ปลาหมึกยักษ์อูสรร้ายใต้สมุทร

ปลาหมึกยักษ์ อสูรร้ายใต้สมุทร



matichon

ใน ยุคไดโนเสาร์ครองโลก ญาติของมันคือ "พลีซีโอซอร์" (plesiosaur) มังกรแห่งทะเลสาบล้อช เนสส์ ซึ่งมีช่วงคอยาวถึง 20 ฟุต หรือ 6 เมตร และ "อิชธิโอซอร์" (ichthyosaurs) สัตว์เลื้อยคลานคล้ายปลาโลมาซึ่งมีขนาด 75 ฟุต หรือ 23 เมตรเป็นเจ้าแห่งมหาสมุทร

สิ้นยุคไดโนเสาร์ ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่ามีสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ใต้สมุทรอีกต่อไป นอกจากตำนานหลายตำนาน อาทิ ตำนานกรีกโบราณที่เล่าขานถึงเรื่องราวของ ปลาหมึกยักษ์ใต้สมุทร และตำนาน "Kraken" ที่เล่าขานถึงเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวของปลาหมึกยักษ์ที่ขึ้นมาทำลายเรือและกินลูกเรือกลางมหาสมุทรแอตแลนติก

บางทีจินตนาการปลาหมึกยักษ์ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง "ใต้ทะเล 20,000 โยชน์" (20,000 Leagues Under the Sea) ของ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) อาจมีที่มาจากตำนานเหล่านี้ก็ได้


ภาพวาดปลาหมึกยักษ์โจมตีเรือตามตำนาน Kraken

ภาพวาด ลูกเรืออะเลคตัน กำลังใช้ฉมวกแทง ไจแอนต์ สควิด

ภาพไจแอนต์ สควิด ที่นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นบันทึกได้
เปรียบเทียบขนาดของวาฬสเปิร์ม ไจแอนต์ สควิดและโคลอสแซล สควิด ใน ตำนาน Kraken ปลาหมึกยักษ์คือ "อสูรร้ายใต้สมุทร" มันมีขนาดใหญ่โตมโหฬารจนเหลือเชื่อ คือยาวเกือบ 1 ไมล์ กว้างครึ่งไมล์และมีหนวดหลายเส้น เหยื่อของมันคือ วาฬสเปิร์ม หลายครั้งที่มันโจมตีเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทรเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นวาฬ สเปิร์ม

เรื่องราวของปลาหมึกยักษ์จากตำนานกลายเป็นความจริงในเดือนพฤศจิกายน ปี 1861 ขณะที่เรือ "อะเลคตัน" ของฝรั่งเศสกำลังแล่นอยู่นอกชายฝั่งหมู่เกาะคานารี ลูกเรือเห็นสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีหางยาวและมีหนวดหลายเส้นที่ผิวน้ำ ปืนเรือได้ระดมยิงไปยังเป้าหมายทันทีและแล่นติดตามไปจนกระทั่งสามารถใช้ฉมวก แทงและใช้เชือกคล้องมันไว้ได้

สัตว์ประหลาดดังกล่าวคือปลาหมึกยักษ์ ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน กัปตันสั่งให้ลูกเรือยกมันขึ้นมาบนเรือ ทว่าไม่สามารถยกได้จึงตัดสินใจตัดหนวดของมัน ซึ่งต่อมาชิ้นส่วนหนวดดังกล่าวถูกส่งไปยัง French Academy of Sciences ทว่านักวิทยาศาสตร์ที่นั่นต่างพากันหัวเราะเยาะเพราะไม่เชื่อว่าเป็นปลาหมึก ยักษ์จริงๆ

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รู้ว่ามีปลาหมึกยักษ์ใต้ทะเลลึกอยู่จริงสองชนิด แต่ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างที่ตำนานว่าไว้ ชนิดแรกคือ "Giant Squid" หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Architeuthis dux" อีกชนิดหนึ่งคือ "colossal squid" หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Mesonychoteuthis hamiltoni"


โคลอสแซล สควิดที่ถูกจับได้นอกฝั่งแอนตาร์กติกา ไจ แอนต์ สควิด เป็นสิ่งมีชีวิตในไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) หรือมอลลัส (Mollusks) ที่กินเนื้อเป็นอาหาร รูปร่างของมันคล้ายตอร์ปิโด เคลื่อนที่โดยกระบวนการปล่อยน้ำออกจากท่อคล้ายเครื่องบินเจ็ต มีหนวด 5 คู่ คู่หนึ่งเล็กและยาวกว่าคู่อื่นๆใช้สำหรับจับเหยื่อและนำเข้าไปในปาก ดวงตามีขนาด 18 นิ้ว ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ชนิดต่างๆ

ไจแอนต์ สควิด อาศัยอยู่ใต้ทะเลในระดับความลึก 200-1,000 เมตร หรือ 650-3,300 ฟุต มีน้ำหนักตัวมากกว่า 1,000 กิโลกรัม ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดพบที่ทะเลของนิวซีแลนด์เมื่อ ปี 1880 ยาวถึง 18.5 เมตร

