เปิดศักราช 2554 มาได้ 2 เดือน มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคง "เสียหาย" และ "เสียหน้า" มากที่สุด คือเหตุคนร้ายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 ( ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา
เพราะนอกจากจะทำให้กำลังพลต้องพลีชีพไปถึง 4 นาย รวมทั้งนายทหารระดับผู้บังคับกองร้อย ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ แล้ว คนร้ายยังปล้นชิงอาวุธปืนไปได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย
การปล่อยให้อาวุธปืนไปอยู่ในมือของคนร้าย เท่ากับเสียหาย "สองเด้ง" เพราะนอกจากฝ่ายทหารจะต้องสูญเสียทรัพย์สินของทางราชการแล้ว อาวุธร้ายแรงยังไปตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม สามารถนำกลับมาประหัตประหารทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน
อย่างไรก็ดี ความเสียหายที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนัก เพราะเป็นข่าวลับๆ และไม่ค่อยมีคนอยากพูดถึงเท่าไหร่ โดยเฉพาะในยุคที่ "อำนาจทหาร" แผ่ปกคลุมอย่างกว้างขวางในประเทศนี้ก็คือ ผลสะเทือนจากการใช้ปฏิบัติการ "ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม" เพื่อติดตามไล่ล่ากลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุอุกอาจในลักษณะ "เหยียบจมูก" กองทัพ ด้วยการบุกโจมตีฐานทหาร
เพราะผลแห่งปฏิบัติการที่มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.จับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้ 2.เกิดการยิงปะทะกันและฝ่ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ที่เรียกว่า "วิสามัญฆาตกรรม" และ 3.มีเรื่องร้องเรียนซ้อมทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว ได้ทำให้เกิดผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในข้อ 2 และข้อ 3
เพราะแม้แต่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า การก่อเหตุของคนร้ายมีเป้าหมายเพื่อยั่วยุให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ปฏิบัติการโต้กลับอย่างรุนแรงและนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นจะไม่มีการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมายเพื่อตอบโต้ฝ่ายคนร้ายอย่างเด็ดขาด
แต่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้วงเดือนเศษที่ผ่านมา น่าสนใจว่ารัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงกำลังเดินสู่ "หลุมพราง" ที่ฝ่ายคนร้ายขุดล่อเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจหรือไม่?
วิสามัญฆาตกรรม...ผลสะท้อนกลับร้ายแรงเกินคาด
หลังเหตุการณ์คนร้ายบุกโจมตีฐานพระองค์ดำ สังหารกำลังพล และปล้นอาวุธปืนไปจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 ต้องยอมรับว่าฝ่ายความมั่นคงได้จัดกำลังรุกไล่ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมแบบถี่ยิบ
หลายๆ ครั้งมีเหตุการณ์ยิงปะทะ และการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยตามมา
เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวในทางเปิด รวบรวมได้อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ วิสามัญฆาตกรรมรวม 4 ศพ ได้แก่
26 ก.พ. หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 33 จัดกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย บริเวณพื้นที่บ้านโคกแมแน หมู่ 3 ต.มะนังตายอ อ.เมือง จ.นราธิวาส และได้ยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ผลการปะทะฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ พบว่าทั้งคู่มีหมายจับในคดีความมั่นคง
11 ก.พ. หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้สนธิกำลังกับทหารพราน ออกลาดตระเวนเพื่อพิสูจน์ทราบพื้นที่เขตรอยต่อ ต.สุวารี อ.รือเสาะ กับ ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส หลังได้รับแจ้งข่าวสารว่ากลุ่มก่อความไม่สงบได้เคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณดังกล่าว และได้เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่บ้านสุไหงบาตู หมู่ 5 ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย ยึดปืนที่สูยหายไปจากฐานพระองค์ดำได้ 2 กระบอก
11 ก.พ.เช่นกัน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 สนธิกำลังทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าปิดล้อมตรวจค้นและพิสูจน์ทราบแหล่งพักพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบ บริเวณสวนยางพาราบ้านบือแนรายอ หมู่ 5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัย ทำให้ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 1 ราย พร้อมยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่ถูกปล้นจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ได้ 1 กระบอก
ทั้งนี้ไม่นับปฏิบัติการที่ไม่มีความสูญเสีย แต่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาได้อีกหลายสิบคน
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ "การวิสามัญฆาตกรรม" ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ถูกกฎหมาย แม้จะมีการยิงต่อสู้จากฝ่ายผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือจะเรียกว่า "คนร้าย" ก็ตาม เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ต้องให้พนักงานอัยการเข้ามาทำสำนวนไต่สวนการตายเพื่อให้ศาลมีคำสั่งในเบื้องต้นก่อน เพื่อถ่วงดุลการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนปกติ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งโดยสภาพมักอยู่ร่วมปฏิบัติการด้วย
เฉพาะกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าการตายเกิดจากการ "ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย" หรือ "มิได้กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ" เท่านั้น เจ้าหน้าที่ที่กระทำการ "วิสามัญฆาตกรรม" จึงไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ
แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงมักมีท่าทีหรือส่งสัญญาณสนับสนุนให้มีการวิสามัญฆาตกรรม เพราะบางหน่วยงานได้นำมานับรวมเป็น "ผลงาน" ของหน่วยด้วย เช่น คำให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงนายหนึ่งระบุว่า "ยอดจับกุมผู้ต้องหา จับได้ทั้งหมด 4,866 หมาย เป็นหมาย ป.วิอาญา 1,625 หมาย พ.ร.ก. 3,235 หมาย จับตาย (วิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะ) 133 ราย 364 หมาย..."
