิงที่ตายในป่าและสิงอยู่ในบริเวณที่ตายมีรูปเห็นเป็นเงาๆ แต่ไม่ทำอันตรายใคร
โหงพราย= ผีที่เขาปลุกเสกไว้ใช้
ภูต= ผีชนิดตายโหง ถ้าไม่ได้ผังหรือเผาตามลัทธิประเพณีก็จะดุร้ายมาก (ลักษณะนามว่า ตน,ตัว)
ปิศาจ,ปีศาจ= ผีที่ชอบกินเนื้อศพ และหากินตามป่าช้า (ลักษณะนามว่า ตน,ตัว)
เวตาล= ผีที่ชอบสิงอยู่ในป่าช้า
นางไม้= ผีผู้หญิงที่ถือกันว่าสิงอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ มีต้นตะเคียนเป็นต้น (ลักษณะนามว่า ตน)
นางตานี,ผีตานี= นางไม้ที่สิงประจำต้นกล้วยตานีที่ตายพราย
นางตะเคียน,ผีตะเคียน=นางไม้ที่สิงประจำต้นตะเคียน
แม่ย่านาง= ผีผู้หญิงประจำรักษาเรือ
แม่ซื้อ,แม่วี= เทวดาหรือผีที่ประจำทารก
ปู่โสม= ปีศาจซึ่งเฝ้าทรัพย์
สัมภเวสี= ผู้แสวงหาที่เกิด ได้แก่ ผีที่ตายจากมนุษย์ไปแล้วแต่ยังไม่ได้เกิดใจกำเนิดอื่น

นิยามความกลัว

ความกลัวเป็นการตอบสนองตามปกติต่อการคุกคาม ทั้งที่เกิดขึ้นจริงๆ และที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อพฤติกรรมของเรา และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งเราเองสามารถรับรู้ได้และคนอื่นก็อาจสังเกตเห็นเช่นกัน ขณะเกิดความกลัวเราจะรู้สึกหัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกที่หน้าผาก แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจต้องใช้เครื่องมือวัด เช่น การเปลี่ยนแปลงของความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง
พฤติกรรมขณะที่เกิดความกลัวที่เห็นชัดๆ มี 2 แบบ
แบบแรกคือ ทำอะไรไม่ถูก ยืนตัวแข็ง พูดไม่ออก ในสัตว์บางชนิดเวลาตกใจจะแกล้งทำเป็นตาย ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมตอบสนองต่อความกลัวในลักษณะนี้
พฤติกรรมอีกแบบคือ อาการตกใจ กรีดร้อง วิ่งหนี
พฤติกรรมทั้ง 2 แบบ อาจเกิดร่วมกันขณะเกิดความกลัว และสัตว์หรือคน อาจเปลี่ยนพฤติกรรมกลับไปกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เช่น สัตว์ที่กำลังตกใจอาจยืนตัวแข็งสักพักแล้วจึงวิ่งหนี
ความกลัวที่รุนแรงทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่น หน้าซีด เหงื่อออก ขนลุก ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรงและเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น กล้ามเนื้อตึงตัวและมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น ตัวสั่น สะดุ้งง่ายปากคอแห้ง หายใจเร็วและรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ฉุนเฉียว อยากร้องไห้ อยากวิ่งเตลิด อยากซ่อนหน้า มือเท้าชา อ่อนปวกเปียก รู้สึกแปลกๆ เหมือนอยู่ในฝันหรือเหมือนมองมาจากที่ไกลออกไป ถ้าความกลัวเกิดอยู่นานๆเราจะรู้สึกเหนื่อย เชื่องช้าลง ซึมเศร้า กระสับกระส่าย กินอะไรไม่ลง นอนไม่หลับ ฝันร้าย
เวลาตกใจสารเคมีในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการหลั่งอะดรีนาลินจากหมวกไต และมีการหลั่งนอร์อะดรีนาลินจากปลายเส้นประสาททั่วร่างกาย เป็นต้น นอกเหนือจากขณะที่มีความกลัวหรือความกังวลแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีเหล่านี้ยังเกิดขึ้นขณะเกิดอารมณ์อื่นๆด้วย
ชาร์ล ดาวิน ผู้คิดทฤษฎีวิวัฒนาการเคยบรรยายให้เป็นภาพพจน์ของความกลัว ดังนี้
คนที่กำลังตกใจจะยืนนิ่งราวกับรูปปั้น ไม่กระดุกกระดิก ไม่หายใจ หัวใจเต้นถี่และแรง ผิวหนังจะซีดเผือด เหงื่อจะเริ่มซึม ผิวหนังจะเย็นเฉียบ ขนและผมลุกซู่ เนื้อตัวสั่น หายใจหอบถี่ ปากแห้ง
จุดสังเกตที่ดีที่สุดอันหนึ่ง คือ การสั่นของกล้ามเนื้อทั้งตัวซึ่งมักจะเห็นได้ที่ริมฝีปากก่อนเมื่อความกลัวทวีความรุนแรงมากขึ้น
หัวใจจะเต้นอย่างรุนแรง หรืออาจหยุดเอาเสียเฉยๆ ทำให้เกิดอาการจะเป็นลม ผิวหนังซีดเหมือนคนตาย หายใจไม่ออก จมูกบาน รู้สึกฝืดคอ ตาถลน ม่านตาขยาย เนื้อตัวเกร็ง และเมื่อความกลัวถึงขีดสุดจะมีการกรีดร้องอย่างสุดเสียง เม็ดเหงื่อผุดขึ้นบนผิวหนัง กล้ามเนื้อทั่วร่างกายความตัวทำให้รู้สึกหมดเรี่ยวแรง สมองคิดอะไรไม่ออก ลำไส้ปั่นป่วน กล้ามเนื้อหูรูดไม่ทำงาน ทำให้กลั้นอุจจาระและปัสสาวะไว้ไม่ได้

คำศัพท์บอกอาการของความกลัวมีดังนี้

ขี้ขลาดตาขาว น่าสะพรึงกลัว ขี้ขลาด ขี้ตื่น หัวหด ขลาด ตาขาว น่ากลัว สยองขวัญ ขี้กลัว ไม่กล้า อกสั่นขวัญแขวน หวาดกลัว สยองขวัญ หวาดหวั่น กลัวลาน ขยาด เกรงกลัว ใจฝ่อ อกสั่นขวัญหนี แสยง กลัวสุดขีด อกสั่นขวัญหาย ขนลุกขนพอง ขวัญหนีดีฝ่อ น่าขนลุก รู้สึกขนพองสยองเกล้า ใจหาย เสียขวัญ ประสาทเสีย ตกตะลึงพึงเพริด ขวัญบิน ตกใจ ช็อก ช็อค ขวัญเสีย ตื่นตระหนก ขวัญหนีดีฝ่อ ขวัญหาย ตกตะลึง สยองขวัญ ระทึกขวัญ กระตุกขวัญ เขย่าขวัญ ขวัญกระตุก ขวัญกระเจิง

(update)

Credit: หนังสือผีออนไลน์
#ความกลัว #ผี
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
10 มี.ค. 54 เวลา 04:37 2,947 2 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...