ล่าสุดไจแอนต์ สควิด ขนาด 8.62 เมตรซึ่งเพิ่งติดอวนของชาวประมงนอกฝั่งเกาะฟอล์คแลนด์กำลังถูกจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอนให้ผู้สนใจได้ชมกัน

ส่วน โคลอสแซล สควิด เป็นปลาหมึกยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่า ไจแอนต์ สควิด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันมีขนาดยาวกว่า 18 เมตร แต่ปลาหมึกยักษ์ชนิดนี้ยังเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่าไจแอนต์ สควิด

โคล อสแซล สควิด ถูกพบครั้งแรกในปี 1925 จากซากหนวดของมันในกระเพาะของวาฬสเปิร์ม โคลอสแซล สควิดเคยติดอวนที่ระดับความลึก 2,000 - 2,200 เมตร

ทั้งไจแอนต์ สควิด และโคลอสแซล สควิด ต่างก็เป็นเหยื่อของวาฬสเปิร์ม แต่ในปี 2003 นักชีววิทยาทางทะเลชาวฝรั่งเศสพบว่า ในกระเพาะของปลาฉลามสลีปเปอร์ (Sleeper Shark) ที่ติดอวนนอกชายฝั่งแอนตาร์กติกาจำนวน 36 ตัว มีซากปลาหมึกยักษ์โคลอสแซล 49 ตัวและไจแอนต์ สควิด 8 ตัว

หลักฐาน นี้บอกกับนักชีววิทยาทางทะเลว่า ฉลามสลีปเปอร์กินปลาหมึกยักษ์เช่นเดียวกับวาฬสเปิร์มและอาศัยอยู่ในระดับน้ำ ลึกเดียวกันปลาหมึกยักษ์ด้วย


ไจแอนต์ สควิด ขนาด 8 เมตร
ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
ลอนดอน ปัจจุบัน ปลาหมึกยักษ์ทั้งสองชนิดเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสองชนิดนี้อยู่ในฐานะ สัตว์ลึกลับ เพราะไม่เคยมีใครเคยเห็นมันในสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่เลย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2004 ไจแอนต์ สควิด ถูกบันทึกภาพได้เป็นครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นสองคน คือ สึเนมิ คูโบเดรา จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งญี่ปุ่น และ เคียวอิจิ โมริ จากสมาคมชมวาฬแห่งโอกาซาวารา

นัก วิทยาศาสตร์ใช้เบ็ดเกี่ยวกุ้งเป็นเหยื่อล่อไจแอนต์ สควิด ใต้ทะเลลึก 1 กิโลเมตร นอกชายฝั่งเกาะโอกาซาวารา ไม่นานนักไจแอนต์ สควิด ยาว 8 เมตรก็เข้ากินเหยื่อ โดยมันใช้หนวดคู่ยาวจับเหยื่อ และใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงในการดิ้นรนเพื่อหลุดออกจากเบ็ดและต้องแลกกับการสูญเสียหนวดเส้น หนึ่งให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษา

นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า พฤติกรรมของไจแอนต์ สควิดแสดงว่ามันเป็นสัตว์นักล่า ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่สนับสนุนว่าไจแอนต์ สควิด มีความดุร้าย

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษ 1930 ไจแอนต์ สควิดโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ "บรุนส์วิคก์" ของกองทัพเรือนอร์เวย์ถึง 3 ครั้ง โดยพยายามใช้หนวดจับลำตัวเรือ

ปี 1965 ลูกเรือกองเรือล่าปลาวาฬของอดีตสหภาพโซเวียตเห็นการต่อสู้ของไจแอนต์สควิด กับวาฬสเปิร์มหนัก 40 ตัน ผลการต่อสู้จบลงโดยไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ

ปี 2003 ไจแอนต์ สควิดขนาด 7-8 เมตร โจมตีเรือของนักเดินทางรอบโลกชาวฝรั่งเศสในทะเลของโปรตุเกส มันใช้หนวดจับลำตัวเรือและโยกอย่างรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์บางคนจึง เชื่อว่า ไจแอนต์ สควิดขนาดใหญ่จะเป็นฝ่ายโจมตีวาฬสเปิร์มก่อน และการโจมตีเรือของมันคือการเข้าใจผิดว่าเป็นวาฬสเปิร์ม หลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ก็คือ ซากของไจแอนต์ สควิด ที่พบในกระเพาะของวาฬสเปิร์มล้วนแล้วแต่เป็นไจแอนต์ สควิดขนาดเล็กและขนาดกลาง

ถ้าทฤษฎีนี้ถูกต้อง ไจแอนต์ สควิด ขนาดมหึมาก็คู่ควรกับการเรียกขานว่า "อสูรร้ายใต้สมุทร"

 

 

คิดทุกคำที่พูด แต่อย่าพูดทุกคำที่คิด

Credit: เปิดโลกพิศวง
5 มี.ค. 54 เวลา 07:24 5,075 8 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...