ขณะที่การวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบ หรือกระทำการพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ได้กลายเป็น "เงื่อนไข" ให้ฝ่ายก่อความไม่สงบใช้ในการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อแก้แค้น เห็นได้จากการทิ้งใบปลิวหลังการฆ่า ซึ่งก็มีหลายต่อหลายครั้งที่ปรากฏเหตุการณ์ดังว่านี้
แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เพิ่งเปิดแถลงข่าวหลังเหตุการณ์ไล่ฆ่าชาวบ้านไทยพุทธอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า "สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นความต่อเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ที่ก่อคดีหลายคดีในพื้นที่เมื่อ 2-3 วันก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการกลับมาแก้แค้น เอาคืน" (แถลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ค่ายสิรินธร)
นี่คือความน่ากลัวของการ "วิสามัญฆาตกรรม" ที่หาใช่ความสำเร็จไม่ แม้จะเข้าใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่าต้องเสี่ยงอันตราย แต่ทุกๆ ปฏิบัติการจำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนี้ เพื่อป้องกันการสร้าง "เงื่อนไข" อื่นๆ ตามมา ซึ่งหลายๆ ครั้งส่งผลร้ายแรงเกินคาด
ร้องเรียน "ปิดล้อม-ซ้อมทรมาน" ระวังได้ไม่คุ้มเสีย!
ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของเจ้าหน้าที่ สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้เป็นจำนวนมาก และผลสะเทือนระลอกใหม่ที่ตามมาก็คือ ข้อร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมาน
จากรายงานขององค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ระบุตรงกันว่า ได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้เสียหายและผู้เสียหายเองว่า ในระหว่างถูกควบคุมตัวเบื้องต้นในฐานะ "ผู้ต้องสงสัย" ตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีการกระทำในลักษณะซ้อมทรมานเพื่อให้ยอมรับสารภาพหลายกรณี
ข้อมูลที่เป็น "เรื่องร้องเรียน" สรุปได้ดังนี้
1.มีการเปิดฐานปฏิบัติการบางแห่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวเบื้องต้นก่อนส่งต่อตามขั้นตอน และในสถานที่ดังกล่าวมีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่บางรายปฏิบัติการในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน
2.การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยบางรายเป็นผลมาจากคำซัดทอดของบุคคลที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวมาก่อนหน้านี้ โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดประกอบ และสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการซัดทอดเพราะถูกข่มขู่
3.ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ทันที โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันแรกของการควบคุมตัว โดยมีญาติของผู้ถูกควบคุมตัว 4 รายยืนยันข้อมูลนี้
4.เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวแบบส่วนตัว แต่ระหว่างการเยี่ยมจะมีเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าด้วยตลอด
5.มีข้อร้องเรียนว่ามีการทำร้ายร่างกายและละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวยอมรับสารภาพ หลายรายได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว แต่อีกหลายรายยังถูกควบคุมตัวอยู่
6.การเข้าตรวจค้นจับกุมมีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง เช่น พังประตูบ้าน หรือใช้วาจาข่มขู่ญาติผู้ถูกควบคุมตัว เป็นต้น
7.เมื่อมีเรื่องร้องเรียนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงผ่านองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งบางกรณีปรากฏเป็นข่าวในสื่อทางเลือกหลายแขนง ปรากฏว่ามีความพยายามของเจ้าหน้าที่บางส่วนเพื่อขอโทษผู้เสียหาย และขอให้เรื่องจบ
แหล่งข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานในภาคประชาสังคมและได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านโดยตรง กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวบางราย ได้ยินคำพูดที่ว่า"ผมยอมแล้ว ทำไมมาทำผมอีก" ซึ่งคำพูดนี้หมายความว่ายอมให้จับแล้วทำไม่มาทำร้ายเขาอีก
"เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายท่านก็ทราบดีว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่โมโหหรือบันดาลโทสะเนื่องจากสูญเสียเพื่อนไป (จากเหตุการณ์โจมตีฐานทหาร) แต่ปัญหาคือเมื่อยอมรับแล้วจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก เพราะผลที่ตามมาคือการสร้างเงื่อนไขในพื้นที่อย่างไม่รู้จบ" แหล่งข่าวระบุ
แม่ทัพ 4 ลั่นขอให้บอก อย่าแค่กล่าวหา
ด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ถ้ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงให้บอกมาว่าคนไหนที่โดน และที่บอกว่าญาติไปร้องเรียนกับองค์กรภาคประชาสังคมนั้น อยากขอให้ญาติมาหาและบอกกับตนเลยว่าคนไหนที่กระทำการ รับรองว่าจะจัดการให้อย่างเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมายืนยันว่าได้ทำตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
"ขอให้บอกมา แล้วจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดแน่นอน แต่เมื่อมาบอกเช่นนี้ว่ามีการร้องเรียนแต่ไม่รู้คนไหน ก็ถือว่าแย่และภาพพจน์เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย" พล.ท.อุดมชัย ระบุ
ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ อัศวจินดารัตน์ ผู้กำกับการ สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่มีการร้องเรียนเลยจริงๆ และส่วนตัวมั่นใจว่าไม่น่าจะมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพราะทุกหน่วยดูแลผู้ถูกควบคุมตัวอย่างดีและเคร่งครัดตามนโยบายมาตลอด
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวหลังคนร้ายบุกโจมตีฐานทหาร ซึ่งดูเหมือนทางการจะยังหนีไม่พ้น "กับดัก" แบบเดิมๆ
( เรื่อง ทีมข่าวอิศรา สถาบันอิศรา )
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1299058497&grpid=&catid=02&subcatid=0202