รัฐสภา "กระป๋อง" (ไทยโพสต์)
ทึ่ง! ประติมากรรมรูปจำลองอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สร้างขึ้นจากอาหาร กระป๋องกว่า 2 แสนชิ้น จำนวนมากที่สุดในโลก บันทึกลงกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดได้ สำเร็จ ฝีมือนักศึกษาและอาจารย์คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เตรียมมอบโครงการอาหารกลางวันเพื่อเด็กยากไร้
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่อาคารอิมแพค เมืองทองธานี มีพิธีเปิดงานรวมสุดยอดอาหารสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพและส่วนผสมอาหาร สิ่งที่น่าสนใจภายในงานคือ ประติมากรรมรัฐสภาแห่งใหม่ "สัปปายะสภาสถาน" ที่สร้างขึ้นในรูปแบบจำลองจากกระป๋องจำนวน 247,580 กระป๋อง ซึ่งได้รับการบันทึกลงในกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด ในฐานะสิ่งก่อสร้างจากกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 32 ตัน และสูงกว่า 3 เมตร ทำลายสถิติเดิมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยนำกระป๋องมาต่อกันจำนวน 134,722 กระป๋องเมื่อปี 2553
ผลงานประติมากรรมจำลองรูปอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทย เป็นความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 100 คน ร่วมเป็นอาสาสมัครทีมงานช่วยกันต่อกระป๋องให้เป็นประติมากรรมขนาดยักษ์เสร็จ สิ้นภายในเวลา 2 วัน โดยมีผู้แทนจากกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดเดินทางมาจดบันทึกเป็นสถิติโลก ครั้งใหม่ภายในงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารไทย ในฐานะผู้ส่งออกอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้มีจุดแข็งและโดดเด่นยิ่งขึ้น ในสายตาชาวโลก
ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประติมากรรมรูปอาคาร "สัปปายะสภาสถาน" เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีเป้าหมายเพื่อบันทึกลงในกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด ผู้ควบคุมการทำงานครั้งนี้คือ นายวันชัย มงคลประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของจริง ส่วนทีมงานต่อกระป๋อง เป็นนิสิตนักศึกษาที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างสามัคคี และเป็นการฝึก เรื่องจิตอาสารวมทั้งความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ อาหารกระป๋องทั้งหมดยังนำไปเข้าโครงการคิดสร้างสรรค์อาหารเมืองยิ้ม เพื่อน้องผู้ยากไร้อีกด้วย
นายวันชัย มงคลประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการนำอาหารกระป๋องมาเรียงต่อกันจำนวนมากถึง 2 แสนกระป๋อง ก็ระดมความคิดกันว่าจะเรียงเป็นรูปร่างอะไร ในเมื่อเราเป็นคนไทยก็ควรจะทำประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมไทย ตอนแรกคิดจะทำเป็นเจดีย์ วิหารหรือบ้านทรงไทย แต่เมื่อคำนวณแล้วใช้ไม่ถึง 2 แสนกระป๋อง ก็ต้องมานั่งคิดกันใหม่ สุดท้ายก็เป็นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเกียกกาย
การทำงานเริ่มต้นจากร่างแบบกราฟฟิกในคอมพิวเตอร์ ทำต้นแบบเพื่อเวลาที่นำ กระป๋องมาเรียงต่อกันจะได้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการและทำงานได้สะดวกมากขึ้น ขั้นตอนที่สำคัญคือ การซ้อนโดยการนำกระป๋องมาเรียงต่อกันเพื่อจะได้หาข้อจำกัด และความเป็นไปได้ของการนำกระป๋องมาเรียงต่อกันโดยไร้วัสดุยึด จากนั้นศึกษาดูว่าการตั้งเรียงแบบใดจะตั้งได้โครงสร้างแข็งแรงมั่นคง รวมทั้งดูเรื่องน้ำหนัก การรับแรงด้านข้าง ซึ่งบางจุดรับแรงด้านข้างไม่ได้ แต่บางจุดรับแรงตรงกลางได้
นายวันชัยกล่าวว่า รูปแบบของอาคารที่เป็นทรงเจดีย์ รูปทรงมีเหลี่ยมเป็นมุม จึงต้องปรับปรุงแบบให้ดูสอดคล้องกับกระป๋องที่จะวางให้ได้ ซึ่งตรงนี้ใช้วิธีการเมื่อเรียงยอดเสร็จแล้วจะมีการดึงกระป๋องบางกระป๋องออก เพราะถ้าไม่มีการจัดแต่งจะออกมาเป็นรูปทรงที่ธรรมดา การดึงกระป๋องออกก็เพื่อให้เกิดรูปลักษณ์ของอาคารหรือรูปทรงที่สวยงาม
"นิสิตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้ง 100 คน ที่เป็นอาสาสมัครในการเรียงกระป๋อง ต้องพยายามเรียงให้ได้ตามเส้นขอบเขตเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกันแต่ละชั้นที่วางซ้อนหรือวางเหลื่อมกันก็จะต้องได้องศาที่พอดี มีน้ำหนักสมดุลและสามารถทรงตัวอยู่ได้ไม่ล้ม การสร้างงานประติมากรรมครั้งนี้ ใช้เวลาศึกษาและเตรียมความพร้อมนานกว่า 6 เดือน และทำเสร็จภายในเวลาที่กำหนดจนบันทึกเป็นสถิติโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ" นายวันชัยกล่าว